พาณิชย์’ นำผู้แทนสถาบันการเงินลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี สร้างความเชื่อมั่นหลักประกันการให้สินเชื่อ
กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินกรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการให้สินเชื่อ หลังพบปัญหาสถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในหลักประกัน (ไม้ยืนต้น) นำคณะลงพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ดูตลาดรับซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ ปริมาณความต้องการไม้ พร้อมเยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่าไม้ยืนต้นที่มีค่าของเกษตรกรในพื้นที่ มั่นใจ...ไม้ยืนต้นที่นำมาเป็นหลักประกันการกู้เงินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี และมีแหล่งรับซื้อไม้เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แน่นอน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า “วันนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน “อุตสาหกรรมไม้โตเร็ว โอกาสของเกษตรกรนำ “ไม้โตเร็ว”มาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ” ณ บริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) โรงงานวังศาลา จังหวัดกาญจนบุรี โดยนำคณะผู้แทนสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เช่น กรมป่าไม้ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สหกรณ์สวนป่าภาคเอกชน ฯลฯ ลงพื้นที่ดูภาพรวมของธุรกิจไม้ ตลาดรับซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์จากไม้ ความต้องการปริมาณไม้ของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่าไม้ยืนต้นที่มีค่าของเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินกรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน หลังพบปัญหา...สถาบันการเงินขาดความเชื่อมั่นในหลักประกัน (ไม้ยืนต้น) รวมทั้ง ความเสี่ยงในการดูแลต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันหลังการให้สินเชื่อ ทำให้สถาบันการเงินยังไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกัน” “การลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะเน้นที่อุตสาหกรรมไม้โตเร็วเป็นหลัก ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นชนิดที่มีรอบตัดฟันสั้น เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ฯลฯ ใช้ระยะเวลาในการปลูก 3 - 5 ปี และเป็นไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดไม้ทั้งในและต่างประเทศสูง หากสถาบันการเงินต้องการบริหารความเสี่ยง (ความเสี่ยงน้อย) ต้นไม้โตเร็วกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะมีผู้ต้องการรับซื้อไม้เป็นจำนวนมาก ทำให้ง่ายต่อการใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสประมาณ 70,000 ราย ต้นทุนเฉพาะต้นกล้าไม้ประมาณ 600 บาท/ไร่ (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 2,000 - 3,000 บาท/ไร่) โดยมีราคาหน้าโรงงานประมาณ 1,300 - 1,500 บาท/ตัน” รองอธิบดีฯ กล่าวต่อว่า “สำหรับตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสสูง ได้แก่ จีนและญี่ปุ่น โดยเฉพาะไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC (Forest Standard Certification - การรับรองมาตรฐานป่าไม้ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความยั่งยืน) เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศมาก ทั้งนี้ มีการขายไม้ยูคาลิปตัสในตลาดในประเทศประมาณ 7 ล้านตัน/ปี และส่งออกไปจำหน่ายที่ตลาดต่างประเทศประมาณ 5 ล้านตัน/ปี ส่วนแนวโน้มตลาดโลกในอนาคต คาดว่าจะมีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสที่เพิ่มมากขึ้น ราคาขายมีการปรับตัวจาก 130 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 145 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน” “อย่างไรก็ตาม ปัญหา/อุปสรรคที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสใน 5 ปีแรกจะยังไม่มีรายได้ (รอบตัดฟันประมาณ 5 ปี) หากสถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่เกษตรกรเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งการที่สถาบันการเงินรับต้นไม้ (ยูคาลิปตัส) เป็นหลักประกันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสเป็นอย่างมาก” “นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้นำคณะฯ เยี่ยมชมระบบบริหารจัดการสวนป่ายูคาลิปตัสของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความพร้อมที่จะนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ วิธีการเลือกชนิดไม้ที่ปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ การดูแลรักษาต้นไม้ของเกษตรกร ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไม้ กระบวนการรับซื้อไม้ กระบวนการผลิตไม้ ซึ่งเป็นธุรกิจป่าไม้ ธุรกิจเยื่อ และธุรกิจกระดาษ ซึ่งทุกกระบวนการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและประชาชนผู้ปลูกไม้ยืนต้นในที่ดินกรรมสิทธิ์โดยใช้ไม้ยืนต้นนั้นมาเป็นหลักประกันมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนและเกษตรกรหันมาปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง-ช้า เช่น สัก พะยูง ชิงชัน จันทน์หอม ฯลฯ ในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออม/เป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคต รวมทั้ง ปลูกป่าเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศด้วย” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย บริษัทสยามฟอเรสทรี จำกัด (ธุรกิจในเอสซีจีแพคเกจจิ้ง) ผลิตสินค้าเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ (Packaging) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging Business Chain) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มาจากต้นไม้ (Fibrous Business Chain) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจย่อย คือ 1) ธุรกิจป่าไม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกต้นกล้าที่จะนำมาผลิตเยื่อ 2) ธุรกิจเยื่อ ผลิตเยื่อคุณภาพสูง และ 3) ธุรกิจกระดาษ ผลิตกระดาษที่ใช้ทั่วไป กระดาษที่ใช้บรรจุอาหารและกระดาษอุตสาหกรรม (ฉลากอาหาร) ซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 500,000 ตัน/ปี โครงสร้างของการทำธุรกิจเริ่มจากการศึกษาวิจัยต้นไม้ เน้นปลูกต้นยูคาลิปตัสเป็นหลักทั่วประเทศ มีการผลิตต้นกล้าประมาณ 50 ล้านต้น/ปี ทั้งปลูกเองและเกษตรกรปลูก (95%) มีรอบตัดฟันประมาณ 4 - 6 ปี ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไม้มาขาย ณ จุดรับซื้อของบริษัทได้ทั่วประเทศ ภาคตะวันตกและภาคเหนือกว่า 50 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 37 แห่ง และมีตัวแทนรับซื้อกว่า 100 ราย โดยบริษัทจะนำไม้เข้าโรงสับไม้และส่งต่อไปยังโรงผลิตเยื่อตามลำดับ