โดยทั่วไปแล้วนักวิจัยหรือคนทั่วไปอาจมักจะเข้าใจว่า การวิจัยในมนุษย์ คือ งานวิจัยที่กระทำต่อร่างกายและจิตใจโดยตรงของอาสาสมัคร แต่ตามมาตรฐานโลกแล้วยังหมายรวมไปถึงเซลล์และส่วนประกอบ สารพันธุกรรม สิ่งส่งตรวจ เนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง ข้อมูลส่วนบุคคลหรือหน่วยงาน เช่น เวชระเบียนพฤติกรรรมส่วนบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ด้านชีวเวชศาสตร์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และรวมไปถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตด้วย
นพ.สุรสิทธิ์ ตั้งสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลประทาน มศว และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ฉัตรชัย เอกปัญญาสกุลคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พร้อมด้วยคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของมหาวิทยาลัย เข้ารับรางวัลรับรองคุณภาพระดับนานาชาติ ในการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานระดับโลก ด้านจริยธรรมสำหรับพิจาณาโครงการวิจัยที่ทำในมนุษย์ จากที่ประชุมคณะกรรมการจริยธรรมฯ ครั้งที่ 17 ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อเร็วๆ นี้
กระแสข่าวการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 รายหนึ่งที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการ “ถูกซ่อม” ในระหว่างการฝึกวินัยทหารและนำไปสู่การสืบสาวราวเรื่องของการที่อวัยวะสำคัญภายในหลายอย่างถูกตัดเพื่อเก็บพิสูจน์หรืออย่างไรนั้น โดยไม่ได้รับความเห็นชอบหรือคำนึงถึงจิตใจของญาติผู้เสียชีวิต คงเป็นบทเรียนสำคัญและอาจทำให้คิดได้ว่า การกระทำใดก็ตามที่จะเป็นการกระทำเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์ หรือ “ที่ทำในมนุษย์” ไม่ว่าจะทางกายหรือทางใจ นั้น ควรที่จะได้รับการยินยอมจากผู้เกี่ยวข้องด้วยทุกกรณีด้วยหรือไม่ แม้กระทั่งการวิจัยในผู้เสียชีวิต ล่าสุด ในแวดวงการศึกษาเองก็มีความจำเป็นสำคัญที่ใช้ปฏิบัติกันใน “การทำวิจัยในมนุษย์” ที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องของ “จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์” ของอาสาสมัครโดยตรงรวมไปถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต
ล่าสุด คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และของศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุชลประทาน (โรงพยาบาลชลประทาน) ได้ก้าวสู่มาตรฐานสากลโดยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก SIDCER (Strategic Initiative for Developing Capacity in Ethical Review)ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งโดยองค์การอนามัยโลก ร่วมกับ FERCAP (Forum for Ethical Review Committees in the Asian and Western Pacific Region) ซึ่งเป็นที่ประชุมของคณะกรรมการทบทวนด้านจริยธรรมในการวิจัยของภาคพื้นแถบเอเชียและแปซิฟิกตะวันตกที่มีภาคีสมาชิก 29 ประเทศ มีการประกาศผลและมอบโล่รางวัลการรับรองมาตรฐานในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ครั้งที่ 17 ของ FERCAP เมื่อเร็วๆ นี้ ณ เมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย
มศว. ได้รับรางวัลระดับนานาชาตินี้ เป็นการสะท้อนถึงมาตรฐานการทำวิจัยในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ดำเนินการตามมาตรฐานของทั่วโลก ตั้งแต่ปฎิญญาของเฮลซิกิง มาตรฐานการดำเนินการวิจัยทางคลินิก (GCP) แนวปฏิบัติของสภาองค์การสากลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (CIOMS) มาตรฐานองค์การอนามัยโลก และคำแนะนำในการดำเนินการทบทวนด้านจริยธรรมของการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การดำเนินการสำรวจและการประเมินของคณะกรรมการจริยธรรม คู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานของคณะกรรมการจริยธรรม (SOPs) นอกจากนี้ยังเป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วย
รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว อดีตประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของ มศว ผู้ริเริ่มวางรากฐานพัฒนาระบบและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการจริยธรรมฯ ของ มศว มาอย่างต่อเนื่องจนมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติดังกล่าว กล่าวว่า “คณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ ถือเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยให้ได้มาตรฐานสากล เกิดประโยชน์ต่อสังคมปัจจุบันและอนาคต ซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยสามารถมีคณะกรรมการจริยธรรมในมนุษย์ของมหาวิทยาลัยได้ ก็จะแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือและศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้ให้การรับรองงานวิจัยต่างๆ ที่ทำในมนุษย์ได้ ประกอบด้วยกรรมการทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ ทำให้สามารถพิจารณาโครงการวิจัยในมนุษย์ได้ครอบคลุมทุกมิติ ดำเนินการพิจารณาโดยอิสระตามหลักทางวิชาการ ทั้งด้านหลักการวิจัย
และหลักการด้านจริยธรรมเพื่อให้ผลการวิจัยเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมอย่างแท้จริง ช่วยให้สังคมภายนอกมีความมั่นใจว่างานวิจัยในมนุษย์ทั้งที่ดำเนินการภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยโดยบุคลากรของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมฯ ทั้งสองคณะกรรมการของมหาวิทยาลัยนั้นได้คำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน งานวิจัยมีความปลอดภัยและอาสาสมัครหรือผู้เข้าร่วมการวิจัยได้รับการคุ้มครองด้านศักดิ์ศรี พิทักษ์สิทธิและสวัสดิภาพ ตลอดจนความเป็นอยู่ที่ดี จากผู้ทำวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังเป็นตัวสะท้อนคุณภาพและจรรยาบรรณของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยว่ามีความตระหนักถึงจริยธรรมการในการวิจัย
ในปัจจุบัน หน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงานหรือแม้แต่ของมหาวิทยาลัยเอง เมื่อนักวิจัยไปขอทุน ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ หรือทำผลงานวิจัยเพื่อใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการจะมีข้อกำหนดว่าต้องมีการผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไปแล้วนักวิจัยหรือคนทั่วไปอาจมักจะเข้าใจว่า การวิจัยในมนุษย์ คือ งานวิจัยที่กระทำต่อร่างกายและจิตใจโดยตรงของอาสาสมัคร แต่ตามมาตรฐานแล้ว ยังหมายรวมไปถึงเซลล์และส่วนประกอบ สารพันธุกรรม สิ่งส่งตรวจ เนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง ข้อมูลส่วนบุคคลหรือหน่วยงาน เช่น เวชระเบียน พฤติกรรรมส่วนบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ด้านชีวเวชศาสตร์ สาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และรวมไปถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตด้วย
ฉะนั้นบุคลากรทุกคนในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน นิสิตทุกระดับโดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาที่ทำปริญญานิพนธ์หรือสารนิพนธ์ที่วิจัยในมนุษย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกงานวิจัยในมนุษย์ก่อนเริ่มดำเนินการวิจัยต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ จริยธรรมฯ ขณะเดียวกันนักวิจัยเองควรมีการพัฒนาตนเองโดยเข้ารับการอบรมความรู้ในด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามความก้าวหน้า รักษาคุณภาพและมาตรฐานงานวิจัยของตนเองและของมหาวิทยาลัย งานวิจัยในมนุษย์ใดๆก็ตามแม้ว่าจะมีผลลัพธ์การวิจัยที่ค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ แต่หากไม่ได้ดำเนินขอพิจารณาและผ่านรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมฯ งานวิจัยนั้นย่อมไม่มีคุณค่าทางวิชาการ ไม่มีมูลค่าและคุณค่าต่อสังคมเลย
Post Views: 55