Update Newsธุรกิจท่องเที่ยวประชาสัมพันธ์แหล่งกิน

มิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ เตรียมผลักดันไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหารระดับโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ นายเสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ได้เข้าร่วมเสวนาหัวข้อ “อาหารเพื่อการท่องเที่ยว”  ในงานสัมมนา Thailand’s 19th Hospitality Industry Congress ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมโรงแรมไทย ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา โดยได้กล่าวถึงคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก “มิชลิน ไกด์” ฉบับกรุงเทพฯ ที่มีกำหนดจะประกาศรายชื่อร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินในปลายปีนี้ว่า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 6 ในเอเชียที่ได้รับการสำรวจและจัดทำคู่มือมิชลิน ไกด์ ซึ่งมีประวัติยาวนานถึง 118 ปี การจัดทำคู่มือมิชลิน ไกด์ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันเหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ด้านอาหาร มิชลินจึงมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ความเป็นไทยไปทั่วโลก พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานร้านอาหารและบริการในประเทศไทยสู่สากล“



เพื่อส่งเสริมธุรกิจหลักของมิชลินในฐานะบริษัทยางรถยนต์ซึ่งมีแนวคิดที่ทันสมัย มิชลินจึงได้ริเริ่มจัดทำคู่มือ‘มิชลิน ไกด์’ ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนตามเส้นทางต่างๆ เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ด้วยการจัดทำแผนที่เส้นทาง และต่อมาได้แนะนำร้านอาหารและที่พักระหว่างการเดินทาง  คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก โดยรางวัลดาวมิชลิน หรือ “มิชลิน สตาร์” ที่คู่มือฉบับนี้มอบให้แก่ร้านอาหารถือเป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพและรสชาติความอร่อยของอาหาร

การสำรวจร้านอาหารของมิชลิน ไกด์ จะดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบร้านอาหาร (Inspector) ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทมิชลิน 100 % โดยไม่รับการสนับสนุนจากองค์กรใดๆ และไม่เปิดเผยตัวตนว่าเป็นใคร เพื่อสร้างความเป็นกลางในการตรวจสอบและการมอบรางวัล ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกร้านมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่จำกัดอยู่แค่ร้านอาหารหรูเท่านั้น  สำหรับประเทศไทยแม้แต่ร้านอาหารริมทาง หรือ สตรีทฟู้ดก็มีโอกาสได้รับการสำรวจด้วย 

และปีนี้ก็เป็นครั้งแรกที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทยโดยเฉพาะอยู่ในทีมผู้ตรวจสอบ สมาชิกในทีมไม่มีการเลือกปฏิบัติและมีความเป็นกลางสูง  สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบร้านอาหาร ผู้ตรวจสอบฯ จะปฏิบัติตัวเหมือนลูกค้าคนหนึ่ง ไม่มีการเปิดเผยตัวตนว่าเป็นใครและมาเพื่ออะไร โดยชำระค่าอาหารและบริการด้วยตัวเองทั้งหมด และจะเข้าดำเนินการสำรวจร้านอาหารหลายครั้งเพื่อความแม่นยำ 
 

โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากร้านต่างๆ มาเปรียบเทียบและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในทีม ก่อนจะตัดสินว่าร้านอาหารใดคู่ควรต่อการได้รับมิชลิน สตาร์นายเสกสรรค์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบของมิชลินจะประเมินคุณภาพของร้านอาหารโดยใช้หลักเกณฑ์ 5 ประการที่มิชลินกำหนดขึ้นเอง ได้แก่ คุณภาพสินค้า, การจัดเตรียมและรสชาติ, ลักษณะเฉพาะตัวของเชฟที่สื่อผ่านอาหารที่ปรุง, ความคุ้มค่าสมราคา ตลอดจนความเสมอต้นเสมอปลายของคุณภาพและรสชาติอาหาร  หลักเกณฑ์ซึ่งใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันทั่วโลกเช่นนี้ทำให้มั่นใจถึงมาตรฐานและเกณฑ์การตัดสินที่เที่ยงตรงเช่นเดียวกันในการจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ทุกครั้ง

นายเสกสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การให้คะแนนว่าร้านอาหารใดควรคู่แก่การได้รับรางวัลดาวมิชลินระดับใดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  รางวัลดาวมิชลินมีทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่ 1 ดวง ซึ่งหมายถึงร้านอาหารที่อร่อยมากเมื่อเทียบกับร้านประเภทเดียวกัน, 2 ดวง ซึ่งหมายถึงร้านอาหารที่อร่อยเป็นพิเศษ คุ้มค่ากับการขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม และ 3 ดวง 

ซึ่งหมายถึงร้านอาหารที่อร่อยยอดเยี่ยมและโดดเด่น ควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง ปัจจุบันมีร้านอาหาร 2,600 ร้านทั่วโลกที่ได้รับรางวัลมิชลิน สตาร์ โดยมีร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลิน 3 ดวงจำนวน 110 แห่ง และที่น่าสนใจก็คือญี่ปุ่นเป็นประเทศในแถบเอเชียที่มีร้านอาหารได้รับรางวัลดาวมิชลิน 3 ดวง มากถึง 13 ร้านเลยทีเดียว

ดาวมิชลิน หรือ มิชลิน สตาร์ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่แสดงให้เห็นว่าร้านอาหารนั้นได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ การสำรวจร้านอาหารในไทยเพื่อจัดทำคู่มือ มิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพฯ ยังเป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ซึ่งหากกล่าวถึงประเทศไทย อาหารไทยคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวมักจะนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ  ดังนั้น ในปีนี้อยากให้ทุกคนมาร่วมลุ้นกันว่าร้านอาหารใดในกรุงเทพฯ จะได้รับคัดเลือกให้มีรายชื่ออยู่ในคู่มือ มิชลิน ไกด์ ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทยนายเสกสรรค์ กล่าวทิ้งท้าย