“คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ร่วมขับเคลื่อน “ไทยแลนด์ 4.0” ระดมผลงานนวัตกรรมจัดงาน “The @Venture Day เปิดบ้านนวัตกร” พร้อมเปิดตัว “VentureClub@MUSC” ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัย-นวัตกรรมของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งภาคธุรกิจ นักลงทุน ให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับตัวเอง
ศาสตราจารย์ นพ. บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วางยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” โดยมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Value-based Economy) โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนการเกิดขึ้นของวิสาหกิจเริ่มต้นใหม่หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ จากแนวคิดใหม่
โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของธุรกิจทุกระดับ และได้จัดให้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยได้กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดย คณะวิทยาศาสตร์ ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญของมหาวิทยาลัยมหิดล และของประเทศที่ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง ในการสร้างองค์ความรู้ด้านวิจัยและนวัตกรรม ที่มาจากการศึกษาค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง ถือเป็น Deep Tech ที่มีจุดแข็งต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดทั้งในเชิงความรู้ใหม่และ เชิงพาณิชย์
รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “... แนวนโยบายดังกล่าว ถือว่ามีความสอดคล้องกับพันธกิจหลักที่สำคัญของคณะวิทยาศาสตร์ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจครอบคลุมทั้งด้านการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรที่มีทักษะความสามารถเชี่ยวชาญเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ การบริการทางวิชาการ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นไปพัฒนาต่อยอดให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน เช่นกัน ...”
ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มุ่งมั่นสร้างปัจจัยเกื้อหนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงของประเทศ ให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาอารยะประเทศ
ในปี 2561 นี้ ในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการจัดตั้งหน่วยงาน และสร้าง อาคาร VentureClub@MUSC บนพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ได้มีพื้นที่บ่มเพาะให้สามารถสร้างโอกาสประกอบธุรกิจด้วยตนเอง โดยอาศัยผลงานวิจัยที่มีความพร้อมของคณะ รวมทั้งเป็นแหล่งเชื่อมโยงและให้คำปรึกษากับภาคธุรกิจต่างๆ ที่มีความต้องการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ได้กำหนดจัดงาน “The @Venture Day เปิดบ้านนวัตกร” ในวันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม 2561 เวลา 13.00-16.30 น. ณ อาคาร VentureClub@MUSC (อาคาร V) ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงผลงานและนิทรรศการทางวิชาการ อาทิ กิจกรรมการสำรวจเปิดขุมทรัพย์ “บัญชีนวัตกรรม” ของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ที่คัดสรรมาเป็นตัวอย่างกว่า 30 ผลงาน ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมด้านการเกษตร สิ่งแวดล้อม อาหาร สุขภาพ ยารักษาโรค การแพทย์ เทคโนโลยี IoT รวมทั้งการให้บริการข้อมูลและคลีนิกเทคโนโลยี เป็นต้น
มีกิจกรรมเยี่ยมชมตัวอย่างของ Start-up Unit ความสำเร็จของการต่อยอดผลงานนวัตกรรม จากงานวิจัยสู่ Entrepreneur การแนะนำหลักสูตรนานาชาติแบบสองปริญญาร่วมกับสถาบันที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีความสามารถเชี่ยวชาญเชิงวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์หลายสาขา และหลักสูตรในการสร้างนวัตกร เพื่อขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ในงานดังกล่าวยังได้เน้นให้มีการพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ผลิตนวัตกรรมกับนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ
นอกจากนั้น ในงาน ดิแอดเวนเจอร์เดย์-เปิดบ้านนวัตกร นี้ ยังมีกิจกรรม Pitching Idea: Open Innovation จาก 7 ทีมนวัตกร ประกอบด้วย ทีมนักศึกษาทั้งปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา และบุคลากรของคณะฯ ที่ได้ผ่านโครงการบ่มเพาะทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัยมาแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของการจัดงานครั้งนี้ ที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมงานได้โหวตผลงานที่ชื่นชอบ พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกในงาน ซึ่งมีทั้งผลงานเกี่ยวกับด้านสุขภาพ อาหาร สิ่งแวดล้อม การสร้างรายได้จากขยะ และเส้นใยอัจฉริยะ เป็นต้น
ซึ่งคุณพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทย ในฐานะอดีตนายกสมาคม ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เคยได้รับรางวัลมหิดลทยากร ปี 2559 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้มาร่วมงาน ได้กล่าวว่า “... เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ได้เห็นความพยายามในการริเริ่มส่งเสริมโครงการนำความรู้และผลงานนวัตกรรมของคณะฯ พัฒนาไปสู่การใช้เชิงธุรกิจเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ ให้เริ่มต้นมีผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้บุคลากรและนักศึกษาของคณะฯ ให้มีความอุตสาหะมุ่งมั่นในภารกิจนี้ต่อไป เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ....”
Post Views: 39