Update Newsสังคมสังคม/CSRสาธารณสุข

รณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2561

ภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ประจำปี 2561 เน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยตระหนักถึงเภทภัยของโรคพิษสุนัขบ้า ในการป้องกันตัวเองและสัตว์เลี้ยง ตามคำขวัญประจำปีนี้ที่ใช้เหมือนกันทั่วโลก คือ “Share the message, Save a live” หรือ “เผยแพร่ข่าวสาร สื่อสารเภทภัย ปลอดจากภัยพิษสุนัขบ้า” พร้อมแนะประชาชนให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า 
 



วันนี้ (28 กันยายน 2561) ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย พร้อมด้วยแพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวกิจกรรมรณรงค์ “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก” (World Rabies Day) ประจำปี 2561

 โดยมีผู้แทนจากภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้ง 7 หน่วยงานหลัก ที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย และมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายความร่วมมือสมทบ อีก 8 หน่วยงาน 

ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ศูนย์ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้ 






ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์วิศิษฏ์ สิตปรีชา กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) ในฐานะที่สถานเสาวภาเป็นสถาบันวิจัยร่วมกับองค์กรอนามัยโลกในการศึกษาวิจัยด้านพยาธิกำเนิดและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (WHO Collaborating Center for Research on Rabies Pathogenesis and Prevention) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2531 และเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการให้การรักษาผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยและเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติตั้งแต่ปีพ.ศ.2465 เป็นต้นมา ได้ตอบรับการเป็นเจ้าภาพจัดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกในประเทศไทยในปีนี้ 

จึงเป็นปีพิเศษที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และสถาบันภาคีเครือข่ายทั้งหมด ได้ร่วมจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึง ภยันตรายของโรคนี้ผ่านสื่อความรู้ต่างๆ ที่ได้ทยอยเผยแพร่ในวงกว้างอย่างต่อเนื่องเสมอมา โรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาของคนทั้งประเทศที่จะต้องร่วมมือกันจัดการและแก้ไขอย่างมีระบบ เป้าหมายการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยคือการลดจำนวนสัตว์ที่ติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดการสูญเสียชีวิต สอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธานศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวัลยลักษณ์ อัครราชกุมารี
 

ด้านแพทย์หญิงจุไร กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) มีผู้เสียชีวิต 7, 5, 5, 14 และ 11 ราย ตามลำดับ ส่วนในปี 2561 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ก.ย. 61 มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 16 ราย จาก 14 จังหวัด (จากบุรีรัมย์และระยอง จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย) สัตว์นำโรคจากสุนัข 15 ราย แมว 1 ราย เป็นสัตว์มีเจ้าของถึงร้อยละ 60 โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งถูกสุนัขที่ตนเองเลี้ยง กัด ข่วน และคิดว่าไม่เป็นไรทำให้ไม่เข้ารับการรักษา


สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าไม่ถูกต้อง มีความเชื่อที่ผิด นำไปสู่การปฏิบัติตนที่ผิด และไม่เข้ารับการฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรค เห็นได้จากข้อมูลในปี 2560 ที่กรมควบคุมโรคดำเนินการสำรวจความรู้ของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า พบว่า ประชาชนร้อยละ 60 คิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าสามารถรักษาให้หายได้ร้อยละ 20 คิดว่าการใช้รองเท้าตบแผลสามารถกำจัดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ ร้อยละ 40 คิดว่าลูกสุนัขจะไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ประชาชนร่วมกันดำเนินการเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าใน 4 ข้อสำคัญ ดังนี้ 1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดนัดทุกปี 2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง 3.ช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ 

โดยการทำหมันถาวร และ 4.ลดความเสี่ยงถูกสุนัขกัดหรือทำร้ายด้วย “คาถา 5 ย.” ดังนี้ 1.อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2.อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 3.อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5.อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
 

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ นอกจากมีการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การทำหมันสัตว์เลี้ยงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ขบวนพาเหรดรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก และบูธกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ แล้ว บนเวทียังมีพิธีส่งมอบธงสัญลักษณ์ “งานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก” ในปีหน้า (ปี 2562) ซึ่งกรมควบคุมโรคได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ นั้น กรมควบคุมโรค ก็จะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การให้ความรู้ เวทีเสวนา เล่นเกมชิงรางวัล รวมถึงการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชนและสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงสถานที่และวันเวลาในการจัดกิจกรรม ต่อไป