Update Newsสังคมสังคม/CSR

“รองนายกฯ สมศักดิ์” เคาะ 10 มาตรการรับมือฝนปี 67 ก่อนเสนอ ครม. สั่งหน่วยงานเร่งทำแผนปฏิบัติการ เตรียมพร้อมรับลานีญา

"รองนายกฯ สมศักดิ์" นั่งเก้าอี้ประธานการประชุม กนช. เห็นชอบ (ร่าง) 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 ก่อนเตรียมเสนอ ครม. พร้อมสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการฯ คาดไทยเข้าสู่สภาวะลานีญาช่วง มิ.ย.-ส.ค.นี้

วันนี้ (27 มี.ค. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล



โดยรองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ขณะนี้สภาวะเอลนีโญในประเทศไทยอ่อนกำลังลง และมีโอกาสจะเปลี่ยนไปสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้  ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 จำนวน 10 มาตรการ ตามที่ สทนช. เสนอ พร้อมทั้งเห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 67 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 67/68 โดยให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ ทั้งนี้  ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินการต่อ สทนช. เป็นประจำทุกเดือนจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน เพื่อให้การขับเคลื่อนมาตรการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด



สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทุกหน่วยงานได้ดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 อย่างเคร่งครัด พร้อมเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านน้ำแบบเชิงรุกเพื่อลดผลกระทบให้ประชาชนในทุกพื้นที่ โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เสนอปรับแผนการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง จากแผนเดิม 5,600 ล้าน ลบ.ม. ปรับแผนเป็น 7,700 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) มากกว่าแผนที่กำหนด



 

 

โดยจากการประเมินแผนที่เสนอขอปรับแผนฯ ใหม่ พบว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนและมีเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 67 และฤดูแล้ง ปี 67/68 ดังนั้นที่ประชุมจึงเห็นชอบการปรับแผนดังกล่าวและมอบหมายให้กรมชลประทานเสนอแผนฯ ต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างใกล้ชิด และงดส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝนนี้ต่อเนื่องช่วงฤดูแล้งหน้า

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง 12 ลุ่มน้ำ (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม 22 ลุ่มน้ำ และ(ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ โดยเมื่อ กนช. เห็นชอบแล้วคณะกรรมการลุ่มน้ำจะต้องนำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งไปดำเนินการร่วมกับมาตรการรองรับฤดูแล้งที่ ครม. ได้เห็นชอบแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพและสามารถลดผลกระทบ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้





ส่วนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำนำไปดำเนินการร่วมกับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 เพื่อเตรียมการรองรับภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ ในส่วนของแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ เป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566–2580) ซึ่งใช้เป็นกรอบทิศทางการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ และใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และทิศทางการพัฒนาในเชิงพื้นที่ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนงานโครงการด้านทรัพยากรน้ำที่หน่วยงานเสนอ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า (จากแหล่งน้ำลำตะคองมายังโรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า) เทศบาลนครนครราชสีมา จ.นครราชสีมา การปรับปรุงวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ และการปรับปรุงวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ



 

 

 
สำหรับ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 ตามที่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประกอบด้วย 1.คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง 2.ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ 3.เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง 4.ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ 

6.ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ 7.เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน 8.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์ 9.การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ และ 10.ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนอย่างมีความพร้อมสูงสุด