ระยองเร่งสร้างมาตรฐาน เสริมทักษะ จนท.-สกัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด แนะ 5วิธีดูทุเรียนแก่
จากปัญหาเกษตรกรบางรายตัดทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือ ทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายในช่วงต้นฤดูกาล เนื่องจากเป็นช่วงราคายังสูงอยู่ ซึ่งส่งผลร้ายต่อเสถียรภาพราคา และลดทอนความเชื่อมั่นต่อคุณภาพทุเรียนไทยในระยะยาวนั้น เมื่อวันที่ 24 เม.ย.นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง (ผอ.สสก.3ระยอง) เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องทุเรียนด้อยคุณภาพเป็นนโยบายหลัก โดยกำหนดการปฏิบัติออกเป็น 2 แนวทาง ประกอบด้วย 1 ) แนวทางเชิงรุก โดยการสร้างความเข้าใจ และเพิ่มทักษะความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ในการดูทุเรียนแก่ วิธีการตรวจทุเรียนอ่อน กฎหมายและบทลงโทษ ในการค้าขายทุเรียนอ่อน บทบาท/ภารกิจหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมาย เพื่อนำไปถ่ายทอดและขยายผลสู่การปฏิบัติของเกษตรกร สร้างความตระหนักรู้/ความเข้าใจให้ทราบถึงผลเสีย/ผลกระทบจากการตัดทุเรียนอ่อนอย่างทั่วถึงและขยายวงกว้าง(ยุทธการน้ำซึมบ่อทราย) สร้างทีมเกษตรกรกระจายครอบคลุมในการช่วยตรวจสอบความสุกแก่ก่อนการเก็บเกี่ยวทุเรียนโดยสำนักงานเกษตรอำเภอตั้งหน่วยรับตรวจความสุกแก่ของทุเรียนก่อนการเก็บเกี่ยวเพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกร การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ได้แก่แผ่น พับ/แผ่นปลิว หอกระจายข่าว คัทเอ้าท์ ป้ายประชาสัมพันธ์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ และในที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2) แนวทางเชิงรับ การตรวจสกัดกั้นทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดโดยตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อสกัดกั้นทุเรียนอ่อนระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เป็นคำสั่งจากจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ เช่น ปกครองจังหวัด/อำเภอ อาสาป้องกันภัย เกษตรอำเภอ ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรผู้นำ และหรือสถานีตำรวจภูธร โดยเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจต้องผ่านการฝึกอบรมและทักษะวิธีการตรวจทุเรียนอ่อน ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตรวจสกัดกั้นมี 2 ลักษณะ คือ 2.1 ตั้งจุดตรวจสกัดกั้นทุเรียนอ่อนประจำที่ตามเส้นทางที่เป็นการขนส่งทุเรียนสำคัญ และ 2.2 การตรวจสกัดกั้นทุเรียนอ่อนเคลื่อนที่ในพื้นที่เกี่ยวข้องกับทุเรียน เช่น สวนเกษตรกร ล้ง/จุดรับซื้อ หากพบการกระทำผิด จะดำเนินการนำทุเรียนด้อยคุณภาพไปทำลาย โดยการพ่นสี ตักเตือนผู้กระทำผิดเพื่อเป็นการป้องปราม และหากพบการกระทำผิดซ้ำจะดำเนินการแจ้งความและให้ตำรวจดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย - ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ - ความผิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกิน 50,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายชาตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ร่วมมือกับจังหวัดจันทบุรี ตราดและจังหวัดระยอง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ออกประกาศจังหวัด กำหนดมาตรการและแต่งตั้งคณะทำงานป้องกันผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ออกประกาศจังหวัดขอความร่วมมือเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้จำหน่ายทุเรียน ไม่ซื้อ-ไม่ขายทุเรียนด้อยคุณภาพ ออกประกาศกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนและกำหนดมาตรการดำเนินคดีแก่ผู้จำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ สำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบทุเรียนที่มีคุณภาพก่อนซื้อ ได้ด้วยการสังเกต ก้านผล ซึ่งก้านผลจะแข็งและมีสีเข้มขึ้นสากมือ เมื่อจับก้านผลแล้วแกว่งผลทุเรียนจะรู้สึกว่าก้านผลทุเรียนมีสปริงมากขึ้น และก้านผลบริเวณปากปลิงจะบวมโตเห็นรอยต่ออย่างชัดเจน หรือสังเกต หนามทุเรียน ซึ่งปลายหนามต้องแห้งมีสีน้ำตาลเข้มเปราะและหักง่าย เมื่อมองจากด้านบนของผลทุเรียนจะเห็นหนามเป็นสีเข้มหนามกางออกร่องหนามห่าง เวลาบีบหนามเข้าหากันจะรู้สึกว่ามีสปริง และสังเกต รอยแยกระหว่างพูของผลทุเรียนที่แก่จัดจะเห็นรอยแยกสีน้ำตาลบนร่องพูอย่างชัดเจน ยกเว้นบางพันธุ์ที่พูปรากฏไม่เด่นชัดเช่น พันธุ์ก้านยาว หรือ การชิมปลิง ซึ่งผลทุเรียนที่แก่จัดคือ ทุเรียนที่มีคุณภาพนั้น เมื่อตัดขั้วผลหรือปลิงออกจะพบน้ำใสๆ จะไม่ข้นเหนียวเหมือนในทุเรียนอ่อน หากชิมน้ำส่วนนั้น จะมีรสหวานแสดงว่าได้คุณภาพเป็นทุเรียนแก่ และเมื่อ เคาะเปลือก ผลทุเรียน หากทุเรียนแก่จัดจะมีเสียงดังหลวมๆ แต่เสียงจะหนักหรือเบาจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นทุเรียนเป็นองค์ประกอบด้วย สำหรับปริมาณผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออกปี 2561 ( ทุเรียน มังคุด เงาะและลองกอง) ทั้ง 4 ชนิด ปริมาณผลผลิตรวม 647,522 ตัน ลดลง 144,591 ตัน คิดเป็นร้อยละ 18.25 ผลผลิตรวม และผลผลิตต่อไร่ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ลดลงทุกชนิด จากสภาวะความแปรปรวนของอากาศทั้งร้อน หนาว ฝนตกชุกตลอดทั้งช่วงฤดูหนาวและฤดูฝนตั้งแต่ ปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 ส่วนทุเรียน มีผลผลิต ปริมาณผลผลิตโดยรวม 403,906 ตัน ลดลง 18,459 ตัน คิดเป็นร้อยละ 4.37 ผลผลิตลดลง สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวันมีทั้งฝนตก อากาศร้อน อากาศหนาวเย็น ในแต่ละวันต้นไม้ปรับสภาพต้นไม่ทัน ทุเรียนไม่ออกดอก แต่ออกใบอ่อนแทน และรุ่นที่ออกดอกมาแล้วประสบปัญหา พายุ ลมฝน ดอก ลูกร่วงหล่น มีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน โดยผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม คาดว่าผลผลิตจะออกมากที่สุดในช่วงกลางเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวและราคาผลไม้ภาคตะวันออก (Warroom) รายงานข้อมูลสถานการณ์การเก็บเกี่ยวและราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้ในฤดูกาลผลิตจากพื้นที่ทุกวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทราบทิศทางและแนวโน้มของปริมาณผลผลิตและราคาจริงของเกษตรกรในแต่ละวันในทุกพื้นที่ว่ามีปัญหา อุปสรรคเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไรเพื่อจะได้หาแนวในการทางป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีอีกด้วย