Update Newsข่าวในพระราชสำนัก

ร.10ทรงห่วงใย-พระราชทานของช่วยราษฎรดอยม่อนล้าน

          สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยความเป็นอยู่ของราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรี เชิญถุงพระราชทานและเครื่องอุปโภคบริโภคมอบแก่ราษฎร ผู้ปฎิบัติงาน พร้อมให้ติดตามการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้ครบถ้วนสมบูรณ์
            ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ป่าไผ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอฮอด โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมอง โครงการฝายทดน้ำแม่ฮอด อำเภอฮอด และโครงการปรับปรุงถนนวงแหวนเชื่อมระหว่าง 4 ตำบลในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมกับเชิญถุงพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 320 ถุง มอบให้กับราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และติดตามการดำเนินงานเพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระราชชนนี ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ให้บังเกิดความสมบูรณ์ยั่งยืนและเกิดประโยชน์กับราษฎร ซึ่งได้สร้างความปลาบปลื้มแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในครั้งนี้
             โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยม่อนล้าน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการเสด็จฯไปทอดพระเนตรดอยม่อนล้าน เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 ทรงพบว่า มีชุมชนชาวเขาเผ่าอาข่าตั้งถิ่นฐานมาช้านาน เลี้ยงชีพโดยการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น เป็นเหตุให้พื้นที่ป่าต้นนำลำธารที่สำคัญของลุ่มน้ำแม่งัด สาขาของลุ่มน้ำปิงตอนบน ถูกทำลายกลายสภาพเป็นเขาหัวโล้น จึงเป็นผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลลดลง ส่งผลกระทบต่อชาวเชียงใหม่ ตลอดจนปัญหาความยากจน สุขอนามัยของชาวบ้าน ดังนั้น จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่กับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ให้คนอาศัยอยู่กับป่าอย่างเกื้อกูลกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตซึ่งปัจจุบันราษฎรหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำไร่ ปลูกกาแฟ บ๊วย พลับ หม่อน การส่งเสริมการเลี้ยงสุกร และไก่ ประกอบกับมีรายได้เสริมจากงานศิลปาชีพ การรับจ้างส่วนราชการ จึงมีรายได้เฉลี่ย ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 5,000 บาท/ครอบครัว/ปี เพิ่มเป็น 70,000 บาท/ครอบครัว/ปี
            นอกจากนี้ ยังได้จัดโครงการสนับสนุนให้ราษฎรมีส่วนร่วมแบบประชาอาสาในการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อลดการทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำนาแบบขั้นบันไดที่ให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยไร่ละ 40 ถัง ทำให้มีข้าวบริโภคตลอดทั้งปี ตลอดจนได้รับการดูแลสุขภาพพลานามัยและพัฒนาการศึกษาอย่างเหมาะสม ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันบูรณาการเพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อต่อยอดการส่งเสริมกิจกรรมพืชผัก ไม้ผลเมืองหนาว และการทำนาขั้นบันไดตามหลักวิชาการ เพื่อลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า อันส่งผลต่อการเกิดอุทกภัย ปัจจุบันได้พื้นที่ป่าต้นน้ำกลับคืนฟื้นสภาพ จำนวน 3,950 ไร่ ทำให้สภาพป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของชนิดพรรณพืช และสัตว์ป่า ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร จำนวน 692 ตัว เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำ ลดตะกอนแขวนลอยในแหล่งน้ำทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี