Update Newsท่องเที่ยว B Tripธุรกิจท่องเที่ยวสกู๊ปพิเศษ

ล่องเรือชมวิว ชิลๆ บนริ้วโขง

กองบรรณาธิการ Btripnews มีโอกาสได้ร่วมเดินทางขึ้นเหนือไปยังจังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมงานเปิดตัวท่าเรือท่องเที่ยว ท่าเรือเวียงเชียงแสน(เชียงแสนแห่งที่ 1) ท่าเรือท่องเที่ยวแห่งแรกของภาคเหนือ ที่กล่าวได้ว่าจะเป็นฮับด้านท่องเที่ยวทางน้ำที่สำคัญ เป็นประตูที่จะพานักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามายังบ้านเราได้อีกหนึ่งเส้นทาง นอกเหนือจากเข้ามาทางบก ทางอากาศและท่าเรือเวียงเชียงแสนแห่งนี้กำลังพัฒนาให้สู่จุดที่ไม่ต่างไปจากสุวรรณภูมิที่ขนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ส่วนจะเป็นอย่างไร ตามมากันเลยค่ะ......


 

การเดินทางไปเยือนเชียงแสน เริ่มขึ้นในช่วงเช้าตรู่ของต้นเดือนมีนาคมที่ผ่าน คณะสื่อมวลชนกว่าสามสิบชีวิตพร้อม ณ สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีคุณคงเก่ง ประชากริช ผู้บริหารคนเก่งของบริษัท นิวเชียงแสนกรุ๊ป จำกัด ที่พาเราท่องเที่ยวตลอดทริปอย่างเป็นกันเอง สำหรับคุณ ๆ ผู้อ่าน สามารถตามรอยเส้นทางไปเที่ยวกันได้เลย ปลอดภัยไร้กังวล

ด้วยการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ที่ค่อนข้างตรงเวลามาก ไม่นานนักเราก็มาถึงสนามบินนานาชาติ แม่ฟ้าหลวง แต่ด้วยเพราะพิธีเปิดท่าเรือท่องเที่ยวจะมีขึ้นในช่วงเย็น ตลอดทั้งวันนี้เจ้าหน้าที่จึงพาเราทัวร์เมืองเชียงแสนไปพลางก่อน โดยแวะสถานที่แรกคือร้านอาหารมโนรมย์ ร้านอาหารที่โดดเด่นด้วยบรรยากาศริมน้ำกก เก้าอี้นั่งกระจายกันไม่แออัด อาหารมื้อเช้าที่แต่แรกนึกว่าจะได้ลิ้มลองอาหารพื้นเมือง จึงกลายเป็นอาหารประเภทฟิวชั่นแทน

   

   

   

หลังทานอาหารเรียบร้อย ก็ได้เวลาของการเริ่มต้นทัวร์เยือนเมืองเชียงแสน ด้วยเพราะการท่องเที่ยวของเมืองเน้นด้านวัฒนธรรมและวิถีชุมชนที่ผูกพันธ์กับสายน้ำอย่างแน่นแฟ้น สถานที่เยี่ยมชมแห่งแรกของทริป จึงมาเริ่มกันที่ วัดร่องเสือเต้น หรือ Blue Temple ที่นักท่องเที่ยวชาวจีน อาซิ้ม อาซ้อ ต่างพากันมาเยือนเต็มวัดไปหมด ณ เวลานี้

วัดร่องเสือเต้น

วัดร่องเสือเต้น ตั้งอยู่ ซอย 5 ชุมชนร่องเสือเต้น ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เริ่มสร้างอุโบสถขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ได้เงินสนับสนุนจากบรรดาชาวชุมชนใกล้เคียง โดยนายช่างใหญ่ “สล่านก” หรือ “ช่างนก” นายพุทธา กาบแก้ว ควบคุมดูแลการสร้าง

   



วัดร่องเสือเต้น โดดเด่นด้วยโทนสีน้ำเงินฟ้าที่ไม่เหมือนกับวัดทั่วไป รวมถึงศิลปะประยุกต์อันอ่อนช้อย เรียกว่า ถ้าชื่นชอบวัดร่องขุ่น ก็ต้องชื่นชอบวัดร่องเสือเต้น เพราะเป็นฝีมือของลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินชื่อดังนั่นหล่ะ


ตั้งแต่แรกเข้า หน้าประตูวัด ก็เห็นถึงความอลังการของศิลปะปูนปั้นที่ศิลปินบรรจงสรรสร้างอย่างวิจิตรบรรจง และที่โดดเด่นสุดๆ คือ พระอุโบสถ โดยด้านหน้าอลังการด้วยประติมากรรม พญานาค มีความชดช้อยและลวดลายแตกต่างจากประติมากรรมทั่วไป โดยฟันพญานาค สล่านก ผสมผสานศิลปะสไตล์อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่อง เขาและงาที่โค้งงอสวยงาม

   

  


ภายในอุโบสถก็สวยงามด้วยจิตกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ที่มีโทนเฉดสีน้ำเงินฟ้าเช่นกัน ทั้งยังประดิษฐานพระประธาน “พระสิงห์หนึ่งสีขาว” สูง 6.50 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร ส่วนด้านหลังพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติสีขาวองค์ใหญ่ และยังมีเจดีย์ “พระธาตุแก้วจุฬามณีห้าพระองค์” ให้สักการะด้วย

ไหว้พระทำบุญสบายใจกันแล้วก็ล้อหมุนกันต่อไป โดยข้ามชายแดนไทยไปยังฝั่งเมียนมาร์ ช้อปปิ้งกันที่ตลาดท่าขี้เหล็ก แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ตลาดการค้าชายแดนไทย-พม่า ที่ขึ้นชื่อมานานแสนนาน จำหน่ายสินค้านานาชนิด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากจีน จำได้ว่าช่วงที่ซีรี่ส์เกาหลีกำลังดัง ที่นี่ถือเป็นแหล่งก๊อปแผ่นซีรี่ส์แหล่งใหญ่สำหรับคนไทยทีเดียว รวมถึงเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า สินค้าก๊อปแบรนด์เนมทั้งหลาย เอาเป็นว่า ใครใคร่ช็อป ช็อป

   

แต่ถ้ามีเวลาจะลองเหมาสามล้อไปเที่ยวยังเจดีย์ชเวดากองจำลองที่อยู่ลึกจากชายแดนเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร ก็ได้ จะมีคนขับรถสามล้อ ยืนรอเรียกลูกค้าตั้งแต่ข้ามฟากไปถึงฝั่งท่าขี้เหล็ก ลักษณะเป็นเจดีย์สีทองแบบพม่า สร้างจำลองมาจากเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้ง (สนนราคาก็ขึ้นอยู่กับการต่อรองราคา แม้จะมีราคาเขียนไว้แต่ยังไงก็ควรจะสอบถามราคาและดูหน้าตาไว้ใจได้กันหน่อยละกันจ่ะ)

นั่งรถรางไฟฟ้าชมเมือง - วัดเวียงเชียงแสน



หลังทานอาหารกลางวัน ณ ร้านครัวไทย ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเมนูปลาเพราะภูมิประเทศแล้ว เราก็เริ่มนั่งรถรางไฟฟ้านำเที่ยว  นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวในตัวเมืองเชียงแสนได้ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่นำชม ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุเจดีย์หลวง ที่สร้างโดยพระเจ้าแสนภู เมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 19  เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่เก่าแก่ ที่ยังคงความสมบูรณของโบราณสถานเอาไว้ได้สูงสุดในเชียงแสน

   

   

   

ความสูงของพระเจดีย์หลวงสูง 88 เมตร ส่วนฐานของพระเจดีย์กว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำเป็นศิลปะแบบล้านนา ภายในบริเวณเดียวกัน มีวิหารของวัดที่ยังมีองค์พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์ 1 ประดิษฐานเป็นองค์ประธาน

นอกจากนี้ก็ยังมีวัดเสาเคียนและวัดต่างๆ ที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเผยให้เห็นการอยู่ร่วมกันของผู้คนกับโบราณสถานต่างๆ

“ที่นี่ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ชาวบ้านในชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานที่เก่าแก่และผูกพันกับสายน้ำ” มัคคุเทศก์ ขับรถพาชมเมืองไปเล่าให้ฟังไป ผ่านกำแพงเมืองที่ถือว่าสมบูรณ์อย่างที่สุด ที่ยังคงหลงเหลือเอาไว้ให้รุ่นลูกหลานได้เห็น

   

  

   

   

   

     

ท่าเรือท่องเที่ยวแห่งแรกของภาคเหนือ

และแล้วก็ได้เวลาของการร่วมงานพิธี บริเวณท่าเรือเวียงเชียงแสน ตระเตรียมพิธีเปิดท่าเรือท่องเที่ยวแห่งแรกของภาคเหนือ เสียงฆ้องกลองหลวง ชัยยะไพรี ได้ฤกษ์เปิดงาน พร้อมกับการแสดงฟ้อนชุด “ทิพย์หิรัญบุปผา” ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่พิธีการเปิด ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมงานคับคั่ง โดยมีคุณคงเก่ง ประชากริช ประธานบริหารบริษัท นิวเชียงแสนกรุ๊ป จำกัด ให้การต้อนรับประธานในพิธี

   

จากข้อมูล บอกเอาไว้ว่า ท่าเรือเวียงเชียงแสน ท่าเรือเชียงแสนก่อสร้างขึ้นตามนโยบายในการปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางหรือประตูการพัฒนาภูมิภาคอินโดจีน รวมทั้งโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือ 6 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สภาพพม่า กัมพูชาและเวียดนาม ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2546 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้บริหารและประกอบการ โดยได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2546 และเมื่อมีการเปิดท่าเรือแห่งใหม่ ท่าเรือนี้จึงไม่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ทางบริษัท นิว เชียงแสน กรุ๊ป จำกัด ได้รับอนุมัติตามมติครม. เมื่อวันที่ 12 เดือนธันวาคม ปี 2560 ให้เข้ามาบริหารจัดการ จึงได้มีการปรับปรุง ทั้งด้านการก่อสร้าง ภูมิทัศน์ ระบบความปลอดภัยและด้านต่างๆ และได้มีการเปิดตัวท่าเรือเทศบาลเวียงเชียงแสน อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มีนาคม 2561 นี้



ที่ตั้ง ท่าเรือเชียงแสนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตพื้นที่ของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ด้านหน้าติดแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านหลังติดถนนซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ

   

นายภาสกร บุญญลักษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เล่าว่า ในส่วนของท่าเรือเชียงแสน มีเรื่องค้างคากันมาตั้งแต่ปี 2554 ช่วงนั้นกรมเจ้าท่าดำเนินการก่อสร้างไว้ ในส่วนของเราเมื่อก่อนเป็นท่าเรือพาณิชย์ มอบหมายกันตั้งแต่ปี 2556 อยากให้ทางพื้นที่เดิมทีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยร่วมกับเทศบาลแต่ก็ยังมอบหมายกันไม่ชัดเจน จนปี 2560 ครม.มีมติชัดเจนมอบพื้นที่ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 1 ให้อยู่ในความดูแลของเทศบาลเวียงเชียงแสน ก็ต้องเรียนว่าจริงๆ เป็นเรื่องพื้นที่จะรู้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะทางเทศบาลจะดูได้ชัดเจนมากกว่า

   

จริงๆ แล้ว จังหวัดและอำเภอให้การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวมาโดยตลอด เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีป่าเขา ลำเนาไพร และภูมิประเทศที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่อำเภอแม่จันมาเลย ติดกับเมียนมาร์ 153 กิโล และ ติดกับฝั่งลาว 155 กิโล มีพื้นที่ที่สวยงามเหมาะกับการท่องเที่ยวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจราจรมีขนส่งทั้งทางเรือ ทางบกและทางอากาศ

ทางอากาศเรามีเที่ยวบินกว่า 50 เที่ยวบินต่อวัน ทางเรือก็มีท่าเรือเชียงแสนแห่งนี้ อีกหน่อยจะเป็นท่าเรือท่องเที่ยวนานาชาติ ปัจจุบันมีศุลกากร ตม. คณะกรรมการบริหารท่าเรือก็จะบริหารท่าเรือแห่งนี้ให้เป็นท่าเรือท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

อนาคตข้างหน้าจะมีการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี  ท่าเรือแห่งนี้เป็นความภาคภูมิใจไม่ใช่เพียงชาวเชียงแสนเท่านั้น แต่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งจังหวัดเชียงราย รวมทั้งจังหวัดข้างเคียง

อยากเชิญชวน ให้มาเที่ยวกัน เรามีสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งสามารถไปได้ถึงเมืองจีน ล่องเรือไปท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ซึ่งลำน้ำโขงสวยงามมาก อยากให้ทุกท่านเห็นถึงความสำคัญและเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายด้วย” รองผู้ว่า กล่าวในตอนท้าย

ค่ำคืนนี้จึงจบลงด้วยบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมล้านนา

   

วันล่องเรือสู่สปป.ลาว  





   

รุ่งเช้าวันใหม่ ผู้บริหาร นิว เชียงแสน กรุ๊ป นำคณะลงเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่จุคนได้นับร้อยชีวิต เพื่อล่องไปสัมผัสกับบรรยากาศและทิวทัศน์สองฝั่งโขง ภายในเรือติดแอร์เย็นฉ่ำ เบาะบุอย่างดี เรียกว่านั่งกันเพลินทีเดียว ส่วนใครที่อยากบันทึกภาพ ก็สามารถออกไปสูดโอโซนได้ทั้งหัวเรือ ท้ายเรือและชั้นบน

   

   

คุณคงเก่ง เล่าถึงที่มาของการมาบริหารจัดการท่าเรือเวียงเชียงแสนให้เป็นท่าเรือท่องเที่ยวที่ทันสมัยแห่งนี้ว่า การท่องเที่ยวทางเรือเป็นที่นิยมอยู่แล้ว สำหรับทางแม่น้ำโขงนั้น ถือเป็นเส้นทางเปิดใหม่ สมัยก่อนเส้นทางนี้เป็นที่เลื่องลือในเรื่องของอันตราย แต่ปัจจุบันมีความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากทางเรือขนส่งสินค้า เรือท่องเที่ยว วิ่งขึ้นล่องลำน้ำโขงแทบจะตลอดเวลา และด้วยความร่วมมือของ 4 ประเทศได้จัดตั้งศูนย์ป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง เพื่อคอยดูแลรักษาความปลอดภัย ให้กับเรือขนส่งสินค้าและเรือท่องเที่ยวต่างๆ

   

อีกทั้งยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงตำรวจน้ำ เรื่องของความปลอดภัยจึงเป็นที่เชื่อถือได้ อีกทั้งทิวทัศน์บรรยากาศสองข้างทางริมฝั่งแม่น้ำโขง ก็สวยงาม และสามารถชื่นชมกับธรรมชาติที่ยังคงสภาพความเป็นป่าเขา จึงน่าจะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ที่จะได้มาเยี่ยมชมและเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ”

หลังจากคณะลงเรือครบ ทริปล่องเรือแบบสั้นๆ ก็เริ่มขึ้น สองข้างทางเผยให้เห็นถึงวิถีริมน้ำสองฝั่งไทยและสปป.ลาวให้เพลิดเพลินใจดีแท้

      

   

“ทริปจะมีทั้งแบบระยะสั้น คือเดินทางจากท่าเรือท่องเที่ยว ไปแวะดอนซาว หรือบ้านต้นผึ้ง ตลาดลาวริมโขง แต่เดิมเป็นตลาดพื้นเมือง แต่ต่อมารัฐบาลจีนเข้ามาจัดให้สร้างอาคารเป็นแหล่งการค้าและให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาค้าขายรวมกันอยู่ที่ดอนซาว หลังจากนั้นเรือก็ล่องต่อไปจนถึงองค์พระใหญ่สามเหลี่ยมทองคำ แล้ววกกลับ”

ในขณะที่ หากต้องการเดินทางระยะยาวก็สามารถทำได้ โดยล่องเรือขึ้นไปทางจีน ยูนนาน ไปจนถึงคุนหมิง ใช้เวลาหลายชั่วโมง แต่ก็สามารถแวะได้ตามจุดที่สวยงามริมแม่น้ำโขง”

แต่สำหรับทริปของเราครั้งนี้ เป็นทริประยะสั้นใช้เวลาไม่นาน เราก็มาถึงท่าดอนซาว ที่นี่เป็นตลาดการค้า ที่มีภาษาจีนเป็นหลัก ดูเหมือนจะเอาไว้รองรับตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนโดยแท้ ที่นี่จำหน่ายสินค้าประเภทของฝาก ของที่ระลึก ยาดอง บุหรี่ เสื้อผ้า ผ้าพันคอ



   

   

   



พี่ป๊อบ - คุณคงเก่ง เล่าต่อว่า ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวทางเรือที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยทางอำเภอเชียงแสนมีจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการขนส่งสินค้าเป็นส่วนมาก แต่หลังจากที่มีการเปิดท่าเรือแห่งนี้ เราตั้งเป้าหมายให้มีการใช้งานท่าเรือในช่วงปีแรกประมาณไม่น้อยกว่าเดือนละ 2,000 คน หรือปีละ 20,000 คน

 “ซึ่งการเดินทางโดยทางรถยนต์จากประเทศไทยไปยังประเทศจีน หรือจากประเทศจีนมายังประเทศไทยนั้นปัจจุบันนักท่องเที่ยวต้องใช้ทาง r3a เป็นหลัก โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 9 ชั่วโมง สองข้างทางก็เป็นทิวทัศน์ธรรมดา ที่เห็นได้ทั่วไปในท้องถนนซึ่งไม่น่าดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวสักเท่าไหร่ อีกทั้งยังเป็นเส้นทางถนนที่ใช้ในการขนส่งสินค้ามีอุบัติเหตุบ่อยครั้งการเปิดท่าเรือท่องเที่ยวครั้งนี้จึงเป็นการเผยให้เป็นถึงความงดงามทางทรัพยากรธรรมชาติของสองฝั่งแม่น้ำ ที่เพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่สวยงามและน่าสนใจมากขึ้น”

   

ทางด้านการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ขณะนี้ได้มีการประสานกับทางสปป.ลาว เมียนมาร์ทางท่าขี้เหล็ก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวสามประเทศ ต่อไปในอนาคตจะขยายเป็นสี่เหลี่ยมทองคำ จุดขายหลักคือ ทางสามเหลี่ยมทองคำ การเดินทางล่องไปทางแม่น้ำโขงไปทางจีนยูนนาน ปัจจุบันการเดินทางปลอดภัยมากๆ เพราะรัฐบาลตั้งหน่วยงาน สี่ประเทศ จีน ไทย พม่า ลาว มาดูแลความปลอดภัยในลำน้ำโขง ท่ากวนเหล๋ง กับท่าเชียงรุ้ง เที่ยวได้ตลอดทั้งปี ภายใต้นโยบายส่งเสริมสี่เหลี่ยมทองคำของทางประเทสจีนอยู่แล้ว เราเป็น 1 ใน 6 ชาติลุ่มแม่น้ำโขง



เรือที่นักท่องเที่ยวเข้ามาปกติจากจีนสามารถบรรจุได้เกินหนึ่งร้อยคน ผู้ประกอบการในเชียงแสนเองก็มีหลายเจ้าที่มีเรือท่องเที่ยวอยู่ ท่าเรือเป็นสถานที่สำหรับสาธารณะประโยชน์ มีไว้เพื่อให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นสามารถพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวแล้วไปต่อสู้กับภาคพื้นอื่น ๆ ได้ ผมมีหน้าที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ท่าเรือส่งเสริมผู้ประกอบการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเป็นเรื่องสำคัญกว่าจำนวนเงินที่ท่าเรือจะได้รับเพราะนักท่องเที่ยว 1 คน ไม่ได้ใช้จ่ายเฉพาะท่าเรือ แต่จะนำเงินไปใช้จ่ายในโรงแรม แม่ค้า ต่าง ๆ ที่ขายของให้นักท่องเที่ยว ตรงนี้มีประโยชน์มากกว่า”

กลับจากเลาะริมโขงแล้ว เรายังมีโอกาสได้ไปแวะ หมู่บ้านอาข่าแม่แอบ ซึ่งตามเอกสารบอกว่า ชาวบ้านแม่แอบ คือ กองกำลังทหารจีนกองพล 93 ที่อพยพถอยร่นมาจากจีนเข้าเมียนมาร์และตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยได้มอบหมายภารกิจต่อสู้ขับไล่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และให้ปักหลักตั้งหมู่บ้านขึ้น ความน่าสนใจอยู่ที่ทุกชนเผ่ายังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนไว้ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน บ้านเรือน ประเพณี รวมถึงความเชื่อ แต่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุข

วันนี้เราได้รับการต้อนรับอย่างดีเยี่ยม มีการแสดงและอาหารพื้นเมืองให้ทานกัน หากสนใจมาเป็นกลุ่มคณะก็สามารถติดต่อกันได้เลย 

         

   



ก่อนบินกลับกทม. ทางเชียงแสน ยังได้แนะนำให้ขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุจอมกิตติ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตกันถ้วนหน้าอีกด้วย 

   

   

   



   

   

   

เอาเป็นว่า ... คราวนี้หากใครที่เคยมาเชียงใหม่ เชียงรายกันหลายรอบ ลองแวะมาชื่นชมกับวิถีวัฒนธรรม วิถีผู้คนของเชียงแสน และล่องลำน้ำโขงไปเยือนสปป.ลาว ก็ถือว่า ไม่เลว สามารถวางแผนการเดินทางมากันได้เลย สะดวก ปลอดภัย แถมยังได้ประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือนทีเดียว

______________________________________________________________

ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก สมาชิกกลุ่มสื่อมวลชนที่ร่วมทริป