“วงสวัสดีวูดวินด์ควินเท็ต” หนึ่งเดียวในเอเชียร่วมงาน IDRS 2022 ส่งออกงานสร้างสรรค์ไทยสู่สากล
วงสวัสดีวูดวินด์ควินเท็ต กลุ่มนักดนตรีเครื่องลมไม้และเปียโนชาวไทยจากสถาบันการศึกษาและวงดนตรีคลาสสิกชั้นนำ ได้ออกเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ เพื่อนำเสนอผลงานดนตรี ในงานประชุมวิชาการ ด้านเครื่องลมไม้ลิ้นคู่นานาชาติ หรือ International Double Reed Society Conference 2022 ณ เมืองโบลเดอร์ มลรัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นวงดนตรีหนึ่งเดียวจากเอเชียที่ได้เข้าร่วมนำเสนอ ผลงานในครั้งนี้ ทั้งนี้โดยได้รับความสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ผลงานที่จะนำเสนอในการแสดงประกอบด้วยผลงานดนตรีสองผลงาน คือผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในชื่อผลงาน Musical Tales and the Virtual Experience สร้างสรรค์งานวิจัย โดยอาจารย์ ดร. คมสัน ดิลกคุณานันท์ อาจารย์ประจำสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ในครั้งนี้วงสวัสดีฯจะทำการแสดงบทเพลงส่วนหนึ่งจาก Carnival of the Animals ของ Camille Saint-Saens ที่เรียบเรียงใหม่สำหรับ เครื่องลมไม้และเปียโน นำเสนอประกอบภาพทัศนศิลป์โดยคุณปฐม พัวพิมล ในรูปแบบเทคโนโลยี “ความเป็นจริงเสริม” หรือ Augmented Reality ที่พัฒนาโดยคุณอรภา แก้วฟอง เพื่อสร้างความเข้าถึงบทเพลงคลาสสิก สำหรับผู้ฟังได้ดียิ่งขึ้น ผลงานดนตรีที่สองคือ ผลงานสร้างสรรค์ทางดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการทอผ้าของศิลปินล้านนาคุณคชามาศ เปเรซ และเสียงปี่จุมล้านนา ในชื่อบทเพลง The Bhusa สำหรับวงเครื่องลมไม้และเปียโน ประพันธ์โดย อาจารย์จิณณวัตร มั่นทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วงสวัสดีวูดวินด์ควินเท็ต ประกอบด้วยนักดนตรีจากสถาบันและวงดนตรีคลาสสิกชั้นนำ อาทิ สถาบันดนตรีกัลยานิวัฒนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วงดุริยางค์สากล กรมศิลปากร วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ (RBSO) วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO) และกลุ่มงานดุริยางค์ซิมโฟนี กรุงเทพมหานคร วงสวัสดีฯได้ทำการแสดง และเผยแพร่ความรู้ด้านดนตรีคลาสสิก ในประเทศไทย มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 โดยเคยออกแสดงและทำการเวิร์คชอปให้กับเยาวชนทั้งในไทยและต่างประเทศ ปัจจุบันมุ่งผลิตผลงานการแสดงและร่วมพัฒนาผลงานกับศิลปินชาวไทย เพื่อสร้างสรรค์การแสดง ดนตรีคลาสสิก ในรูปแบบใหม่ๆมานำเสนอสู่ผู้ชมและเพื่อพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกไทย ให้ยั่งยืนต่อไป