วช.จับมือ โซเชียล แล็บ รับมือสังคมอายุยืน ถอดบทเรียน 3 สุดยอดงานวิจัย โชว์นวัตกรรมพร้อมใช้เพื่อขยายผลสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
ปัจจุบันสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลง พึ่งตนเองได้ และมีพลัง มีส่วนร่วมดูแลและพัฒนาสังคม รวมถึงส่งต่อประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงได้สนับสนุนให้ โซเชียล แล็บ (ประเทศไทย) ถอดบทเรียน “โครงการวิจัยโปรแกรมพัฒนาผู้สูงวัย” ซึ่งมีความโดดเด่น มีนวัตกรรมพร้อมใช้ และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็น “ต้นแบบ” เพื่อขยายผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการนำเสนอผล “โครงการถอดบทเรียน 3 งานวิจัยโปรแกรมพัฒนาผู้สูงวัยที่มีนวัตกรรมพร้อมใช้” และนำเสนอสู่สาธารณชนแล้ว โดยมีภาคส่วนต่างๆ ให้ความสนใจเข้าร่วม ทั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้นำชุมชน นายกเทศมนตรี และกลุ่มผู้สูงอายุจากหลายพื้นที่ อาทิ ชุมชนตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี, กลุ่มผู้สูงอายุ ชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ ชุมชนบานหัวอ่าว จังหวัดนครปฐม, ชุมชนเทศบาลตำบลป่าไผ่ จังหวัดลำพูน, และชุมชนแม่มอก จังหวัดลำปาง อีกทั้ง ยังได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าร่วมฟังการถอดบทเรียนครั้งนี้ด้วย การถอดบทเรียนความสำเร็จการขับเคลื่อน 3 โครงการวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนต้นแบบสู่วิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ โดย ดร.อุดม สุวรรณพิมพ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ความน่าสนใจ คือ การสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน กลุ่มแม่บ้าน แม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง นำไปสู่การสร้างวิสาหกิจชุมชนด้านการบริบาลผู้สูงอายุ และมีหลักสูตรนักบริบาลผู้สูงอายุ หรือ “แม่มอกโมเดล” สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ จากการถอดบทเรียนพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อความสำเร็จ คือ จะต้องมีคนที่มีใจอยากทำจริง โดยเฉพาะครูพี่เลี้ยง คณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน ต้องมาจากคนในพื้นที่ที่มีจิตอาสาสูง และมีช่องทางให้แม่บ้าน และคนในชุมชน ก้าวมาเป็นนักบริบาลผู้สูงอายุได้ง่าย เช่น โครงการ “เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง” เมื่อเรียนแล้วมีพื้นที่ให้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพจริง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีการทำงานร่วมกัน มีการติดตามผล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดึงผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงินมาช่วย 2) โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบพึ่งตนเอง การเปลี่ยนเกษียณเป็นพลัง โดย ผศ.ดร.กัมปนาท บริบูรณ์ ภาควิชาการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาตลอดชีวิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่สามารถยกระดับ “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ในหลายจังหวัดให้เป็น “กิจการเพื่อสังคม” โดยมีหลักสูตรผู้ประกอบการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ มีการสอนออนไลน์ และการฝึกปฏิบัติ รวมถึงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ทำให้ผู้สูงอายุสะดวกในการเรียน ซึ่งในการถอดบทเรียนพบว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ คือ คนในชุมชนและคนที่เข้าร่วม มีความมุ่งมั่น ศรัทธา และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้สูงอายุจริงๆ พร้อมทั้งมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ 3) โครงการพลังเกษียณสร้างชาติ : ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาทักษะงานในยุคดิจิทัลสำหรับผู้สูงวัยและระบบสนับสนุนเชิงเทคนิคของคนรุ่นใหม่ สู่การนําไปใช้ที่ยั่งยืน โดย รศ.ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ชื่อ “มีดี” เปิดโรงเรียนผู้สูงอายุดิจิทัล “เกษียณมีดี” ให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้แบบดิจิทัล มีทักษะ และสามารถใช้โซเชียลมีเดีย จนถึงการเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ สร้างอาชีพและมีรายได้ในวัยเกษียณ โดยพบว่า ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของโครงการนี้ คือความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มีการเซ็นต์ MOU เพื่อโอกาสใหม่ๆ การสร้าง Branding เพื่อให้เป็นที่จดจำและรู้จักในวงกว้าง รวมทั้งการใช้ Digital Marketing เผยแพร่กิจกรรมผ่านช่องทางต่างๆ โดยแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นใช้งานได้จริง ง่าย และสวยงาม ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้ง โซเชียล แล็บ (ประเทศไทย) กล่าวว่า การสรุปผลวิจัยการถอดบทเรียน ทำให้ได้แบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้ที่ได้ทำวิจัยกับนักวิจัยทั้ง 3 แผนงาน ในภาพรวมจะเห็นถึงพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในแต่ละท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญในเรื่องสังคมผู้สูงอายุจริงๆ ซึ่งเป็นมาตรฐาน ต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว พร้อมนำความรู้ ความสามารถ มาร่วมกันพัฒนา เอื้อให้งานวิจัยทั้ง 3 แผนเกิดความสำเร็จที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง งานนี้เราจึงมีการเชิญผู้นำที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่น่าจะมีโอกาสนำผลงานวิจัยนี้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับผู้สูงวัยในพื้นที่หรือชุมชนของตนเอง โดยเห็นได้ชัดว่า ทุกท่านตระหนักและเห็นความสำคัญ โดยจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากการถอดบทเรียนไปประยุกต์ใช้ต่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ “ตามปกติหลายครั้งงานวิจัยเป็นเรื่องวิชาการ ซึ่งในการนำไปใช้จริงอาจจะมีความซับซ้อน เข้าใจคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายงานวิจัยแต่ละชิ้น ดังนั้น ความสำคัญของการถอดบทเรียน เป็นการช่วยให้ความซับซ้อนมีความเรียบง่ายขึ้น โดยเฉพาะจุดมุ่งหวัง คือ การขยายผล และมีเป้าหมายอยู่ที่ความสำเร็จของงานวิจัยต่างๆ ทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” ดร.อุดม กล่าว งานวิจัยจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเมื่อมีการนำไปใช้ไปปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 3 แผนงานนี้ ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ตอบโจทย์สังคมสูงวัยของประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และกำลังขยายวง การถอดบทเรียนช่วยให้การนำงานวิจัยไปขยายผลได้ง่ายขึ้น ชุมชนต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้ตามบริบทหรือสภาพแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อสังคมสูงอายุและการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป