Update Newsสังคม

วันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2560

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จัดงานเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2560 โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพร้อมมอบรางวัลให้แก่บุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่ รางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาถิ่นดีเด่น และผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย นอกจากนี้ ยังมีบุคคลในวงการเพลงไทย เข้ารับรางวัลโครงการ เพชรในเพลงด้วย

โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทย มีภาษาของตัวเอง เป็นหน้าที่ของคนไทย ที่จะช่วยกันรักษา จรรโลง เพื่อสืบสาน ภาษาไทยให้คงอยู่ ขณะที่การใช้ศัพท์สมัยใหม่ นำมาใช้ได้ เป็นเรื่องที่ไม่ผิด

ผมได้มีโอกาสสอบถามเด็กๆ หลายคนว่า คำว่า ตะมุตะมิ แปลว่าอะไร เด็กๆก็ทำหน้างงบอกไม่รู้จัก ซึ่งผมเห็นว่า การใช้ศัพท์ใหม่ มีการพลิกผัน เปลี่ยนไปตามยุค แต่ก่อน มีคำว่าชิล ชิล แต่ตอนนี้ก็หายไปแล้ว ซึ่งหากมีการบริหารจัดการการใช้คำที่เหมาะสม ก็จะไม่น่าห่วง แต่หากนำไปใช้ในทางไม่เหมาะสม ก็จะเป็นพิษเป็นภัยแก่ตัวเราเอง 

ในวันนี้นอกจากกระทรวงวัฒนธรรม จะร่วมรณรงค์การใช้ภาษาไทยแล้ว อยากฝากให้ทุกภาค ส่วนโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ มาช่วยกันรณรงค์การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเพื่อนำมาสู่ความภูมิใจของคนในชาติ”


   

   

ศ.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ปี 2560 กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไทย เวลา พูดภาษาไทย จะพูดแบบตามใจตัวเอง ใช้ภาษาปนกันไปหมด จนบางครั้งไม่นำความคิดเรื่องของกาลเทศะมาเกี่ยวข้อง เช่น นำภาษาพูดมาใช้กับภาษาเขียน หรือ ไม่ระมัดระวังถ้อยคำเวลาพูดกับผู้ใหญ่ จึงอยากให้มีความกังวลในจุดนี้ให้มากขึ้น เพราะ เราเป็นคนไทย มีวัฒนธรรม มีการใช้ภาษาที่ดีงามมานานแล้ว 

ขณะที่การนำคำแสลง หรือ คำสมัยใหม่ มาใช้ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แสดงให้เห็นว่าภาษามีความทันสมัย มีการเปลี่ยนแปลงได้ไปตามกาลเวลา ถ้าไม่ปรับเปลี่ยน ภาษาก็จะต้องตายไป แต่อยากให้นำมาใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส กาลเทศะ และไม่ควรนำมาใช้ในการเรียน 

ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ปี 2560 กล่าวอีกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความห่วงใย ในการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะการออกเสียงควบกล้ำ ร และ ล ที่ควรให้ถูกต้อง แต่ สิ่งที่น่ากังวล คือ คนรุ่นใหม่ มักจะใช้ภาษาไทยให้เหมือนชาวต่างชาติ มีการออกเสียงสูง ใช้คำฟุ่มเฟือย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นของเก๋ แต่ตนคิดว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ารัก เพราะ ทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยนไปได้ 

นอกจากนี้จากการติดตามสื่อสาธารณะทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อโซเชียล พบว่า พิธีกร ดารา นักแสดง รุ่นใหม่ หลายคนมีการใช้ภาษาไม่ถูกต้อง ไม่ระวังคำพูดในการนำเสนอออกสู่สาธารณะ หรือ บางครั้ง ใช้คำสื่อความหมายผิดเพี้ยน โดยไม่ถามผู้รู้และไม่แก้ไขได้ถูกต้อง ที่น่าเป็นห่วง คือ มีการใช้ภาษาที่ไม่สุภาพ หยาบคาย ออกสู่สื่อสาธารณะ ทั้งรายการ ละคร ภาพยนตร์ ซึ่งบางคนคิดว่าเป็นการแสดงความเป็นกันเองกับผู้ชม แต่ตนอยากสะท้อนกลับไปว่า ผู้พูดควรต้องตระหนักว่าภาษาที่ออกจากปากของเรา แสดงความรู้ ความคิด และ ความเป็นตัวตนของเรา 

ดังนั้น ผู้พูดจึงควรรักษาศักดิ์ศรีความเป็นคนไทย ว่าใช้คำอย่างไรจึงน่านับถือ น่าเคารพ และไม่ควรใช้ภาษาที่ย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง อย่างไรก็ตามขอฝากถึงเด็กไทยยุคลใหม่ อย่าอายที่จะพูดภาษาไทย อย่าใช้การพูดคำไทยผสมคำต่างชาติ เพื่อความโก้เก๋ แต่ควรสำนึกว่า ปม้เราเรียนภาษาอะไรมามากมายแล้ว กลับมาพูดภาษาไทยไม่ได้ก็ไม่สมกับที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย 


นางวีเบคเก้ ลิสซึ่นด์ ไลร์เวิก ชาวนอร์เวย์ ในฐานะชาวต่างชาติที่ได้รับรางวัลใช้ภาษาไทยดีเด่น กล่าวว่า ตนอยู่ประเทศไทยมา 28 ปี ค่อยๆ สั่งสมประสบการภาษาไทย เพื่อใช้ในการสื่อสารทั้งฟังพูดอ่านเขียน ขณะเดียวกันก็เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีไทย ตนชื่นชอบภาษาไทย รู้สึกว่ามีความไพเราะ ขณะเดียวกันทุกครั้งที่เดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคจะมีภาษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ก็จะพยายามเรียนรู้จะได้เข้าใจความหมายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาษาอีสาน