วิริยะประกันภัยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ ปี 61 ลุยแหลกตลาดNON-MOTOR
วิริยะประกันภัยประกาศแผนการดำเนินงานปี 61 หลังประสบความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 36,162 ล้านบาท เติบโตถึง 8.69% เผยปีนี้ลุยตลาด Non-Motor เต็มสูบ ภายใต้แนวคิด “ถ้าเป็นชื่อวิริยะประกันภัย ทุกประกันคือมาตรฐานเดียวกัน” โดยมุ่งเน้นตลาดประกันภัยรายบุคคลในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Accident & Health insurance เป็นหลัก ด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ “เลือกความคุ้มครองได้ตามช่วงวัยและไลฟ์สไตล์” ส่วนตลาดประกันภัยรถยนต์ยังคงเดินหน้าขยายผล “นวัตกรรมประกันภัย 4.0” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ อันเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญในปีที่ผ่านมา โดยวัดได้จากอัตราต่ออายุกรมธรรม์ 73% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ส่วนนโยบาย CSR ขับเคลื่อน 3 เมกกะกิจกรรม “ตามรอยพ่อ ณ กัลยาณี – White…CSR เติมความรู้สู่ห้องสมุดทั่วไทย – รวมพลังความดี คิดดี ทำดี เพื่อสังคม” นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2560 ว่า จากการที่บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนาด้านบริการ ภายใต้แนวคิด “70 ปี วิริยะประกันภัย มุ่งสู่อนาคต ด้วยความเป็นธรรม ภายใต้นวัตกรรมบริการ 4.0” ด้วยการนำเทคโนโลยีสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนา ปรับปรุงผลิตภันฑ์ และบริการประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการบริการด้านสินไหมทดแทน เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำบริการ ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 36,162.96 ล้านบาท เติบโตถึง 8.69% เป็นการเติบโตที่เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะเติบโต 2% ทั้งนี้แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 32,723.05 ล้านบาท เติบโต 8.11 % เบี้ยประกันภัย Non-Motor 3,439.91 ล้านบาทเติบโต 14.46% นอกจากนี้ยังมีตัวชี้วัดความสำเร็จอีกประการหนึ่งนั้นก็คือความยั่งยืนของกรมธรรม์ โดยบริษัทฯ มีอัตราต่ออายุกรมธรรม์ 73% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด “ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้บริษัทฯ ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัยอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 26 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 16.47% เช่นเดียวกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 25.66% หรือ 1 ใน 4 ของตลาด อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ยังได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ รางวัล World Finance Insurance Awards 2017 จากนิตยสาร World Finance นิตยสารทางการเงินที่ทรงอิทธิผลในยุโรป ซึ่งบริษัทฯ ได้รับรางวัลมาตั้งแต่ ปี 2009 จนถึงปัจจุบันรวม 8 ครั้งด้วยกัน รางวัลชนะเลิศผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ดีเด่น หรือ Best Surveyor Award 2017 จากสมาคมประกันวินาศภัยไทย นับเป็นรางวัลที่ได้มาอย่างต่อเนื่องทุกๆปี รางวัลศูนย์รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคดีเด่น ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งรับมาเป็นปีที่ 2 และรางวัล Thailand's Most Admired Brand 2017 จากนิตยสารแบรนด์เอจ โดยบริษัทฯ ได้รับในกลุ่มบริษัทที่มีแบรนด์น่าเชื่อถือที่สุด 15 ปีต่อเนื่อง ฯลฯ” นายสยม กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 ในภาพรวมคงไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงการบริการสินไหมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นสินไหมรถยนต์และสินไหมนอนมอเตอร์ ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการบริการ เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใดของประเทศ ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านเครือข่ายบริการประกันภัยที่ครบวงจร และครอบคลุมที่สุด ตั้งแต่ สาขา สาขาย่อยในศูนย์การค้าชั้นนำ สำนักงานตัวแทน/นายหน้า ศูนย์/จุดย่อยบริการสินไหม ศูนย์ซ่อมมาตรฐาน และเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งนี้ ตลอดปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงปีนี้ บริษัทฯ ได้เพิ่มจำนวนสาขาย่อยในศูนย์การค้าชั้นนำทั่วประเทศ (V Station) รวมถึงการเพิ่มช่องทางออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำประกันและสอบถามข้อมูลให้กับลูกค้า เช่น จัดทำแอพพลิเคชั่นตรวจสภาพรถยนต์ก่อนการทำประกันภัย เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคปัจจุบัน พัฒนาแอพพลิเคชั่นสนับสนุนงานขายตัวแทน (V Smart) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเพิ่มจำนวนศูนย์ย่อยเพื่อบริการสินไหมให้กระจายครอบคลุมจุดเสี่ยงทั่วประเทศ โดยมีการจัดทำ Heat Map หรือแผนที่แสดงจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุเป็นจำนวนมาก เพื่อเปิดเป็นจุดบริการสินไหมย่อย ช่วยให้บริษัทสามารถจัดส่งพนักงานเคลมออกให้บริการลูกค้า ณ จุดเกิดเหตุได้รวดเร็วที่สุด อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพและความแข็งแกร่งของเครือข่ายบริการประกันภัยที่ครบวงจร การร่วมมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงจากหลากหลายธุรกิจ จำนวนฐานลูกค้าในมือกว่า 7.5 ล้านราย ประกอบกับบริษัทฯ ได้ทีมผู้บริหารใหม่ที่มากด้วยความสามารถ และประสบการณ์ทางด้านการประกันภัย Non-Motor บริษัทฯ จึงกำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการขยายตลาด Non-Motor ภายใต้แนวคิด “ถ้าเป็นชื่อวิริยะประกันภัย ทุกประกันคือมาตรฐานเดียวกัน” “บริษัทฯ คาดว่า ณ สิ้นปี 2561 ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทฯ ต้องมีอัตราเติบโตไม่น้อยไปกว่าอัตราเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยโดยรวม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประมาณการไว้ว่ามีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับ 5.12 %” คุณสยมกล่าว นายประวิตร สุขสันติสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัยจำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึงทิศทางการลงทุนว่า บริษัทฯ ดำเนินนโยบายลงทุน และมีสัดส่วนการลงทุนเป็นไปตามกฎระเบียบของสำนักงาน คปภ. โดยจัดสรรสภาพคล่องให้เพียงพอต่อภาระหนี้สินและค่าใช้จ่าย เน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูง “ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของบริษัทส่วนใหญ่ ได้แก่ เงินฝาก ตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมาบริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์” นายประวิตร กล่าวต่อว่า สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 2561 บริษัทฯ ต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะยังคงทรงตัว เนื่องจากระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่จะทยอยปรับขึ้นในปีนี้ อาจมีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินได้ สำหรับการลงทุนในตราสารทุนจดทะเบียน บริษัทฯ จะดำเนินการลงทุนด้วยความระมัดระวัง แม้ว่าจะมีแน้วโน้มที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของตลาด แต่คาดว่าน่าจะมีความผันผวนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ดังนั้นทิศทางการลงทุนของบริษัทฯ ในปี 2561 จึงเน้นตามนโยบายเดิม ซึ่งน่าจะสร้างผลตอบแทนให้บริษัทฯ ได้ในเกณฑ์ดี ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นายเกรียงศักดิ์ โพธิเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เผยถึงแผนการขยายงานด้านตลาด Non-Motor เพิ่มเติมว่า ภาพรวมผลประกอบการด้าน Non-Motor ในปีที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง เพราะมีอัตราเติบโตถึง 14.46% หรือมีเบี้ยประกันภัย 3,439.91 ล้านบาท มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 7 ของธุรกิจ โดยมีประกันภัยทางทะเลและขนส่งเติบโตมากที่สุดคือ 15.48% ในขณะที่ประกันส่วนของชีวิตและร่างกาย (ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล) มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 13.23% และประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินเติบโต 11.63% “ในปีนี้การรับประกันภัยด้าน Non-Motor บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายสินค้าในด้านรายบุคคลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนของ Accident & Health insurance ซึ่งประกอบด้วยประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันสุขภาพรายบุคคล และประกันสุขภาพและอุบัติเหตุในขณะเดินทาง ซึ่งในภาพรวมของธุรกิจแล้ว ผลิตภัณฑ์ประกันภัยในกลุ่มนี้มีแนวโน้มสดใสมาก ประมาณการกันว่าในปี 2561 ตลาดประกันสุขภาพทั้งส่วนของประกันชีวิตและประกันวินาศภัย จะมีมูลค่ารวมมากกว่า 75,000 ล้านบาทหรือมีอัตราเติบโตมากกว่า 12% อย่างแน่นอน” นายเกรียงศักดิ์กล่าว นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับบริษัทฯ มีแผนออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถเรียกได้ว่า เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งความคุ้มครองด้านสุขภาพ เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามช่วงวัยและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะแตกต่างกว่าในอดีตที่มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพมาเสนอขายแบบครอบคลุมเบ็ดเสร็จไม่มีสิทธิเลือก และบริษัทผู้รับประกันภัยคอยทำหน้าที่จ่ายค่าสินไหมอย่างเดียว แต่ยุคนี้นอกจากผู้บริโภคสามารถเลือกความคุ้มครองได้ตามช่วงวัย ตามไลฟ์สไตล์แล้ว บริษัทผู้รับประกันภัยต้องเพิ่มบทบาททำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งทีมที่ปรึกษาด้านประกันสุขภาพทางโทรศัพท์ (Tele-Health Consultant) เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดีนอกจากประกันสุขภาพรายย่อยแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยอุบัติเหตุนักเรียน รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ออกมาให้บริการมาก่อนหน้าและได้รับการตอบรับที่ดี “ปัจจัยความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่มีจุดเด่นในเรื่องนวัตกรรมแห่งความคุ้มครองแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องชื่อเสียงของบริษัทที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีความมั่นคง และมีบริการหลังการขายเป็นเลิศ จึงคาดว่าผู้บริโภคจะให้ความไว้วางใจเสมือนประกันรถยนต์ได้ไม่ยาก” นายเกรียงศักดิ์กล่าว สำหรับนโยบายทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นางสาวกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทฯ ยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการแบ่งปันและสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมไทย ด้วยการจัดทำโครงการสาธารณประโยชน์เพื่อสังคมไทยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภายใต้แนวทาง “6 ด้าน 3 รูปแบบ” ซึ่งหมายถึงเป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมใน 6 ด้านหลัก คือ ด้านการรรงค์ความปลอดภัยบนท้องถนน ด้านการศึกษา ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ด้านศาสนาและวัฒนธรรม และด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานใน 3 ลักษณะด้วยกัน คือ กิจกรรมที่บริษัทริเริ่มและดำเนินการเองมาอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมที่บริษัทร่วมกันบูรณาการกับหน่วยงานภายนอก และกิจกรรมที่บริษัทให้การสนับสนุน โดยในรอบปีที่ผ่านมาบริษัทฯ มีโครงการสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินการไปตามแนวทาง “6 ด้าน 3 รูปแบบ”ประมาณ 47 โครงการ โดยเฉพาะโครงการที่บริษัทฯ ริเริ่มและดำเนินการด้วยตนเองนั้นมีถึง 15 โครงการด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดอกผลที่เกิดจากเวทีประกวด โครงการประกวดแผนงานกิจกรรมเพื่อสังคม “รวมพลังความดี คิดดี ทำดี เพื่อสังคม” อันเป็นเวทีที่จิตอาสาวิริยะประกันภัยทั่วไทยนำเสนอแผนกิจกรรมเพื่อสังคมมาประชันกันในทุกๆปี สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปี 61 นอกจากจะมีโครงการสาธารณประโยชน์ที่ผ่านเวทีการประกวดคิดดีทำดีฯ ซึ่งมีอยู่ 5 โครงการด้วยกันแล้ว บริษัทฯ ยังได้ริเริ่มโครงการใหม่ คือ ตามรอยพ่อ ณ กัลยาณี โดยบริษัทฯ ได้รับรู้ข้อมูลว่าในพื้นที่บริเวณวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทรงงานและทรงประทับอยู่เป็นเวลานานๆ จนทำให้โดยรอบบริเวณของพื้นที่มีโครงการพระราชดำริเกิดขึ้นมามากมาย หลังจากนั้นกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้เป็น “โครงการอำเภอกัลยาณิวัฒนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำเภอกัลยาณิวัฒนาเป็นอำเภอต้นแบบในการพัฒนาที่ยั่งยืน “จากการที่ได้เข้าไปศึกษาในเบื้องต้นประกอบกับได้มีการปรึกษาหารือกับผู้นำท้องถิ่น ได้แนวคิดตรงกันว่าจะพัฒนาพื้นที่ใจกลางของอำเภอ โดยเฉพาะเส้นทางเดินที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินและนั่งทรงงาน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเพื่อการศึกษาศาสตร์พระราชา โดยความคืบหน้าล่าสุด บริษัทฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายปฎิบัติการณ์ภาค 1 (ภาคเหนือ) เจ้าของพื้นที่ดำเนินการจัดประชุมแสดงความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปถึงแนวทางการดำเนินงานกับประชาชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง” นางสาวกานดากล่าว นางสาวกานดาเปิดเผยต่อไปอีกว่า อีกโครงการหนึ่งที่สำคัญและเริ่มทดลองดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ถิ่นทุรกันดารอย่างแท้จริงนั้นก็คือ โครงการ White…CSR เติมความรู้สู่ห้องสมุดทั่วไทย ซึ่งในขณะนี้ได้ประสานงานไปยังฝ่ายปฎิบัติการภาคให้สำรวจความต้องการของโรงเรียนในพื้นที่ของตนเอง เพื่อจัดส่งรายชื่อมายังส่วนกลางดำเนินการจัดสรรหนังสือนอกตำราเรียนไปให้ ในขณะที่การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานรัฐ และเอกชน เช่น รร.ตชด. มูลนิธิไทยรัฐ ฯลฯ ยังดำเนินการไปตามปรกติ และที่สำคัญโครงการนี้มิได้ปิดกั้นหรือตีกรอบการทำงานเพียงเท่านี้ บริษัทฯ พร้อมเปิดกว้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพียงแจ้งความประสงค์มาจะเกิดพลังขับเคลื่อนร่วมกันทันที