Update Newsการศึกษาสังคมสังคม/CSR

ศธ. ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ชูหลักคิด “5 ร” สร้างความเข้มแข็งคุณภาพการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ มอบแนวทางการวางแผนขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล(1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ) อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยหลักคิด "5ร แห่งความสำเร็จ คือ ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ รอบด้าน และเรียบร้อย" เสริมสร้างความเข้มแข็งคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบแนวทางการวางแผนขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลอย่างมีประสิทธิภาพ แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัด ตลอดจนผู้อำนวยการโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)



โดย รมช.ศธ กล่าวว่า ให้ผู้บริหารและผู้อำนวยการโรงเรียน น้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" ซึ่งถือว่ามีคุณค่ายิ่งต่อประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านการศึกษา ทั้งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการทรงงาน พระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ที่การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี นำมาเป็นหลักในการทำงาน โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา ใช้เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต ที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รู้ รัก สามัคคี และขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่อย่างยั่งยืน


โอกาสนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้หลักคิด "5ร แห่งความสำเร็จ คือ ริเริ่ม รวดเร็ว รอบคอบ รอบด้าน และเรียบร้อย" นำไปใช้ในการทำงานวางแผนการดำเนินงาน การปรับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ครบถ้วนตามบริบทของพื้นที่และสังคม การพัฒนาครูเก่งครูดีมีจิตวิญญานความเป็นครู รวมทั้งสื่อการเรียนการสอน พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชน บ้าน วัด/มัสยิด ภาครัฐ และโรงเรียน 

สิ่งสำคัญคือการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะช่วยให้เกิดโรงเรียนที่มีคุณภาพ ทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กระจายอยู่ในทุกตำบลทั่วประเทศ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมอย่างทั่วถึง เพื่อที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชน จะได้มีโรงเรียนดี ๆ ให้การศึกษาแก่ลูกหลานในพื้นที่ โดยไม่ต้องเดินทางไปเรียนในอำเภอหรือจังหวัดอีกต่อไป ซึ่งนี่คือเป้าหมายสูงสุดของโครงการฯ


ในส่วนของการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นายสันติ แสงระวี ศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค 7 (ยะลา) เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาตามยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" จนเกิดความก้าวหน้าและบรรลุตามนโยบาย ซึ่งพบว่าสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์การศึกษาของสถานศึกษาในทั้ง 3 จังหวัดให้สูงขึ้น และประชาชนในพื้นที่ก็มีความพึงพอใจต่อการจัดการศึกษาอยู่ในระดับมาก




“ในปี 2562 กระทรวงศึกษาธิการจึงพร้อมที่จะขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาให้เป็น "ปีแห่งการเสริมสร้างความเข้มแข็งคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม" โดยดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ เน้นการบูรณาการความร่วมมือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาคเอกชน บ้าน วัด/มัสยิด ภาครัฐ และโรงเรียน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการอย่างเข้มแข็ง เชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนงานต่างๆ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้ มีความเข้มแข็งทั้งทางวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนมีงานทำ และเติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปจนถึงทางเศรษฐกิจของสังคมและประเทศต่อไป” นายสันติ แสงระวี กล่าวสรุป