Update Newsสังคม

ศูนย์เรียนรู้ฯ เชียงราย จัดโครงการยกระดับพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพอาชีพสตรี 5 จังหวัดภาคเหนือ ป้องภัยค้ามนุษย์

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว จังหวัดเชียงราย นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ศูนย์ฯ กำหนดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “เสริมพลังและพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพ เพื่อป้องภัยสตรีและครอบครัว” ให้แก่สตรีที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัวของศูนย์ฯ จังหวัดเชียงราย จำนวน 130 คน เพื่อ 1 ยกระดับศักยภาพด้านอาชีพ สร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่สตรี/กลุ่มสตรีที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัวของศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดเชียงราย 2 พัฒนามาตรฐานการดำเนินธุรกิจด้านการบริหารจัดการกลุ่ม การตลาด การพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในการจัดจำหน่าย 3) ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและสร้างความตระหนักรู้ถึงสถานการณ์ ภัยอันตรายจากปัญหาสังคม ปัญหาครอบครัว และร่วมเป็นเครือข่ายป้องกัน เฝ้าระวังปัญหาในชุมชนและพื้นที่ของตน

ภายในงาน นางพรสม เปาปราโมทย์ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “บทบาทภารกิจของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว” และได้รับเกียรติจาก นางสาวจุฬาสินี พรหมเผ่า นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา บรรยายในหัวข้อ บทบาททางสังคมของสตรีที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์สังคมปัจจุบันนำไปสู่ความเท่าเทียม เสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวได้อย่างไร ณ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม ตำบลสันทราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย

นางลักษณา อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า ผลจากการอบรมในครั้งนี้ สตรีและกลุ่มสตรีที่เข้าร่วมการอบรม กับศูนย์ฯ จะได้รับการยกระดับเพิ่มศักยภาพด้านอาชีพ นำความรู้ที่ได้รับไปใช้เป็นแนวทางบริหารกลุ่มให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีคุณภาพ สวยงาม สามารถแข่งขันในตลาดได้ ตลอดจนนำความรู้ข่าวสารข้อมูลที่ได้รับไปเผยแพร่สู่ครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อช่วยกันป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาสังคมด้านต่าง ๆ กับคนในชุมชนหรือพื้นที่ของตนอย่างมีประสิทธิผล

ปัจจุบันบทบาทของสตรีมีการพัฒนาตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีบทบาทฐานะทางสังคมมากขึ้น มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนประกอบอาชีพหารายได้แบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจภายในครอบครัวนอกเหนือจากบทบาทเดิม คือ การดูแลบ้านและสมาชิกในครอบครัว อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเสริมพลังให้สตรีด้วยการพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพให้สามารถแข่งขันได้ ด้วยการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มมูลค่าสินค้า ผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การวางแผนการตลาดและธุรกิจ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของสตรีในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สถานการณ์ วิธีการป้องกัน เฝ้าระวังปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาการค้าประเวณี การค้ามนุษย์ ฯลฯ จะทำให้สตรีได้รับการยกระดับและพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ

   

   

 ณฐพัชร์ อภิโชคกุล  เชียงราย /รายงาน