สกสว. จับมือหน่วยงานภาคีภาครัฐ-เอกชนจัดงาน TRIUP FAIR 2023 หนุนงานวิจัยและนวัตกรรมสร้างเศรษฐกิจไทย
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผนึกกำลังภาคเอกชนนำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการจัดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 (TRIUP FAIR 2023) ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของวงการวิจัยและนวัตกรรมที่รวบรวมผลงาน นักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานในระบบนิเวศที่มีกลไกสนับสนุนภาคธุรกิจกว่า 60 หน่วยงานมาไว้ในที่เดียวกัน พร้อมตั้งเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนและสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นรูปธรรม โอกาสนี้ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า จากสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของบริบทต่าง ๆ ที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก เล็งเห็นว่าทุกภาคส่วนของไทยต้องให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศให้มากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act) ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ที่ช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เร่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมของประเทศ โดยคาดหวังให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ และสามารถใช้กฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่มีการใช้กฎหมายในลักษณะนี้แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ขับเคลื่อน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว และเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมให้เกิดนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาในมิติต่าง ๆ เห็นว่าการจะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลกระทบสูงต่อประเทศนั้น ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วน โดยปีนี้จะเริ่มจากภาคเศรษฐกิจ ดังนั้น สกสว. พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ภาคเอกชนนำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลกลไกหนุนเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาคการเงิน การลงทุน จึงได้ผนึกกำลังกันจัดงาน “มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 (TRIUP FAIR 2023)” ภายใต้แนวคิด “Journey to Impact : เส้นทางจากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ในการจัดงานครั้งนี้มีจุดมุ่งเน้นสำคัญ คือ การเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันวางเป้าหมายร่วมในการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ไปสู่การสร้างผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ภายใต้ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง และ Net Zero Emission โดยมีเป้าหมายการทำงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าเส้นทางการไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมนั้น จะต้องมีกระบวนการ และมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามาหนุนเสริมในแต่ละขั้นตอนอย่างไร และภาพการทำงานใน 3 ประเด็นหลักนี้จะนำไปสู่การขยายโมเดลการทำงานในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ของประเทศต่อไป ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมได้ร่วมเป็นพันธมิตรหลักในการจัดงานครั้งนี้ โดยมองว่างาน TRIUP Fair 2023 จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนได้พบกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ได้จริง กว่า 300 ผลงาน ในส่วนของผู้ประกอบการเครือข่าย ส.อ.ท. ได้ให้ความสนใจและมาร่วมแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมกว่า 70 บริษัท ซึ่งเชื่อมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการยกระดับศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมไทยจากการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยต่อไป ประธาน ส.อ.ท. กล่าวเสริมว่า นอกจากความร่วมมือในการจัดงาน TRIUP Fair 2023 แล้ว ส.อ.ท. ยังเป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1 พันล้านบาทจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ สกสว. ในการดำเนินโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมีฝีมือด้านเทคโนโลยีให้เติบโตได้ภายในประเทศ และสามารถก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ โดยจะเชื่อมต่อธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเข้ากับ SMEs ภาคอุตสาหกรรมในเครือข่ายสมาชิกของเราที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับนโยบาย ONE FTI ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในวาระปี 2565 - 2567 นี้ และ ส.อ.ท. มุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติงานที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม ขณะที่ คุณกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะภาคเอกชนที่มีสมาชิกกลุ่ม Startup และ SMEs อยู่ทั่วประเทศว่า หน่วยงานมีพันธกิจสำคัญในการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ โดยยึดถือหลักการ CCS ได้แก่ Connect เชื่อมโยงการทำงาน ภาครัฐ เอกชน Competitive มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ Sustainable มุ่งสู่การพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน ซึ่งการจัดงาน TRIUP Fair 2023 ครั้งนี้ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ภายใต้นโยบาย 'Connect the Dots' ได้มีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์ไปยังสมาชิกที่นักธุรกิจรุ่นใหม่ (Young Entrepreneur chamber of commerce; YEC) และ ผู้ประกอบการในเครือข่ายเพื่อเข้าร่วมงานและเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาธุรกิจ (Business matching) โดยมองว่าผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะช่วยสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการได้จริง งาน TRIUP FAIR 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2566 นั้น มีกิจกรรมไฮไลท์สำคัญ อาทิ การจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยและผู้ประกอบการไทยกว่า 300 ผลงานที่พร้อมจะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ และจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจพร้อมเปิดพื้นที่การทำ Business Matching ให้แก่ผู้ที่สนใจ การจัดให้มีเวทีเสวนา และการอบรมเชิงปฏิบัติการที่เหมาะกับนักวิจัยและผู้ประกอบการโดยมีวิทยากรทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยน กิจกรรม Pitching การจับคู่ธุรกิจ การให้คำปรึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 60 หน่วยงาน อาทิ เรื่องทุนวิจัย การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ต่าง ๆ การรับรองมาตรฐานสินค้านวัตกรรม การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ บัญชีนวัตกรรม มาตรการภาษี 200% รวมถึงกลไกด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ด้านการเงิน การลงทุนเพื่อผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม และผู้สนใจที่ต้องการผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม Audition คัดเลือกผู้เข้าร่วมรายการ Shark Tank Thailand รวมถึงการจำหน่ายสินค้านวัตกรรมเพื่อกระตุ้นการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย เป็นต้น “สำหรับการจัดงานในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นกลไกที่ช่วยให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สามารถเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรม และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ และสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้จริง อีกทั้งจะทำให้สังคมเห็นว่าทุกภาคส่วนของไทยพร้อมแล้วที่จะพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าว