Update Newsสังคม

สค. ย้ำคุกคามทางเพศในการทำงานมีความผิด

ในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 เวลา 13.00 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน 
 

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การคุกคามทางเพศในการทำงานเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ผู้กระทำมักมีอำนาจมากกว่าผู้ถูกกระทำ และสามารถให้คุณให้โทษกันได้ ที่แล้วมาผู้ถูกกระทำจึงมักไม่กล้าพูดถึง รวมถึงไม่กล้าเอาผิดผู้กระทำ การคุกคามทางเพศจึงยังคงเป็นปัญหามาอย่างต่อเนื่อง บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่า การคุกคามทางเพศในการทำงานมีลักษณะอย่างไรบ้าง จึงขอบอกให้เข้าใจตรงกันว่าการคุกคามทางเพศในการทำงาน จะมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ 

คือ 1.การสร้างบรรยากาศในที่ทำงานที่ไม่พึงปรารถนา ได้แก่ การใช้วาจาวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างหน้าตา แซว พูดตลกลามก ล้อเลียน ดูหมิ่นเหยียดหยามในความเป็นหญิง ความเป็นชาย หรือเพศสภาพอื่น รวมถึงรสนิยมทางเพศ หรือแสดงกิริยา เช่น มองด้วยสายตาโลมเลีย ส่งจูบ ผิวปาก จับมือถือแขน ถูกเนื้อต้องตัว หรือการแสดงสิ่งของ ภาพลามาก ปฏิทินโป๊เปลือย ภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

ซึ่งรูปแบบนี้ ในส่วนของข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงาน ก.พ. ได้ออกกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 กำหนดให้การกระทำในลักษณะนี้ เป็นการกระทำผิดวินัย 

และ 2. การล่วงละเมิดแบบมีการแลกเปลี่ยนในงาน ได้แก่ การใช้อำนาจให้คุณให้โทษ เพื่อให้ได้มาซึ่งความพึงพอใจทางเพศสัมพันธ์ เช่น การร่วมประเวณี การสัมผัสเนื้อตัวร่างกาย หรือการกระทำอื่นใดทางเพศ รูปแบบนี้ มีกฎหมายที่กล่าวถึงอยู่ ได้แก่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558 แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 กำหนดให้การกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

และมาตรา 397 กำหนดให้การรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือหากกระทำในสาธารณสถาน ต่อหน้าธารกำนัล หรือส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ รวมทั้งหากกระทำโดยผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้เสนอมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 สาระสำคัญโดยสรุป คือ 1. หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมย์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคล 

รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ และจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และ 2. การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ ไปจนถึงการดำเนินงานอย่างจริงจังตามแนวปฏิบัติฯ ที่วางไว้ ไปจนถึงการตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วยประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณี บุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี บุคคลที่มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นที่ประจักษ์ 

พร้อมทั้งได้จัดส่งมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานให้ทุกหน่วยงาน และได้ติดตามผลการดำเนินงานมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อเสนอคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่าเพศอย่างน้อยปีละครั้ง โดยได้มีหนังสือสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ด่วนที่สุด ที่ พม 0503/ว 3560 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2558 เพื่อสอบถามเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในหน่วยงาน และหนังสือสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ด่วนที่สุด ที่ พม 0503/ว 2351 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2559 ขอความร่วมมือรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 
 

นับตั้งแต่มี มติ ครม. ดังกล่าว พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว หากมีเหตุเกิดขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ถูกกระทำ ในอันที่จะได้รับการคุ้มครอง นอกจากนั้น กรณีผู้ถูกกระทำโดยเฉพาะผู้หญิง มีแนวทางในการต่อสู้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบอกให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วยวาจา หรือการบอกเพื่อนร่วมงานทราบหรือปรับทุกข์ 

ในกรณีนี้นำไปสู่การรวมตัวเพื่อแก้ไขปัญหา นอกเหนือจากการรับเรื่องราวร้องทุกข์ภายในหน่วยงานของตนเองแล้ว ยังมีหน่วยงานภายนอกซึ่งสามารถรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้อีกทางหนึ่งด้วย ได้แก่ สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และในส่วนของ พม. เอง ก็ยังมีศูนย์บริการช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร 1300 ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง อีกด้วย นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย