สค. เดินหน้าพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว
เช้าวันที่ 28 มิ.ย. 61 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา ณ โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ สะพานขาว กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการ (ศปก.) เพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ครั้งที่ 2 พร้อมทั้งให้โอวาทมอบนโยบาย และบรรยายเรื่องแนวทางการดำเนินงานของ ศปก.ระดับจังหวัด กล่าวรายงานโดย นายโสภณ แก้วล้อมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ผอ.ศปก.สค.) การอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพทักษะการปฏิบัติงานและเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการติดตามผลการดำเนินงานคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย ผู้บริหาร วิทยากร เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจังหวัด เจ้าหน้าที่ ศปก.สค. และผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสิ้น 98 คน นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทุกประเทศทั่วโลก จนเกิดเป็นกระแสสากลที่ต่างก็ตื่นตัว ตระหนัก และให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวถือเป็นปัญหาสำคัญ จำเป็นต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนและสังคม สำหรับประเทศไทย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ครอบครัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ก็ยังพบปัญหาว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังจะเห็นได้จาก ข้อมูลสถิติของศูนย์ปฏิบัติการ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก.สค.) ของ สค. เอง ที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้บันทึกข้อมูลความรุนแรงในครอบครัวเข้ามาในเว็บไซต์ www.violence.in.th โดยรวมพบว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 1,001 ราย ในปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1,309 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 308 ราย สำหรับในปีงบประมาณ 2561 ได้สรุปข้อมูลในช่วงระยะเวลา 6 เดือน (ต.ค. 60 – มี.ค.61) พบว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวแล้ว จำนวน 711 ราย ซึ่งนั่นทำให้เห็นแนวโน้มว่าอาจจะเพิ่มขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2560 ได้อีกด้วย นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น สาเหตุส่วนใหญ่มาจาก เมาสุรา ยาเสพติด รองลงมาคือ บันดาลโทสะ หึงหวง และปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหา คือ อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจในการตัดสินใจ สามารถควบคุมอีกฝ่ายหนึ่งได้ การใช้ความรุนแรงจะเป็นหนทางที่จะสามารถยุติปัญหาได้ เรื่องสุรา ยาเสพติด หึงหวงอาจเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงขึ้น เหล่านี้ สค. จึงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้ง 76 จังหวัด ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งชุมชน และสหวิชาชีพในพื้นที่ เช่น ตำรวจ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ อัยการ และศาล เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบุคลากร และหน่วยงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนภารกิจในส่วนภูมิภาค ที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติงาน และเสริมการทำงานเชิงรุก “การบูรณาการหน่วยงานภายในและภายนอกในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ และการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างมีเอกภาพ เสริมสร้างและพัฒนาระบบงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้ง 76 จังหวัด โดยมีภารกิจป้องกันพิทักษ์สิทธิ คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัว เพื่อรักษาสถานภาพให้ครอบครัวให้กลับมามีความสุข ถือเป็นเป้าหมายในการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทั้ง 76 จังหวัด” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย