สค. เร่งจัดทำยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.30 น. ณ โรงแรมปิคนิค ซอยรางน้ำ กรุงเทพมหานคร นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 กล่าวรายงานโดย นางพัชรี อาระยะกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งการประชุมในวันนี้ ในภาคเช้าได้มีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “สื่อกับทิศทางการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ" โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหลายภาคส่วนมาร่วมเสวนา ได้แก่ นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย นางดวงพร สัจจาพิทักษ์ ผู้อำนวยการส่วนเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสตรีเพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นางสาวมณสิการ รามจันทร์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย คอลัมน์สตรี ดำเนินรายการโดย นางสาวชเนตตี ทินนาม อนุกรรมการด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ส่วนในภาคบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มระดมความคิด เรื่อง “ยุทธศาสตร์การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558” โดยมีทีมสื่อมวลชนเป็นวิทยากรประจำกลุ่ม โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์ สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวมจำนวน 50 คน นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ผลักดันให้มีกฎหมายพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ขึ้น เพื่อให้บุคคลที่ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกละเมิดสิทธิได้รับการคุ้มครอง แม้ประเทศไทยจะเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจะรับรองสิทธิและให้ความคุ้มครองแก่บุคคลอย่างเท่าเทียมกัน แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงเกิดขึ้น สาเหตุหลักมาจากเจตคติที่ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้เกิดกรอบความคิดในเรื่องบทบาทหน้าที่ และการปฏิบัติตัวที่แตกต่างกันตามเพศ ซึ่งความแตกต่างดังกล่าวนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และส่งผลให้บุคคลได้รับสิทธิและโอกาสที่แตกต่างและไม่เท่าเทียมกันเพียงเพราะมีเพศที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ตัวบทกฎหมายต่าง ๆ หลายฉบับก็ยังไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายหรือมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือมีช่องทางให้ผู้ถูกเลือกปฏิบัติซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงและผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดได้มีโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรม นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้สามารถนำไปกำหนดแนวทางปฏิบัติในการทำงานรวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้อง ประชาชนเองก็ต้องรู้สิทธิ และใช้สิทธิของตนเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม จึงต้องเผยแพร่ให้หน่วยงานและสังคมได้รับรู้อย่างกว้างขวาง คลอบคลุม ทั่วถึง เพื่อให้เกิดความตระหนักในเรื่องของสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศ ไม่กระทำการอันใดที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการกำหนดนโยบาย มาตรการ กฎ ระเบียบ หรือวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ในวงกว้าง และสามารถนำประเทศไทยไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างแท้จริง นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย