Update Newsสังคม

สค. เร่งเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว

ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 16.30 น. ณ ห้องราชาวดี 1 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการอบรม มอบนโยบายและบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กล่าวรายงาน โดย นายโสภณ แก้วล้อมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว การอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพทักษะการปฏิบัติงานและเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการติดตามผลการดำเนินงานคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ผ่านมา 


   

   

 นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน ผลักดัน และขับเคลื่อนการดำเนินงานในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบุคลากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัวจังหวัด 76 จังหวัด 

และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (ศปก. สค.) ทำหน้าที่ในเสริมสร้างและพัฒนาระบบงานของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว 76 จังหวัด โดยมีภารกิจป้องกันพิทักษ์สิทธิ คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยาผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตลอดจนบำบัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้เป็นไปตามนโยบายและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 
 

นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า การขับเคลื่อนการดำเนินงานคุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีความเกี่ยวข้องกับบุคลากร และหน่วยงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการขับเคลื่อนภารกิจในส่วนภูมิภาค ที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดมาตรฐานการปฏิบัติงาน 

ซึ่ง สค. ไม่สามารถดำเนินงานได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งชุมชน และสหวิชาชีพในพื้นที่ เช่น ตำรวจ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ อัยการ และศาล และเสริมการทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานภายในและภายนอกในการกำหนดแนวทางปฏิบัติ และการประสานความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้มีเอกภาพมากยิ่งขึ้น 
 

การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในวันนี้ มุ่งมั่นให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกลับไปช่วยเหลือครอบครัวในพื้นที่ให้ปราศจากความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือหากประชาชนพบเห็นการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว สามารถแจ้งเหตุหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 ทั่วประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย