สดร. ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2560 “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” ตั้งแต่เวลาประมาณ 20.30 น. คืนวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคในบริเวณฟ้ามืดสนิท พร้อมจัดกิจกรรมนำประชาชนนอนนับฝนดาวตกที่ยอดดอยอินทนนท์ ส่วนภาคอื่นร่วมกิจกรรมได้ที่หอดูดาวภูมิภาคโคราช หอดูดาวภูมิภาคฉะเชิงเทรา และลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา สงขลา
ทั้งนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม 2560 สังเกตได้ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น. จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ คืนวันที่ 14 ธันวาคมยังตรงกับช่วงข้างแรม ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้เกือบตลอดทั้งคืน ซึ่งดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาเช้ามืดวันที่ 15 ธันวาคม เวลาประมาณ 03:55 น.
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้ว ช่วงเดือนธันวาคมยังมีฝนดาวตกชุดอื่นให้ชมกันอีก เช่น ฝนดาวตกพัพพิดส์-เวลิดส์ ในคืนวันที่ 7 ธันวาคม อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเออร์ซิดส์ ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง ฯลฯ ถือเป็นเดือนส่งท้ายปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง
ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่ มีทิศทางพุ่งมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น
การชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงไฟรบกวน จะสังเกตเห็นดาวตกที่มีความสว่างและสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจมาก ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยสังเกตการณ์ ดูได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งการชมฝนดาวตกให้สบายที่สุดนั้น อาจใช้วิธีนอนรอชมหรือนั่งบนเก้าอี้ที่สามารถเอนนอนได้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการเมื่อยคอ เนื่องจากการรอชมฝนดาวตกจะใช้ระยะเวลายาวนานมาก หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนดาวตกเจมินิดส์จะปรากฏให้เห็นในทิศทางดังกล่าว ดร.ศรัณย์กล่าวปิดท้าย
ด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ได้แนะนำเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตกว่า “แนะนำให้ใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ ปรับค่าความไวแสงสูงๆ ตั้งแต่ ISO 1600 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการบันทึกภาพฝนดาวตก ตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง และใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อให้สามารถเก็บภาพท้องฟ้าให้ได้กว้างที่สุด หันหน้ากล้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นทิศของศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตก บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งจะเริ่มโผล่ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ของวันที่ 14 ธันวาคม เป็นต้นไป”
สดร. ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ นำประชาชนกว่าร้อยคนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม “เปิดฟ้า...ตามหาดาว” ครั้งแรกในฤดูหนาวนี้ ร่วมสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ณ จุดสูงสุดแดนสยาม เป็นจุดที่ท้องฟ้าดีที่สุดในประเทศไทย ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสุดขั้ว บริเวณยอดดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และตั้งจุดสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ อีก 3 จุด กระจายไปใน 3 ภูมิภาค ณ โคราช ฉะเชิงเทรา และสงขลา เชิญชวนประชาชนที่สนใจร่วมกิจกรรมนับฝนดาวตกในคืนวันที่ 14 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 18:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามจุดต่าง ๆ ดังนี้
1) นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (สอบถามโทร. 086-4291489)
2) ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (สอบถามโทร. 084-0882264)
3) สงขลา – บริเวณลานชมวิวนางเงือก ริมหาดสมิหลา จังหวัดสงขลา (สอบถามรายละเอียดโทร. 095-1450411)
นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายโรงเรียนในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า อีกกว่า 160 แห่งทั่วประเทศ ก็ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ในคืนดังกล่าวด้วยเช่นกัน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
Post Views: 36