Update Newsบทความพิเศษสิ่งแวดล้อม

สถานการณ์ขยะในไทย ส่อล้นเมือง

ปัญหาขยะล้นเมืองนับเป็นปัญหาสำคัญที่เรื้อรังมานาน โดยในส่วนของขยะมูลฝอยในประเทศไทยพบว่ามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา มีปริมาณขยะเกิดขึ้นจำนวนกว่า 27.8 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.64% จากปีที่ผ่านมา ในจำนวนขยะทั้งหมด มีการคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ด้วยการรีไซเคิลและทำปุ๋ยอินทรีย์ เพียง 1 ใน 3 หรือ 9.58 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลือถูกนำไปกำจัด โดยยังเป็นการกำจัดอย่างไม่ถูกต้องสูงถึง 7.36 ล้านตัน



จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ จากปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในปี 2561 จำนวน 27.8 ล้านตัน พบพลาสติกในขยะชุมชนประมาณ 2 ล้านตัน สามารถนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลประมาณ 500,000 ตัน หรือประมาณ 25% (ส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก) ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นขยะพลาสติก 1.5 ล้านตัน (ประกอบด้วยถุงพลาสติกประมาณ 1.2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นพลาสติกอื่นๆ เช่น แก้ว กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก) ประกอบกับในปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยที่มีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 7.36 ล้านตัน โดยเฉพาะการกำจัดแบบเทกองหรือเผากลางแจ้งในสถานทีกำจัดขยะมูลฝอย การกองทิ้งเอาไว้หรือลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือลักลอบทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้มีขยะมูลฝอยจากบกปะปนและตกค้างอยู่ในทะเล รวมถึงการทิ้งขยะในทะเลโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก จึงส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเลดังที่มีข่าวการเสียชีวิตของสัตว์ทะเลจำนวนมากจากขยะพลาสติก

ในด้านสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยก็เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย โดยในปี 2561 มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เปิดดำเนินการ 2,789 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่มีระบบการจัดการขยะอย่างถูกต้องเพียง 595 แห่ง หรือคิดเป็น 21% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 2,171 แห่ง เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยซึ่งกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้อง ซึ่งประกอบด้วยการเทกอง การเผากลางแจ้ง  และการใช้เตาเผาขนาดเล็กซึ่งไม่มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ ยังมีขยะบางส่วนที่ไม่ได้รับการจัดการในสถานที่กำจัดขยะอย่างเหมาะสม เช่นถูกกองทิ้งเอาไว้หรือลักลอบทิ้งในพื้นที่สาธารณประโยชน์ หรือลักลอบทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ

จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ด้านขยะของประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีการจัดการดูแลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ซึ่งหากไม่มีการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ นอกจากจะส่งผลเป็นปัญหาต่อการเกิดมลพิษสะสมต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะส่งผลถึงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน สูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในแง่ของที่ดินและการนำวัสดุกลับไปใช้ใหม่ และเป็นภาระต่องบประมาณของภาครัฐในการจัดการกับขยะดังกล่าว