สถาบันฯสิ่งทอเปิดตัวฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า Smart Fabric เพื่อภาคประชาชน สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ออกฉลากคุณภาพหน้ากากผ้า Smart Fabric ดึงเกณฑ์มาตรฐานสากล ประยุกต์พัฒนาหลักเกณฑ์ เน้นการดักจับฝุ่นและละอองไอจาม การซึมผ่านได้ของอากาศ ความคงทนของสี คุณภาพของสีที่ใช้ย้อมรวมทั้งผ้าที่ใช้ต้องไม่เป็นสารก่อมะเร็ง และการสะท้อนน้ำ รวม 5 เกณฑ์หลักสำคัญ รับรองและตรวจสอบโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม (25 มี.ค.63) ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส Covid-19 ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบให้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัยทั่วไป ที่ใช้วัสดุชนิด ผ้าไม่ทอ ไม่ถักที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Non woven) มีความต้องการใช้สูง มีราคาสูงขึ้นและขาดตลาด ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้หน้ากากผ้าซึ่งเป็นวัสดุทางเลือก และเกิดความต้องการอย่างทวีคูณ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในฐานะหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้จัดเสวนากลุ่ม (Focus group) โดยเชิญหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งสมาคม และสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมหารือทิศทางการพัฒนาเกณฑ์ข้อกำหนดประสิทธิภาพหน้ากากผ้าสำหรับภาคประชาชน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารเครื่องหมายคุณภาพสิ่งทอไทย โดยคณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบในหลักเกณฑ์และอนุมัติให้ใช้เครื่องหมาย Smart Fabric หน้ากากผ้าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 โดยต้องผ่านการทดสอบและมีประสิทธิภาพสามารถใช้งานซ้ำและผ่านการซักล้างอย่างน้อย 10 ครั้งขึ้นไป ดังนี้ 1. สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก 0.5 ไมครอน ไม่น้อยกว่า 65% โดยคุณสมบัติดังกล่าวยังสามารถกัน PM 2.5 ได้ (หัวข้อทดสอบ Sub-micron particulate filtration efficiency at 0.5 micron โดยข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ คือ >65%) 2. การซึมผ่านได้ของอากาศ (1 – 50 ซีซี ต่อพื้นที่ตารางเซนติเมตรต่อวินาที) โดยหากอากาศยิ่งผ่านได้มากประสิทธิภาพการป้องกันฝุ่นละอองไอจามก็จะยิ่งน้อย (หัวข้อทดสอบการผ่านได้ของอากาศ โดยข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพ คือ 1 < X <50) 3. ความคงทนของสีต่อการซักอยู่ระดับปานกลาง (หัวข้อการทดสอบ ความคงทนของสีต่อการซัก อ้างอิงมาตรฐานสากลโดยใช้เกณฑ์ลำดับที่ 1 สีตกมากจนถึงลำดับที่ 5 คือสีไม่ตกเลย) โดยข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพคือ >3 4. คุณภาพของสีสารเคมีที่ใช้ย้อมและคุณภาพผ้าต้องปลอดภัยไม่มีสารก่อมะเร็ง (หัวข้อการทดสอบ ปริมาณสีเอโซ และการทดสอบฟอร์มัลดีไฮด์) 5. การสะท้อนน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจอีกหนึ่งขั้นของการสวมใส่ (หัวข้อการทดสอบการสะท้อนน้ำ) “โดยจะมีกระบวนการทดสอบและตรวจสอบสถานที่ผลิต สุ่มตัวอย่าง จะใช้เวลาประมาณ 7 วันทำการ เมื่อผู้ประกอบการได้ทดสอบผ่านหลักเกณฑ์ดังกล่าว และได้รับการอนุมัติให้ใช้สัญลักษณ์คุณภาพ Smart Fabric ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ในการใช้ป้ายแขวน (Hang tag) Smart Fabric แสดงการทดสอบและคุณสมบัติพิเศษที่ได้ผ่านการรับรอง บนผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้า หรือบนบรรจุภัณฑ์ แผ่นโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์บนสื่อต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นการสื่อสารถึงผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หน้ากากผ้าที่มีความปลอดภัย โดยทันทีที่ผลการทดสอบออกสถาบันฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ใน เวปไซต์ www.thaitextile.org facebook : Thailand Textile Institute ซึ่งเป็นช่องทางหลัก รวมทั้งช่องทางอื่น ๆ” ดร.ชาญชัย กล่าว สำหรับสัญลักษณ์คุณภาพ Smart Fabric เป็นสัญลักษณ์ภาคสมัครใจ และได้พัฒนาต่อยอดจากข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา สถาบันฯสิ่งทอ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ นำผ้าที่จะนำไปผลิตหน้ากากมาทดสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน ว่าจะมีความปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพในอนาคต โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยบริการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 512-4 , 712 หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaitextile.org/smartfabric