สทนช. ควบคุมการระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาพร้อมเร่งเก็บน้ำช่วงปลายฤดูฝนส่งต่อฤดูแล้ง
สทนช. จัดการท่วม-แล้ง คุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,600 ลบ.ม. /วินาที ย้ำการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการนำน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ พร้อมสั่งเร่งนำน้ำส่วนเกินเข้าสู่บึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุดเพื่อเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง เผยเตรียมเสนอ คกก.ลุ่มน้ำชีปรับเพิ่มการระบายเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อรักษาความมั่นคงเขื่อน ชี้หัวใจสำคัญต้องบริหารจัดการน้ำในภาพรวมโดยไม่แยกส่วนกัน วันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้ภาพรวมปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 9% ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกลงมาค่อนข้างมากและกระจายตัวทั่วประเทศ จากอิทธิพลของ ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 35 แห่ง รวม 3,364 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และในช่วงหลังจากนี้คาดว่าฝนจะยังคงกระจายตัวค่อนข้างดี แต่พื้นที่ตอนบนและตอนกลางของประเทศจะมีฝนลดลง แต่จะมีฝนตกมากในด้านตะวันตกและพื้นที่ภาคใต้ ก่อนที่ฝนจะกลับมาเพิ่มมากขึ้น ในช่วงวันที่ 16 ต.ค. 66 เป็นต้นไป เนื่องจากร่องมรสุมยังคงมีการเลื่อนตัวขึ้น-ลง โดยคาดว่าในช่วงวันที่ 11-17 ต.ค. 66 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเพิ่มเติมในอ่างฯ ใหญ่ เพิ่มอีก 2,650 ล้าน ลบ.ม. โดยจะเร่งกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งที่จะมาถึงนี้ “ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้สถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งดีขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่คาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 80% ของความจุเก็บกัก ในขณะที่บึงบอระเพ็ดมีปริมาณน้ำแล้ว กว่า 60 ล้าน ลบ.ม. เริ่มใกล้เคียงกับแผนที่วางไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีเป้าหมายจะสูบน้ำเข้าบึงบอระเพ็ดให้ได้ 100 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้จึงได้มอบหมายให้ สทนช.ภาค 2 กรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในการหาแนวทางดึงน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยมและ แม่น้ำน่านไปกักเก็บในบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมรับมือรับมือสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยลดมวลน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา ตามแผนควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ให้เกิน 1,600 ลบ.ม./วินาที และให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำชี ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำชีเพื่อพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อรักษาความมั่นคงของเขื่อน และให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำตลอดลุ่มน้ำชี รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำส่งต่อถึงเขื่อนลำปาว เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และในส่วนของลำน้ำมูล บริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 จ.อุบลราชธานี มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเร่งคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการหน่วงน้ำในช่วงตอนบนและเร่งระบายน้ำให้ได้มากที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก่อนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า สำหรับการนำน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำเพื่อลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จำนวน 11 ทุ่ง นั้น กรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการระดับน้ำให้ส่งผลกระทบในพื้นที่น้อยที่สุดและประชาชนยอมรับได้ โดยจะต้องระบายน้ำจาก แต่ละทุ่งลงสู่ลำน้ำได้อย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะเป็นการบริหารจัดการแบบบูรณาการ และให้ความสำคัญกับกระบวนการ มีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง “หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ คือการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการน้ำในภาพรวมโดยไม่แยกส่วน และคำนึงถึงผลกระทบในทุกพื้นที่ โดยขณะนี้ สทนช. ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อบูรณาการความร่วมมือให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งแม้ว่าในช่วงปลายฤดูฝนนี้จะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก แต่ภาครัฐก็ยังคงมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและบริหารจัดการน้ำตามแผนอย่างเคร่งครัดโดยไม่ประมาท เนื่องจากประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญระดับปานกลาง โดย สทนช. จะมีการเสนอมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 26 ต.ค. นี้ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งที่จะมาถึงอย่างต่อเนื่อง” ดร.สุรสีห์ กล่าวในตอนท้าย.