สทนช.เร่งบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง รับมือภาวะเอลนีโญ
สทนช.รับนโยบาย รองนายกฯ 100 วัน ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พื้นที่น้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก พร้อมเร่งบริหารจัดการน้ำ ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง รับภาวะเอลนีโญ เร่งสร้างแก้มลิงในทุ่งกุลา ช่วยพื้นที่ได้ถึง 3 จังหวัด แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างยั่งยืน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และทะเลสาบทุ่งกุลา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ของจังหวัดสุรินทร์ พร้อมแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ทั้งนี้พบว่า ในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง มี 3 ปัญหา คือน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำในบางพื้นที่ รวมไปถึงจังหวัดร้อยเอ็ดและมหาสารคาม บางส่วน ในขณะเดียวกันได้พิจารณาแหล่งน้ำ ระบบประปา ที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งทางสหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาด เพื่อการอุปโภคบริโภครวมไปถึง สาธารณูปโภคด้านการสุขาภิบาล โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งจากการที่ท่านได้ไปร่วมประชุมยูเอ็นที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับแผนการจัดการน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางด้านน้ำซึ่งจะมีแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการรองรับพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมถึงป้องกันอุทกภัย และที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มริมน้ำมูล ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่ง เวลามีน้ำหลากจึงต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ นอกจากนี้รวมถึงการฟื้นฟูอนุรักษ์ดูแลระบบนิเวศที่ในบางพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องป่าเสื่อมโทรมและบางลุ่มน้ำที่มีปัญหาคุณภาพน้ำบางช่วง ซึ่งต้องมีการดูแล นอกจากนี้จะมีระบบตรวจวัดระดับน้ำในการแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเวลาเกิดอุทกภัย เพื่ออพยพขึ้นที่สูงได้ทันที ซึ่งบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้มีการศึกษาแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลตอนกลาง ร่วมกับ สทนช.เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ ทั้งนี้ยอมรับว่า จังหวัดสุรินทร์มีปริมาณน้ำมาก ในบางพื้นที่ บางพื้นที่ก็มีปริมาณน้ำน้อย โดยเฉพาะทุ่งกุลาที่มีปัญหาแหล่งเก็บกักน้ำน้อย และในลำน้ำมูลเวลามีน้ำหลากมามากๆ ก็ไม่มีที่เก็บเพียงพอ ทั้งนี้ในฤดูแล้งจึงอาจมีปัญหาในเรื่องของปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอได้ ดังนั้นในส่วนของ สทนช. จะดำเนินการในส่วนทุ่งกุลา จะดำเนินการในลักษณะแก้มลิง ในลำน้ำพลับพลา ที่ไหลผ่านทุ่งกุลา และในพื้นที่ของทุ่งกุลาเองจะมีการขุดลอกคูคลองปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมไปถึงการผันน้ำเชื่อมโยงลำน้ำมูลและลำน้ำพลับพลา เพื่อเก็บน้ำในฤดูแล้ง และลดปัญหาอุทกภัย เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการทะเลสาบทุ่งกุลา ต.ไพรเขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาแก้มลิง ใช้สำหรับรองรับน้ำจากโครงการผันน้ำเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดอนและพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกพื้นที่ทำเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำไว้ใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้ง ตั้งแต่ปี 2550 โดยขุดพื้นที่กว่า 750 ไร่ จัดเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยไร่นา สามารถเก็บกักน้ำได้ 1.9 แสน ลบ.ม. ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นแหล่งรองรับน้ำเชื่อมโยงกับโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำมูลตอนกลางได้เป็นอย่างดี นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการทำเกษตร ยังมีการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมาก มีกิจกรรมทางน้ำไว้รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นโครงการนิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำหน่ายสินค้าทุ่งกุลาร้องไห้ นำรายได้เข้าชุมชนอีกทางหนึ่ง โดย สทนช.จะใช้โครงการทะเลสาบทุ่งกุลานี้เป็นต้นแบบนำไปขยายผลเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง พัฒนาศักยภาพพื้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เป็นแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญของจังหวัด สุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบอุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปาให้กับชุมชนเมือง ซึ่งเป็นการบริหารจัดการร่วมกันกับอ่างเก็บน้ำอำปึล ซึ่งก็มีปริมาณน้ำพอสมควร แต่ต้องไม่ประมาทกับสถานการณ์เอลนิโญไปอีก 2 ปี จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างดี ไม่เฉพาะช่วงฤดูแล้งปีนี้อย่างเดียว แนวโน้มปริมาณฝนปีหน้าจะน้อย ดังนั้นจึงอยากขอประชาชน รณรงค์ การประหยัดน้ำ และทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจการบริหารน้ำรองรับเอลนิโญ จนไปถึงปี 67 ด้วย เลขาธิการ สทนช. กล่าวถึงการเข้ารับมอบนโยบายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า นายภูมิธรรม ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก โดยให้การบ้าน สทนช. ว่า 100 วันนี้ ต้องมีโครงการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ดำเนินการให้แลวเสร็จ 100 วัน ให้เป็นรูปธรรม เช่น การขุดลอกแหล่งน้ำ การกำจัดวัชพืช เพื่อลดการสูญเสียน้ำระดับหนึ่ง และการขับเคลื่อนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง การสร้างบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพื่อนำน้ำมาใช้ ทั้งนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ให้รัฐบาลพิจารณาส่งเสริม ที่สำคัญ ที่สทนช. ขอให้ประชาชนงดทำนาปรัง หรือนาปีต่อเนื่อง ได้มีการเสนอกับรัฐบาล และรองนายกฯ ว่าต้องมีอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร