กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ ร่วมติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
วันนี้ (15 มกราคม 2562) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ รพ.นพรัตนราชธานี แถลงข่าวการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ ร่วมปฏิบัติงาน และประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ เพื่อติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน โดยยกระดับจาก EOC ของกรมอนามัยที่เปิดมาตั้งแต่เริ่มพบปัญหาฝุ่นละออง เมื่อเดือนธันวาคม 2561 พร้อมทั้งกรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด และจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งมีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยงและป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ได้ออกประกาศค่าเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กแบ่งเป็น 5 สีตามระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามค่าคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ มีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง โดยสีส้มและสีแดงเป็นสีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยคุณภาพอากาศระดับสีส้ม (เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) คือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงให้ลดการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่หากคุณภาพอากาศอยู่ในระดับสีแดง (เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) เป็นระดับที่มีผลต่อสุขภาพ ประชาชนทั่วไปควรลดหรืองด และกลุ่มเสี่ยงให้งดการทำกิจกรรมและออกกำลังกายกลางแจ้ง สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กเมื่อออกนอกบ้าน หากมีอาการผิดปกติเช่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็น
สำหรับการเลือกสวมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้น ขอให้ประเมินความเสี่ยงของตนเองว่ามีความเสี่ยงสูงหรือไม่ เช่น อาศัยอยู่ในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีค่า PM 2.5 สูง และกลุ่มคนที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ ต้องทำงานหนักกลางแจ้งเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ตำรวจจราจรที่ทำงานกลางแจ้ง วินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนงานที่ทำงานก่อให้เกิดฝุ่น เป็นต้น ควรสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ ตั้งแต่มาตรฐาน N95 ขึ้นไป และใส่ให้ถูกวิธีจึงจะป้องกันได้ กลุ่มที่มีโรคประจำตัวได้แก่ หอบหืด โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ควรขอคำปรึกษากับแพทย์ประจำตัว
Post Views: 51