นพ. อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ ร่วมเป็นวิทยากรอภิปรายในหัวข้อ : เค็มน้อยอร่อยได้ ห่างไกล NCDs
ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงาน มหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ (NCD Forum 2017) เป็นการประชุมวิชาการเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรด้านการแพทย์และสารธารณสุขในการป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อในระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บูรณาการโรคไม่ติดต่อยุคไทยแลนด์ 4.0” (NCD Thailand 4.0 : Moving forward) หลังพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากร 3 ใน 4 มีสาเหตุจากโรคไม่ติดต่อ ณ ห้อง แกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันก่อน
นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกวันนี้สภาวะการทานเค็มของคนไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง เราจึงต้องช่วยกันลดเค็ม ผมคิดว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยกันก็คือ ต้องใช้กลไกขับเคลื่อนที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์และความมีส่วนร่วม เพราะว่าจะให้ กระทรวงฯ ทำอยู่ด้านเดียวไม่ได้ สิ่งที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือ สมัชชาสุขภาพ ซึ่งเป็นความร่วมมือของส่วนต่างๆ ที่มีอยู่ในทุกท้องที่ ที่จะทำให้รู้ว่า เมื่อบริโภคเค็มมากๆ แล้ว จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้มากขึ้น คนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีโอกาสป่วยมากขึ้น คนที่ป่วยแล้ว ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น
ดังนั้นจึงต้องใช้กลไกของสมัชชาสร้างความรับรู้ และพยายามปรับพฤติกรรมการบริโภคเค็มในชุมชน ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงฯ กำลังเสนอยุทธศาสตร์ลดเกลือลดเค็มเข้าสู่ ครม. เพื่อจะให้ส่วนราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อแก้ไขการบริโภคในประชาชนคนไทยต่อไป”
ขณะที่ ดร. ยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคคนหนึ่ง ในสภาวะการณ์เช่นนี้ ทำให้ทราบว่า การทานรสเค็มจัดของคนสมัยนี้ ช่างน่ากลัวเหลือเกิน และมีปริมาณมากขึ้น นโยบายของประเทศไทยก็พยายามจะลดการทานอาหารเค็มให้มากยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ เวลาเข้าครัว อ.ยิ่งศักดิ์ ก็จะพยายามเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญญาลักษณ์เพื่อสุขภาพเป็นอันดับแรก และจะพยายามทำอาหารที่มีความเค็มลดลง โดยจะไม่พยายามบอกแล้วว่า อาหารจานนี้อร่อย แต่จะบอกว่า อาหารจานนี้ควรรับประทาน เพราะว่าไม่เค็ม เพื่อเป็นการช่วยรณรงค์ให้คนทานเค็มกันน้อยลงครับ”
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
Post Views: 47