สธ.ร่วมกับ”ศิริราช” เปิดตัว “บางกอกน้อยโมเดล”ต้นแบบคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดตัวโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” เพื่อเป็นต้นแบบการค้นหาคัดกรอง การรักษา ลดการแพร่กระจาย เฝ้าระวังและติดตามการติดเชื้อและการป่วยวัณโรคโดยเน้นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค วันนี้ (วันที่ 26 สิงหาคม 2562) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กรุงเทพฯ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อม นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พญ.เอมอร สิริพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผู้อำนวยการกองวัณโรค กรมควบคุมโรค ร่วมเปิดตัวโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดกรองและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคในเขตบางกอกน้อย ให้ผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว ลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน เฝ้าระวังและติดตามการติดเชื้อและการป่วยวัณโรคในกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มโครงการบางกอกน้อยโมเดลขึ้นในปี 2558 เพื่อร่วมกับเครือข่ายชุมชนบางกอกน้อย พัฒนาต้นแบบระบบการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนบางกอกน้อย มุ่งหวังให้ชาวบางกอกน้อยมีสุขภาพดีขึ้น โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเร่งรัดยุติวัณโรคและวัณโรคดื้อยาของประเทศไทย ร่วมกับกรมควบคุมโรคเพื่อร่วมขับเคลื่อน ป้องกัน ดูแล รักษา และควบคุมวัณโรคตามแผนปฏิบัติการวัณโรคระดับชาติ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค ซึ่งเป็นที่มาของการร่วมมือกันในโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” ในครั้งนี้ เพื่อร่วมสนับสนุนและช่วยเหลือกัน ระหว่างกองวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการดูแลประชาชนเขตบางกอกน้อยประมาณแสนกว่าคน เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุมด้วยการคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ด้าน นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยและทั่วโลก โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้กำหนดยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค โดยมีเป้าหมายสำคัญคือลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อประชากรแสนคนภายในปี 2578 ทั้งนี้ประเทศไทยได้กำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ.2560-2564 มีเป้าประสงค์เพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรคให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ โดยมุ่งเน้น “ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบเครือข่าย นโยบายมุ่งมั่น สร้างสรรค์นวัตกรรม” สำหรับการดำเนินโครงการบางกอกน้อยปลอดวัณโรค “บางกอกน้อยโมเดล” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือ พัฒนาให้เขตบางกอกน้อยเป็นต้นแบบในการค้นหาคัดกรอง การรักษา ลดการแพร่กระจาย เฝ้าระวัง ติดตามการติดเชื้อและการป่วยวัณโรค โดยเน้นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค เป็นการเร่งรัดดำเนินการหยุดยั้งเพื่อบรรลุตามเป้าหมายในการยุติปัญหาวัณโรคของประเทศ ซึ่งภายในงานวันนี้ มีกิจกรรมตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรค โดยการจัดบริการ X-RAY ปอดฟรี แก่ผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค บริการตรวจเสมหะโดยวิธี Xpert MTB/RIF ในรายที่ผล X-RAY ปอดผิดปกติ รวมถึงบูธนิทรรศการและการให้ความรู้เรื่องวัณโรค ส่วน พญ.เอมอร สิริพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัย มีศูนย์บริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข และผู้ให้การดูแลผู้ป่วยที่เราเรียกว่า care giver ที่ผ่านการฝึกอบรม จึงมีความพร้อมในการให้บริการแบบ “ใกล้บ้าน ใกล้ใจ” แก่ผู้ป่วยทุกระดับ ทั้งนี้ สำนักอนามัย มีนโยบายเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคให้ครอบคลุมมากที่สุด เน้นให้กลุ่มเสี่ยงวัณโรคได้เข้าถึงระบบบริการ มีการคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการควบคุมป้องกันวัณโรคจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพโดยเร็ว เป็นการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ต่อไป