กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเริ่มเย็นลง ขอให้ประชาชนระมัดระวังการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม ข้อมูลปีนี้พบผู้ป่วย 2 โรคนี้รวมกว่า 3.4 แสนราย เน้นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง สวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง หากมีไข้สูง อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
วันนี้ (9 ตุลาคม 2561) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวปีนี้ สภาพอากาศแปรปรวน บางพื้นที่ยังมีฝนตกสลับอากาศร้อน และอากาศเริ่มเย็นลงในช่วงเช้า ขณะที่ร่างกายปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังและดูแลสุขภาพตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ ติดต่อได้ง่ายในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันหนาแน่น
ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–1 ตุลาคม 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 130,448 ราย เสียชีวิต 21 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยทำงาน อายุ 25-34 ปี รองลงมา 35-44 ปี ส่วนผู้ป่วยโรคปอดบวม 214,283 ราย เสียชีวิต 155 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มเด็กเล็ก
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถติดต่อกันได้ง่าย จากการไอหรือจามรดกัน โดยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย หลังรับเชื้อมักมีอาการทันทีหรือประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก อ่อนเพลีย มีน้ำมูกใส
ส่วนโรคปอดบวมเป็นโรคที่มีความรุนแรง เกิดจากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ น้ำมูกเปลี่ยนสีจาก สีเหลืองเป็นสีเขียวข้น เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบง่าย ซึมลง หากประชาชนมีอาการที่คล้ายทั้งสองโรคนี้ ขอให้ไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ปอดเรื้อรัง เบาหวาน หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนสามารถป้องกันโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจได้ โดยยึดหลัก “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม ต้องใส่หน้ากากอนามัย ผ้า หรือ กระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในสถานที่แออัด มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก และหยุด คือเมื่อป่วย ควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรม แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
Post Views: 12