กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยเข้มมาตรการสำหรับคนต่างชาติที่มาจากประเทศเสี่ยงสายพันธุ์อินเดีย เพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดในไทย หลังตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียรายแรก ในสถานที่กักกันตัวที่รัฐกำหนด (SQ) ซึ่งรายดังกล่าวเดินทางเข้ามาตามระบบที่วางไว้ ทำให้ตรวจพบได้เร็วและเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที แต่ที่น่าห่วงคือบริเวณพื้นที่ชายแดน ขอให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นผู้ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่โดยเร็ว
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่มีการตรวจพบผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยติดเชื้อสายพันธุ์อินเดียรายแรก โดยตรวจพบในสถานที่กักกันตัวที่รัฐกำหนด (State Quarantine : SQ) ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นหญิงชาวไทย อายุ 42 ปี เดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ไปต่อเครื่องที่ดูไบ และมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยกักตัวที่ SQ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงส่งตัวอย่างเพื่อตรวจเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ผลการตรวจสายพันธุ์พบว่าเป็นสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.1) จึงได้ส่งต่อผู้ป่วยจาก SQ ไปดูแลรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อไป
สำหรับการตรวจพบสายพันธุ์อินเดียในครั้งนี้ เป็นการตรวจพบในสถานที่กักกันตัวที่รัฐกำหนด (SQ) สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามระบบที่วางไว้ และทุกคนที่เข้ามาก็จะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ทำให้ตรวจพบได้เร็วและเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที และจะดูแลรักษาจนปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายเป็นวงกว้างและระบาดในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รายละเอียดของเชื้อดังกล่าวมีจำกัด และยังไม่ทราบว่ามีการดื้อวัคซีนมากแค่ไหน การแพร่กระจายของเชื้อเป็นอย่างไร รวมถึงมีความรุนแรงของโรคเพียงใด เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ดังนั้น มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลจึงยังเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า กรณีเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศ ได้มีมาตรการสำหรับคนต่างชาติที่มาจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และเนปาล โดยมีการชะลอชั่วคราวการออกหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ certificate of entry (COE) ทำให้คนต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่กรณีคนไทยที่กลับจากประเทศดังกล่าวจะได้เข้าสู่ระบบการกักตัวใน SQ ตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งสามารถช่วยให้ตรวจจับโรคได้เร็วและป้องกันเชื้อแพร่กระจายในวงกว้างได้
ทั้งนี้ เรื่องที่น่าห่วงในช่วงนี้คือบริเวณพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจมีการลักลอบข้ามชายแดนโดยผิดกฎหมายและอาจนำเชื้อสายพันธุ์อื่นเข้ามาในประเทศไทยได้ โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ผลการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองและการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยผิดกฎหมาย เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 (ข้อมูล ณ 11 พฤษภาคม 2564) มีการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จำนวน 1,218 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมาและชาวกัมพูชา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญประชาชนในพื้นที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นผู้ที่ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่โดยเร็ว
Post Views: 55