สรพ.ลงพื้นที่ รพร.ปัว เจ้าของ SHA Award นำมิติจิตตปัญญาในการพัฒนา
ผู้บริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) ลงพื้นที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จังหวัดน่าน ซึ่งได้รับการรับรองกระบวนการคุณภาพมาตรฐานHA และบูรณาการมิติจิตวิญญาณในการพัฒนาคุณภาพ จนได้รับรางวัล SHA Award ในงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 20 ของสถาบัน นพ.กิตตินันท์ อนรรฆมณี ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สรพ.ทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล มาเกือบ 20 ปี แต่หลังจากทำมาได้10 ปี มีโจทย์ใหญ่อยู่2ส่วน คือ ส่วนแรก เมื่อพัฒนางานไปเรื่อยๆบุคลากรต้องใช้ความทุ่มเทอย่างมาก จึงทำให้เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานด้านคุณภาพ ส่วนที่สอง เมื่อทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพแล้ว ประชาชนได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพตามที่เราคาดหวังจริงหรือไม่ ดังนั้นทั้งสองส่วนทำให้เกิดแนวคิดว่า การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลด้านวิชาการอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องหันมาดูมิติทางด้านจิตใจของบุคลากรและผู้ที่มารับบริการด้วย เนื่องจากเราเชื่อว่าการดูแลมิติทางด้านจิตใจให้ดีขึ้น การพัฒนาคุณภาพจะดีขึ้นและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการ Spiritual Healthcare Appreciation หรือ SHA ซึ่งโครงการดังกล่าวทำการศึกษามากว่า 10 ปี จนกระทั่งปี 2562 ได้สื่อสารให้โรงพยาบาลที่สนใจทดลองนำไปใช้ และมีการฝึกอบรมให้แก่โรงพยาบาลนำร่องไปทดลองปฏิบัติ พร้อมส่งทีมสำรวจเข้าไปเยี่ยมประเมินผล จนทำให้งานประชุมวิชาการประจำปีครั้งที่ 20 HA National FORUM ของ สรพ.ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ มีโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล SHA AWARD จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์,โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา,โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย,โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า,โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจอมบึง และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน นพ.กิตตินันท์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว มีความโดดเด่นในมิติทางด้าน SHA ในหลายส่วน หลังจากโรงพยาบาลนำแนวคิด SHA ไปใช้ ส่งผลให้บุคคลากรไวต่อการรับรู้ความต้องการของผู้ป่วย มีความร่วมมือที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในหลายรูปแบบ อาทิ จัดกิจกรรมต่างๆในชุมชน เปิดให้เยาวชนเข้ามาเรียนรู้วิธีการทำงานของหมอและพยาบาล นอกจากนี้แนวคิดดังกล่าวยังช่วยให้พัฒนาด้านการดูแลผู้ป่วยในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การทำสติบำบัด ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคคลาการทางการแพทย์และผู้ป่วยไปพร้อมๆกัน และยังก่อให้เกิดการทำงานด้านจิตอาสา การร่วมมือกันทำงานจากหลายภาคส่วนจัดกิจกรรมต่าง ๆ และติดตามผู้ป่วยในช่วงวันหยุด ที่สำคัญโรงพยาบาลแห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว นพ.กิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวยังได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบท ประจำปี 2561 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล “การทำมาตรฐาน SHAไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพียงแต่บุคลากรในโรงพยาบาลอาจมีภาระงานที่ต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนมาก เมื่อนำแนวคิดทางด้านจิตวิญญาณเพิ่มเติมเข้ามา อาจไม่คุ้นชิน ประเด็นตรงนี้คือความยากต่อการพัฒนาด้านมิติจิตวิญญาณ แต่ถ้าทำความเข้าใจและทดลองปฏิบัติ ตามขั้นตอน ก็ไม่ได้ยากไปกว่าการทำมาตรฐาน HA สำหรับโรงพยาบาลที่กำลังริเริ่มทำมาตรฐาน SHA แนะนำว่าอย่าตั้งเป้าว่าต้องทำมาตรฐานให้ได้ ให้ตั้งเป้าว่าอยากมาเรียนรู้อะไร พร้อมกับนำไปประยุกต์ผสมผสานกับกระบวนการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ครบถ้วนทุกมิติ ถ้าทำไปสักระหนึ่งมาตรฐานดังกล่าวจะได้มาเอง แต่ถ้าตั้งเป็นเป้าหมายหลัก บุคคลากรจะเครียดและไม่มีความสุขในการทำงาน และสรพ.ไม่ได้ตั้งเป้าไว้เป็นตัวเลขว่าในแต่ละปีจะมีกี่โรงพยาบาลที่ได้รับรางวัล SHA AWARD เราคิดแค่ว่าเมื่อได้โรงพยาบาลตัวอย่างหรือโรงพยาบาลนำร่องแล้ว เรามีโอกาสขยายโรงพยาบาลในมิติด้าน SHA โดยมีหลักสูตรการจัดอบรมและกิจกรรม ที่จะเชิญชวนโรงพยาบาลที่สนใจมาร่วมกระบวนการ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นรูปธรรม” นพ.กิตตินันท์ กล่าว ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน กล่าวว่า โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว แรกเริ่มได้นำแนวคิด HA มาพัฒนาด้านคุณภาพของโรงพยาบาลตั้งแต่ปี2546 และหลังจากได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ HA พบว่า เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเกิดความเครียดในการทำงาน เนื่องจากมีภาระงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งตัวมาตรฐาน HA มีความละเอียดอ่อนในหลายมิติ ทำให้การพัฒนามาตรฐานที่เราตั้งไว้ไม่ค่อยยั่งยืน จากนั้นในปี 2549 จึงเริ่มนำแนวคิดทางด้านจิตตปัญญาหรือ SHA มาปรับใช้ โดยเริ่มพัฒนาคนจากภายใน ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุขก่อนแล้วค่อยมาพัฒนางาน กระบวนการนี้เราพัฒนาคนให้เข้าใจเรื่องของการทำงานโดยอาศัยพลังกลุ่ม สร้างความเข้าใจในตนเอง เพื่อนร่วมงาน และผู้มารับบริการ เมื่อเข้าใจตรงนี้พอเกิดปัญหาในการทำงาน จะมีการสื่อสารที่ดีขึ้น นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ช่วง 2-3 ปีแรกที่นำแนวคิด SHA มาทดลองใช้ในการพัฒนาคุณภาพบุคลากร เกิดการต่อต้านภายในองค์กร เพราะมีหลายคนมองว่าเป็นการเพิ่มภาระงาน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในองค์กร โดยเฉพาะกระบวนการดูแลผู้ป่วย อาจทำให้เกิดความเสี่ยง นอกจากนี้ยังทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความทุกข์ในระบบ ทางเราจึงหาวิธีแก้ไขโดยขอให้ทีมงานของโรงพยาบาลบางส่วน รวมตัวกันจัดตั้งแกนนำ เพื่อเข้าอบรมพัฒนาให้เป็นวิทยากรในโรงพยาบาล หรือเรียกว่าทีม “กระบวนกร” โดยให้ทีมกระบวนกรทำการอบรมเจ้าหน้าที่ทั้งโรงพยาบาล ใช้กระบวนการ “สุนทรียสนทนา” หรือ Dialogue เป็นตัวจัดกิจกรรม หรือเมื่อมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสื่อสารกับผู้เข้ารับบริการได้ ทางทีมกระบวนกรจะทำหน้าที่สื่อสารแทนเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นเหมือนด่านหน้าโรงพยาบาล ทั้งนี้ภายหลังจากใช้กระบวนการดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ที่ต่อต้านกลับให้การยอมรับและมีความสุขกับการทำงาน การใช้ SHA จึงไม่ใช่การเพิ่มภาระ เพราะในงานที่มีระบบความเสี่ยงจำเป็นต้องใช้ SHA เป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดความเสี่ยงในองค์กร จะเห็นได้ว่าในปี 2561 ข้อร้องเรียนต่างๆของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เจ้าหน้าที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างราบรื่น ส่วนผู้ที่เคยมีปัญหากับทางโรงพยาบาลกลายมาเป็นพันธมิตร การบริการมีแนวโน้มที่ดีขึ้นและเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุข นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การได้รับรับรางวัล SHA AWARD จากสรพ. เป็นจุดที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดรับทราบว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว จากนั้นเราจะพัฒนาและต่อยอดโดยการขยายไปสู่กลุ่มผู้ป่วยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ในปี 2562 เราวางแผนต่อยอด โดยการนำ SHA เข้าไปสู่กลุ่มโรงเรียนโดยเน้นในระดับปฐมวัย เนื่องจากเห็นว่าถ้าเราสร้างเด็กในวัยนี้ให้มีความมั่นคงมี IQ และ EQ ที่ดี เด็กจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี นอกจากนี้จะนำ SHA เข้าไปสู่กลุ่มผู้นำท้องถิ่น กลุ่มแพทย์จบใหม่ เครือข่ายของโรงพยาบาล และกลุ่มผู้ป่วย โดยเริ่มเข้าถึงตัวผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เช่น เราพัฒนาเรื่องของการนำสติบำบัดไปสู่กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหา อาทิ กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ที่มีการควบคุมยาก กลุ่มผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง เป็นต้น เรานำสติบำบัดผนวกกับจิตตปัญญาที่พัฒนาในองค์กร มาสู่การพัฒนาเครือข่าย และขยายสู่ระบบการดูแลกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหา เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพที่เชื่อมโยงทั้งระบบ “การนำมิติจิตตปัญญามาใช้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผู้บริหารไม่สามารถลงไปดูเจ้าหน้าที่ได้ตลอด ผู้บริหารควรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคอยให้คำแนะนำทีมกระบวนการ พร้อมสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ถ้าโรงพยาบาลสามารถสร้างทีมกระบวนการหลักของโรงพยาบาลได้ จะสามารถช่วยพัฒนาคนได้มาก เพราะคนบางคนไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาจิตใจตนเองได้โดยตรง” นพ.กิตติศักด์ กล่าว