สวพส. ผนึกกำลัง วว. ลงนาม MOU เพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มุ่งส่งเสริมสนับสนุนทางด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิจัย เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนในทุกมิติ 3 มีนาคม 2565 – สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำโดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย นำโดย ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจใน รูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนทางด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน โดยมี นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.เพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ด้านการพัฒนา และ ดร.อัจฉรา ภาวศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ในการสร้างความอยู่ดีมีสุขของประชาชนบนพื้นที่สูง ด้วยการรักษาและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและการเรียนรู้ของโครงการหลวง ในการเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งต่อยอดการขยายผลสำเร็จของโครงการหลวงไปสู่พื้นที่สูง โดยใช้องค์ความรู้ ผลงานวิจัย และวิธีการปฏิบัติงานแบบโครงการหลวง ซึ่งยึดการพัฒนาแบบองค์รวมบนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน การบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้การบริหารจัดการที่มีสมรรถนะ มาตรฐาน และธรรมมาภิบาล โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยพัฒนาพื้นที่สูง กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ ทรัพยากร และบุคลากร ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มพูนความรู้ที่ทั้งสองฝ่ายพัฒนาร่วมกัน ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงและให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เพื่อความก้าวหน้าทางด้านการวิจัยและการพัฒนาบนพื้นที่สูง ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบนพื้นที่สูงและประเทศชาติต่อไปในอนาคต ด้าน ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ให้ความสำคัญกับ การขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. นอกจากนี้ วว. ยังตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ไปด้วยกัน โดยมุ่งทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานวิจัย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคชุมชน สู่การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจควบคู่กับการลดปัญหาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน การลงนามความเข้าใจ ระหว่าง วว. และ สวพส. จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญ ที่ทั้งสองฝ่ายจะบูรณาการองค์ความรู้ และทรัพยากรร่วมกัน โดยที่ วว. มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในการบูรณาการงานทางด้านเทคโนโลยีการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Valued Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เริ่มจากเทคโนโลยีการปลูก การพัฒนาสายพันธุ์ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ตลอดจนเทคโนโลยีด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ที่พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป โดย วว. มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน การวิเคราะห์ทดสอบ โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งนักวิจัยและบุคลากรของ วว. ล้วนมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่พร้อมจะนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีไปผลักดันให้เกิดประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม เสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ ทรัพยากร และบุคลากรร่วมกัน ให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดังเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบไป