สวส. แถลงการเตรียมจัดงานประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2566 ระดมความคิดเพื่อขับเคลื่อนนโยบายอย่างยั่งยืน
วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 : นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2566 พร้อมทั้งเชิญ อาจารย์ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานการประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคมประจำปี 2565 และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ เติมประเสริฐสกุล นักวิชาการผู้สรุปประเด็นการสนทนากลุ่มย่อยจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการจัดงานประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2566 ณ C ASEAN SAMYAN CO-OP ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ นางนภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กล่าวว่า กระบวนการสมัชชา ถือเป็นกลไกหนึ่งในการรับฟังความคิดเห็น และเพื่อปรึกษาหารือและตัดสินใจประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา โดยฉันทามติหรือการลงคะแนนเสียงซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 โดยในการประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2565 สามารถสรุปมติในที่ประชุมเป็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายได้ 6 นโยบาย ดังนี้ นโยบายที่ 1 พัฒนาศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อพัฒนาศักยภาพ วิสาหกิจเพื่อสังคม นโยบายที่ 2 พัฒนาฐานข้อมูลแหล่งเงินทุนและทรัพยากรแก่ วิสาหกิจเพื่อสังคม นโยบายที่ 3 พัฒนากลไกการให้บริการแก่วิสาหกิจเพื่อสังคม นโยบายที่ 4 ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การตระหนักรู้เรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมให้ เป็นที่รู้จักนโยบายที่ 5 สร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการทำธุรกิจของวิสาหกิจเพื่อสังคม และนโยบายที่ 6 พัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบทางสังคมของวิสาหกิจเพื่อสังคมในบริบทของไทย ซึ่งสำนักงานได้จัดทำโครงการที่สอดคล้องเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา นางนภา กล่าวต่อว่า การจัดงานประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคม ประจำปี 2566 ในครั้งนี้มีความแตกต่างกับปีที่แล้ว โดยในปีนี้ สำนักงานฯได้จัดให้มีการประชุมสนทนากลุ่มย่อยหรือ Focus Group ผ่านระบบออนไลน์ รวมจำนวนทั้งหมด 4 ครั้ง ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมขนาดรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ได้ประเด็นที่น่าสนใจจำนวน 4 ประเด็น ดังนี้ แนวทางสร้างการรับรู้สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของวิสาหกิจเพื่อสังคม แนวทางการสร้างผลกระทบเพื่อสังคม (Social Impact) สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม และแนวทางการสร้างกำลังคนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจเพื่อสังคม (Capacity Building) พร้อมทั้งมีภารกิจตรวจเยี่ยมวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อสอบถามถึงปัญหา ความต้องการ ของผู้ประกอบกิจการ เพื่อนำมาเป็นประเด็นประกอบในการประชุมสมัชชาครั้งนี้อีกด้วย การจัดการประชุมสมัชชาในปีจะจัดขึ้นในวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งนับว่าการประชุมสมัชชาฯจะมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการขับเคลื่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมในปีถัดไป และการประชุมสมัชชาวิสาหกิจเพื่อสังคมจะเต็มไปด้วยการระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายภายใต้ความยั่งยืนอย่างแท้จริง นางนภา กล่าวทิ้งท้าย