ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อติดตาม สถานการณ์แรงงานในทุกสามเดือนหรือรายไตรมาส โดยข้อมูลจากการสำรวจฯ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงานไทย รวมทั้งนำข้อมูลจากการสำรวจฯ มาจัดทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการว่างงานและตลาดแรงงานของประเทศ
ภาพรวมของสถานการณ์แรงงานในไตรมาส 3 ปี 2566 ประชากรวัยแรงงานมีจำนวน 59.0 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.5 ล้านคน หรือร้อยละ 68.7 ของประชากรวัยแรงงาน ที่เหลือเป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน (ร้อยละ 31.3) โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 5.3 แสนคน จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ยังคงเป็นกลุ่มที่มีการขยายตัวของผู้มีงานทำสูงอยู่ที่ร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เมื่อพิจารณาตัวเลขผู้ว่างงานพบว่า สถานการณ์การว่างงานดีขึ้น จำนวนผู้ว่างงานลดลง 9 หมื่นคน
จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เหลือ 4 แสนคน ในส่วนของปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือผู้ว่างงานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป มีสถานการณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน จาก 1 แสน 4 พันคน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เหลือเพียง 7 หมื่นคนในไตรมาสนี้
อีกประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง คือ ผู้เสมือนว่างงาน (หรือ ผู้ที่มีชั่วโมงทำงาน/สัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ ไม่เกิน 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับภาคเกษตรกรรม/ และไม่เกิน 24 ชั่วโมง/สัปดาห์ สำหรับนอกภาคเกษตรกรรม) ซึ่งพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า
โดยไตรมาสนี้ ผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 4.6 แสนคนโดยสรุปแล้วสถานการณ์ผู้มีงานทำในไตรมาส 3 ปี 2566 มีการปรับตัวที่ดีขึ้นในภาพรวม ผู้มีงานทำมีจำนวนเพิ่มขึ้น และการว่างงานที่ลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดทั้งในเรื่องของชั่วโมงการทำงานที่ลดน้อยลง และผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นพบกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nso.go.th
Post Views: 46