สสว. ร่วมกับ ม.ศิลปากร เดินหน้าสร้างความเข้มแข็งชูการสร้างเครือข่ายเอสเอ็มอีไทยกลุ่มดิจิทัล คอนเทนท์ หนึ่งจิ๊กซอร์สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จัดกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Digital Content ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนา คลัสเตอร์ SME ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 พร้อมเปิดเวที Business Matching เพื่อนำเสนอผลงานต่อนักลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อื่น รวมทั้งกลุ่มผู้ซื้อและกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดเกิดการสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมจากกิจกรรมฯ ปีนี้ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทและคาดต่อยอดรายได้ให้กับผู้ประกอบเพิ่มขึ้นอีก
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นการเร่งพัฒนายกระดับเอสเอ็มอีไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างขีดความสามารถทางทำธุรกิจในระดับสากลมาก ซึ่งกลุ่มเอสเอ็มอีนับเป็นฐานเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศที่ทาง สสว. ให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดได้จัดกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Digital Content ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SME ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร
เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มดิจิทัล คอนเทนท์ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยฝีมือและผลงานคุณภาพระดับสากลของผู้ประกอบการไทยกลุ่มดิจิทัล คอนเทนท์ทำให้สามารถสร้างเม็ดเงินในอุตสาหกรรมฯ ได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจและคาดการณ์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกับสถาบันไอเอ็มซีมีการคาดการณ์ว่าในปี 2565 มูลค่าอุตสาหกรรม อยู่ที่ 45,094 ล้านบาทและเติบโต 15% ซึ่งมีการเติบโตทั้งในส่วนแอนิเมชั่น เกมและคาแรคเตอร์
“ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกทรุดตัวลงอย่างหนัก สสว. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ซึ่งได้ดำเนินการและใช้แนวคิดในการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์มาเป็นเครื่องมือเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกันจำเป็นต้องมีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเฉพาะสำหรับเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่ม
โดยเน้นการกระตุ้นความเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ให้มีศักยภาพเพื่อแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ด้วยการนํานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ
รวมไปถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดในเชิงรุกผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับสร้างการรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ของไทยให้กับ ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยการพัฒนา Digital Content Cluster และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็ง มุ่งให้เกิดการขยายสัดส่วนมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมของเอสเอ็มอีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ดังนั้นการสร้างกลุ่มหรือคลัสเตอร์ทำให้เกิดความเข้มแข็งและอยู่รอดได้” นายวีระพงศ์ มาลัย กล่าว
ทางด้าน ผศ.ดร. ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร กล่าวว่า ม.ศิลปากร เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและการออกแบบ มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุน และประสานความร่วมมือด้านงานบริการวิชาการระหว่างหน่วยงาน องค์กร เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ระหว่างบุคลากรทางสายวิชาการและสายวิชาชีพ เพื่อให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน
ซึ่ง ม.ศิลปากร ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและสร้างเครือข่ายดิจิทัลคอนเทนต์ ร่วมกับ สสว. ในกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Digital Content ครั้งนี้ นับเป็นบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งในฐานะภาคการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนท์ สำหรับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านดิจิทัล คอนเทนท์มากว่า 17 ปี โดยมีความเชื่อมั่นว่าการสร้างบุคคลากรที่สามารถบูรณาการความรู้ด้านการออกแบบและสร้างสื่อ เทคโนโลยีด้านดิจิทัลและธุรกิจการตลาดผสมผสานเข้าด้วยกันนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมฯ ได้
สำหรับการจัดกิจกรรมพัฒนาคลัสเตอร์ Digital Content ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์ SME ปี 2564 ถือเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในการสร้างความร่วมมือของหน่วยงานรัฐสองหน่วยงาน ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับ มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงการไปร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก อาทิ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA)
รวมทั้งพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้นำผลงานของผู้ประกอบการในเครือข่ายดิจิทัลคอนเทนต์ไปต่อยอด ทั้งด้านการผลิต และการจัดจำหน่ายอี-คอมเมิร์ซ ทั้งนี้การดำเนินงานจัดกิจกรรมประจำปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนและจะมีต่อเนื่องจนถึงกันยายนนี้
ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการ 3 เครือข่าย ประกอบด้วย 1.เครือข่ายผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการออกแบบและซื้อขายลิขสิทธิ์ และสินค้าตัวละคร (Character Design, Licensing and Merchandising) 2.เครือข่ายผู้ประกอบการด้านการสร้างคอนเทนท์ แอนิเมชั่น การรับผลิตแอนิเมชั่น และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ (Animation IP, Animation & CG Service) และ 3.เครือข่ายผู้ประกอบการด้านภาพกราฟฟิกเคลื่อนไหวและสื่อใหม่ (Motion Graphics and New Media)
นอกจากนี้กิจกรรมพัฒนา คลัสเตอร์ Digital Content ยังประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ร่วมกันแบบบูรณาการของ 3 คลัสเตอร์ การเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการ ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการไปสู่ตลาดต่างประเทศให้มีโอกาสในการนำเสนอสินค้า เป็นต้น
“กลุ่มคลัสเตอร์ Digital Content จึงเป็นกลุ่มคลัสเตอร์หนึ่งที่ทาง สสว. ให้ความสำคัญและสนับสนุน
มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยในการพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีและคลัสเตอร์ดิจิทัล คอนเทนท์ให้มีความเข้มแข็งจะต้องอาศัยการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาคีต่างๆ หลายหน่วยงาน
ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมนี้ได้สนับสนุนให้ประกอบการในคลัสเตอร์ดิจิทัล คอนเทนท์ ได้มีเวทีและโอกาสในการนำเสนอผลงานต่อนักลงทุน สื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงไปยังเครือข่ายผู้ประกอบการในคลัสเตอร์อื่น รวมทั้งกลุ่มผู้ซื้อและกลุ่มอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่กิจกรรม Business Matching ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสามารถกระตุ้นและต่อยอดให้เกิดมูลค่าในอุตสาหกรรมไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท” นายวีระพงศ์ มาลัย กล่าวปิดท้าย
Post Views: 100