สสว.โชว์ 8 Product Champions ความสำเร็จจาก “ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ”
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จับมือ 8 มหาวิทยาลัยท้องถิ่น ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แถลงข่าวความสำเร็จของศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center 8 แห่งครอบคลุม 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ มุ่งพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ทั้งด้านเกษตร ธุรกิจชุมชนและสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง ภายใต้โครงการส่งเสริมเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2562 เผยประสบความสำเร็จเกินเป้า ผลการดำเนินงาน 6 เดือน ร่วมกับชุมชนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าและเพิ่มช่องทางการตลาดผู้ประกอบการจำนวน 453 ราย สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพิ่ม 10 เครือข่าย มีวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายรวม 57 วิสาหกิจชุมชน ยกระดับรายได้ธุรกิจชุมชนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 17.67 สร้างความยั่งยืนทางรายได้ให้คนในธุรกิจชุมชนกว่า 3,171 คน และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11.45 เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยธุรกิจของชุมชนกว่า 317 ล้านบาท พร้อมโชว์ 8 Product Champions ธุรกิจเด่นจาก 8 ธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพพร้อมแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ 8 มหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center จำนวน 8 แห่งใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาส่งเสริมและยกระดับธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนให้มีศักยภาพความพร้อมในการแข่งขัน พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ บนพื้นฐานแนวคิดในการเสริมสร้างภูมิปัญญาท้องถิ่น และกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายและสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง จากการมีส่วนร่วมของชุมชนในมิติต่างๆ เป็นการสร้างโอกาสและกระจายรายได้ให้ชุมชนฐานราก ซึ่งนอกจากทำให้ชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ ยังเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมั่นคงอีกด้วย “สสว.มีเป้าหมายยกระดับองค์ความรู้ด้านธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนจำนวน 3,180 ราย พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์/สินค้าและขยายช่องทางการตลาดไม่น้อยกว่า 400 ราย เพิ่มศักยภาพเพื่อต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสร้างบริการใหม่ๆ ไม่น้อยกว่า 20 วิสาหกิจ รวมกว่า 20 ผลิตภัณฑ์/บริการ และผลักดันให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 1 เครือข่ายต่อ 1 มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าหมายให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 161 ล้านบาท ซึ่งจากการดำเนินกิจกรรมในช่วง 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมีนาคม – สิงหาคม 2562) ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ หรือ Excellence Center สามารถอบรมให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดทำแผนธุรกิจแก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนได้ถึง 3,323 รายทั่วประเทศ พัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์/สินค้าและขยายช่องทางการตลาดไม่น้อยกว่า 453 ราย มีการยกระดับผู้ประกอบการจากบุคคล ชุมชน เป็นวิสาหกิจชุมชนจำนวน 72 ราย มีการยกระดับจากผู้ประกอบการรายย่อย เป็น SME จำนวน 173 สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 10 เครือข่ายทั่วประเทศ มีวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายรวม 57 วิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สินค้าของวิสาหกิจชุมชนจนได้คุณภาพมาตรฐานจำนวน 43 วิสาหกิจ รวมกว่า 43 ผลิตภัณฑ์/บริการ ส่งผลให้รายได้ธุรกิจชุมชนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 17.67 เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการดำเนินงานของธุรกิจชุมชนกว่า 317 ล้านบาท มีการพัฒนาที่ดีในด้านสังคม โดยทำให้ชุมชนมีงานทำอย่างยั่งยืน 3,171 ราย และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 11.45” สำหรับสินค้าวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้มีศักยภาพ จำนวน 453 รายทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และจำหน่ายสินค้าภายในงานแสดงสินค้าที่จัดขึ้น ถือเป็นการทดลองการทำตลาดจริง ภายในงาน “ผสาน สร้างสรรค์ มุ่งมั่น ยั่งยืน สุดยอดผลิตภัณฑ์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน & Product Champion 2019” ณ ลานสุขสยาม ไอคอนสยาม จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 100 ราย (เดือนสิงหาคม-กันยายน 2562) โดยมียอดขายภายในงาน 10.5 ล้านบาท และมียอดสั่งซื้อหลังจากเสร็จสิ้นงานอีก 15.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นกว่า 26 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการคัดเลือก Product Champions ของ 8 ธุรกิจชุมชน จาก 8 ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ โดยพิจารณาจากศักยภาพและความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประการสำคัญต้องเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญของชุมชน โดยมีคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในมิติต่างๆ สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น Product Champions จำนวน 8 ราย ได้แก่ ปลาฉิ้งฉ้างอบกรอบ ตราสินค้าวันลาภ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรแปรรูปบ้านกะไหล จากศูนย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แกงหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป ตราสินค้าภูฟาร์ม กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่อำเภอนามน จากศูนย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลิตภัณฑ์แปรรูปว่านหางจระเข้ ตราสินค้า Alohim วิสาหกิจชุมชนปลูกและแปรรูปว่านหางจระเข้ จากศูนย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผลิตภัณฑ์ Oh..! GOLD HONEY ตราธาราทิพย์ วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากผึ้งพันธุ์ธาราทิพย์ จากศูนย์มหาวิทยาลัยนเรศวร เครื่องสำอางจากมะไฟจีน วิสาหกิจชุมชนขวัญธารา จากศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น้ำมันมะพร้าวออร์แกนิคสกัดเย็น ตราสินค้า Noble Sense วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำมันมะพร้าวบ้านแสงอรุณ จากศูนย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สครับฟักข้าว ตราสินค้า Kanokwan วิสาหกิจชุมชนแปรรูปเกษตรอินทรีย์บางกระทุ่ม จากศูนย์มหาวิทยาลัย แม่โจ้ เห็ดทอดอบกรอบ ตราสินค้าเวจเจทคริฟ บริษัท เวจเจทฟู๊ด จำกัด จากศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเดิมผู้ประกอบการรายนี้เริ่มจากธุรกิจส่วนตัว และได้เข้าโครงการ Startup ของ สสว. ในปี 2560 จนกระทั่งสามารถร่วมกับชุมชนพัฒนายกระดับตนเองได้สำเร็จ ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น Product Champions ทั้ง 8 รายนี้จะได้รับเหรียญรางวัลจาก สสว. เพื่อรับรองคุณภาพมาตรฐานดังกล่าว สำหรับผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน และผู้สนใจพัฒนาธุรกิจให้เติบโต ก้าวหน้าอย่างมั่นคง แข็งแรงและสามารถแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ www.sme.go.th และสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการต่างๆ ได้ที่ Application SME Connext