ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดทำสำรวจอนามัยและสวัสดิการ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล การเจ็บป่วย การรับบริการส่งเสริมสุขภาพ การรับบริการทันตกรรม ค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงสวัสดิการของประชากร โดยเก็บข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 28,960 ครัวเรือนในเดือนมีนาคม 2566 พบว่า ประชาชนได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (จากร้อยละ 98.3 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 99.5 ในปี 2566) โดยได้รับการคุ้มครองการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ 3 ระบบหลัก คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร้อยละ 74.2 รองลงมา คือ ประกันสังคม 18.4 และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการร้อยละ 6.8 ตามลำดับ ซึ่งแต่ละระบบสวัสดิการมีขอบเขตของสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกจากการซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชนร้อยละ 6.4
สำหรับสถานการณ์ด้านสุขภาพ เรื่องการเจ็บป่วย พบว่า มีผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนพักรักษาในสถานพยาบาลระหว่าง 1 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 27.8 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 28.2 ในปี 2566 โดยเป็นลักษณะของการเจ็บป่วยหรือรู้สึกไม่สบายเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.2 อุบัติเหตุ ถูกทำร้ายหรือทำร้ายตัวเองมีแนวโน้มลดลงเป็นร้อยละ 1.5 และโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวลดลงจากร้อยละ 20.3 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 18.5 ในปี 2566 ส่วนการเจ็บป่วยที่ต้องเข้าพักรักษาตัวในสถานพยาบาลระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 5.0 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2566 โดยเพศหญิงมีสัดส่วนการเจ็บป่วยที่ต้องนอนพักรักษาฯ สูงกว่าเพศชาย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลักษณะเช่นเดียวกับผลการสำรวจที่ผ่านมา
โดยสรุปแล้วสถานการณ์ด้านอนามัยและสวัสดิการในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น คนไทยมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nso.go.th
Post Views: 33