สำเร็จด้วยดี “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ผู้คว้า “หัตถศิลป์ล้ำค่า” สุดภูมิใจมีส่วนร่วมสนับสนุนงานศิลป์ของแผ่นดิน
ผ่านพ้นไปเรียบร้อยสำหรับ งาน “๑ ทศวรรษ อัตลักษณ์แห่งสยาม” ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.-3ก.พ.2562 นอกจากจะเกิดจากการสนับสนุนจากประชาชน และผู้มีใจรักงานศิลปหัตถกรรมแล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ขับเคลื่อนให้งานนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมและสร้างความประทับใจแก่ลูกค้าและผู้พบเห็นชิ้นงานหัตถศิลป์ นั่นคือบรรดาครูและทายาท
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ขอขอบคุณครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรมทุกท่าน ซึ่งได้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่งดงาม มีคุณค่าเป็นเอกลักษณ์ซึ่งสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ ๆ นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้แบ่งปันองค์ความรู้งานหัตถศิลป์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เกิดทัศนคติที่ดี สร้างแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ในการประมูลผลิตภัณฑ์งานหัตถศิลป์ชิ้นพิเศษ“มือสู่มือ” หารายได้เป็นกองทุนในการจัดตั้ง “สมาคมครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนครูและทายาท เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้คว้าชิ้นงานหัตถกรรมที่นำมาร่วมประมูลต่างยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานงานศิลป์ล้ำค่า อาทิ คุณอาภาพรรณ โจโควิดจาจา ผู้ครอบครอง “ผ้ายกลายพระนารายณ์ทรงครุฑ” ผลงานชิ้นพิเศษของ ครูวีรธรรม ตระกูลเงินไทย ครูศิลป์ของแผ่นดิน กล่าวว่า ตั้งใจมางานเพื่อผ้าชิ้นนี้โดยเฉพาะ เป็นผ้าที่ทรงคุณค่า ทอด้วยไหมย้อมสีธรรมชาติและไหมทอง ลวดลายละเอียดงดงาม ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานงานที่เป็นที่สุดของไทยให้คงอยู่ อยากเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมและภาคภูมิใจ
ด้านคุณพรเพ็ญ เดชวิไล เจ้าของ “กระเป๋าราตรีถมตะทอง ทรงไข่” ฝีมือครูอุทัย เจียรศิริ ครูช่างศิลปหัตถกรรม กล่าวว่า มีความมุ่งมั่นที่จะครอบครองชิ้นงานที่งดงามชิ้นนี้ เพื่อบรรจุพระธาตุเพื่อนำไปถวายวัด วันนี้ถือว่าบุญกุศลหนุนนำให้ได้ครอบครอง และยิ่งรู้สึกดีใจเมื่อรู้ว่ารายได้จากการประมูลได้ร่วมทำบุญจัดตั้งสมาคมเพื่อช่วยเหลือครูและทายาท
ปิดท้ายที่ คุณนันทนา มีประเสริฐ ผู้ชนะการประมูล “ผ้าบาติกเขียนทอง สายสัมพันธ์สยาม-มลายู” ฝีมือ ครูธนินธร รักษาวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม เล่าว่า ติดตามผลงานของครูมานาน เมื่อยิ่งรู้ถึงความยากลำบากของกระบวนการผลิตชิ้นงาน ซึ่งมีการเขียนลายและย้อมถึง 5 ครั้ง และเขียนลายทองแบบเบญจรงค์ไทยด้วยมือทั้งผืน ทำให้ผ้าผืนนี้มีความพิเศษ ส่วนตัวทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผ้าผืนนี้เป็นองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดไปยังนักเรียนนักศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ด้วย