Update Newsท่องเที่ยว B Tripสกู๊ปพิเศษแหล่งเที่ยวไลฟ์สไตล์

สุขทันที …ที่เที่ยวพะเยา

เป็นอีกครั้งที่ B TripNews ได้เดินทางไปกับชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) ซึ่งร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงราย และครั้งนี้ก็เช่นเคยที่ประธานชมรมฯ คุณวรางคณา สุเมธวัน นำสมาชิกวัยเก๋าร่วมเดินทางไปทัศนศึกษาด้วย รวมครั้งนี้กว่าเก้าสิบชีวิต ระหว่างวันที่ 1-4 มีนาคม 2567  โดยเดินทางไปทางรถด่วนขบวนพิเศษดีเซลราง ในช่วงเช้าของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์  



Day 1

... เริ่มวันแรกกับการเดินทางด้วยข้าวเหนียวหมูปิ้ง รองท้องกันบนขบวนรถไฟ ซึ่งตามกำหนดการเราจะไปลงที่สถานีเด่นชัยในเวลา 15.45 น. ข้อดีของการเดินทางด้วยรถไฟคือ เวลาไม่ค่อยพลาด สามารถแพลนท่องเที่ยวได้ตามที่กำหนดเวลา เช่นเดียวกับครั้งนี้ นอกจากทานอาหารเช้าเรียบง่ายแล้ว ยังตระเตรียมอาหารกลางวันเพื่อให้อิ่มท้องกันด้วย







คณะไปถึงสถานีเด่นชัย หมุดหมายแรกแบบตรงเวลากันเลยทีเดียว หลังจากนั้นรถตู้ปรับอากาศรวม 9 คันก็มารับและพาไปยังร้าน So Good เมื่อไปถึงพะเยาตอนเย็น เพื่อเข้าพักผ่อนที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์ ภายใต้การบริหารงานของคุณพัฒน์ชญา จิตราพันธ์ทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพะเยา โรงแรมพะเยาเกทเวย์ค่อนข้างกว้างขวางมีห้องพักมากพอที่จะรองรับคณะได้อย่างสบาย ๆ













Day 2

พะเยา 

วันที่สองของการท่องเที่ยว ก่อนจะไปที่ไหน เรามาทำความรู้จักกับเมืองพะเยากันคร่าวๆ ก่อน ...

พะเยา เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในแถบลานนาไทย เดิมมีชื่อว่า ภูกามยาว หรือ พยาว มีอายุกว่า  900  ปี โดยพ่อขุนศรีจอมธรรม กษัตริย์แห่งราชวงศ์ลัวะจักรราชหิรัญนครเงินยาง เมืองเชียงแสน และเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพ่อขุนงำเมือง ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามอิทธิพลของอาณาจักรต่างๆ ที่ผลัดกันมีอำนาจในแถบนี้ จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พยาว เปลี่ยนชื่อเป็น พะเยา และรวมอยู่กับจังหวัดเชียงรายจนในปี พ.ศ. 2520 จึงได้รับ  การจัดตั้งขึ้นเป็น จังหวัดพะเยา





พะเยาถือเป็นเมืองรองที่น่าสนใจ ในวิถีที่เรียบง่าย สงบสวยงาม ดั่งคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า  “กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระเจ้าตนหลวง บวงสรวงพ่อขุนงำเมือง งามลือเลื่องดอยบุษราคัม” โดยเฉพาะวัดวาอารามต่างๆ ที่ถูกอกถูกใจผู้ร่วมเดินทางวัยเก๋าเป็นอย่างมาก


ก่อนจะไปทายทักเมืองกัน เช้านี้เราจึงไปสักการะอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง ซึ่งประดิษฐานตรงข้ามกว๊านพะเยา ก่อนจะเริ่มเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูซาง ที่อำเภอภูซาง เพื่อชมน้ำตกภูซาง จุดเด่นของน้ำตกแห่งนี้คือมีกระแสน้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส



คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมฯ
#พะเยา

อุทยานแห่งชาติภูซาง

คุณบันทม สมสุวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูซาง คุณนันทนา วังใจ นักวิชาการเผยแพร่ อุทยานแห่งชาติภูซาง และเจ้าหน้าที่ฯ รอต้อนรับเราอย่างอบอุ่น โดยบอกเล่าถึงความเป็นมาของ “อุทยานแห่งชาติภูซาง” และ”น้ำตกอุ่น”ที่เลื่องชื่อของที่แห่งนี้

คุณบันทม สมสุวรรณ


“น้ำตกภูซางเป็นน้ำตกที่มีความสูงประมาณ 25 เมตร เป็นน้ำตกที่มีน้ำไหลสม่ำเสมอตลอดปี จุดเด่นขอองน้ำตกภูซาง คือ มีกระแสน้ำเป็นน้ำอุ่นอุณหภูมิประมาณ 35 องศาเซลเซียส น้ำใสไม่มีกลิ่นกำมะถัน สามารถลงเล่นน้ำอย่างสบาย และในช่วงฤดูหนาวจะมีไอหมอกปกคลุมเต็มพื้นที่จนมองแทบไม่เห็นผืนน้ำ นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวจำนวนมากในช่วงนั้นรวมถึงวันหยุดสุดสัปดาห์




คุณนันทนา วังใจ
บ่อน้ำซับอุ่น เป็นบ่อน้ำซับอุ่นตามธรรมชาติ เป็นต้นน้ำของน้ำตกภูซาง สภาพป่าโดยรอบเป็นป่าดิบชื้นที่สมบูรณ์ และเนื่องจากบ่อน้ำซับน้ำอุ่นเป็นต้นกำเนิดของน้ำตกภูซาง สถานที่ทั้งสองจึงมีอุณหภูมิเท่ากัน




สิ่งอำนวยความสะดวก ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูซาง ภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติภูซาง มีสถานที่กางเต็นท์และบ้านพักรับรองไว้คอยบริการสำหรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีร้านค้าสวัสดิการของอุทยานแห่งชาติภูซางไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว เปิดตั้งแต่เวลา 08.30-18.00 น.







แต่วันนี้ ..น่าเสียดายที่บริเวณบ่อน้ำด้านบนเขาซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำเคยเปิดให้เดินขึ้นไปชม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการซ่อมแซมทางขึ้น ทำให้เราสามารถชื่นชมได้เฉพาะด้านล่าง แต่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง หลายคนถอดรองเท้าเดินจ่อมจมให้สัมผัสกับไออุ่นของน้ำตกอย่างใกล้ชิด เพราะน้ำตกแห่งนี้อยู่บริเวณใกล้กับลานจอดรถ สามารถเดินได้ไม่ไกลเลย แม้แต่วัยเก๋ายังสามารถเดินลงสัมผัสน้ำตกอุ่นได้อย่างสบายๆ



นอกจากคณะของเราจะสาละวนอยู่กับการถ่ายภาพกันแล้ว ยังเห็นหลายครอบครัวพาลูกเล็กเด็กแดงเข้ามาเล่นน้ำ ซึ่งตื้นพอที่จะทำให้สบายใจได้ในความปลอดภัย





สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูซาง โทร.0 5440 1099

#อุทยานแห่งชาติภูซาง #น้ำตกภูซาง



Mulbery Le Konglae 

“เดี๋ยวเราไปทานอาหารกลางวันกันที่ ร้าน มัลเบอร์รี่ เลอ กอง แล กันคะ” พี่อุษณา  หนึ่งในฟันเฟืองหลักของชมรมฯ บอกกับเรา

ที่ มัลเบอร์รี่ เลอกองแล เป็นสถานที่ที่ปลูกมัลเบอร์รี่พันธ์ต่างประเทศล้วนแบบอินทรีย์  พื้นที่แบ่งสัดส่วน โดยบริเวณด้านหน้าเป็นอาคารชั้นเดียว สามารถนั่งทานอาหารยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น แยม ชา ซอสจิ้ม และเครื่องสำอาง ส่วนโซนด้านหลังเป็นสถานที่ปลูกมัลเบอร์รี่







“อาหารทุกอย่าง จะมีส่วนผสมของมัลเบอร์รี่ ซึ่งเป็นพันธ์ที่เราปลูกเองบางส่วนและกระจายให้กับชาวชุมชนปลูกและนำผลผลิตนั้นมาแปรรูป” คุณสุชาติ สุวรรณอากาศ อดีตรองผู้ว่าฯ ในจังหวัดทางใต้และเจ้าของร้านแห่งนี้ บอกเล่าระหว่างเราเริ่มกันทานอาหาร

คุณสุชาติ สุวรรณอากาศ






แต่ความชุลมุนจะอยู่ที่ หลังจากทานอาหารกันอิ่มแล้ว นอกจากจะได้ชิมชาที่ทำมาจากผลมัลเบอร์รี่แล้ว ยังมีสินค้าผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ดึงดูดความสนใจของคณะวัยเก๋าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะครีมบำรุงผิวชะลอวัย อิอิ







ล้อเล่น.นนน .. ที่นี่มีสินค้ามากมายจนระรานตา ถือเป็นจุดแรกของการอุดหนุนผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่แทบจะเกลี้ยงร้านกันเลยทีเดียว เรียกว่า เจ้าของร้านยิ้มแก้มปริ เพราะทั้งโอน... ทั้งสแกน... ทั้งจ่ายเงินสด เสียงเครื่องคิดเงินบริเวณเคาน์เตอร์ดังตึ๊งตั๊ง.. ตึ๊งตั๊ง ไม่ขาดสาย









#มัลเบอร์รี่เลอกองแล

วัดพระนั่งดิน 

... เดินทางกันต่อ เพื่อไปยังวัดพระนั่งดิน ที่อำเภอเชียงคำ

วัดพระนั่งดิน วัดนี้เมื่อเข้ามาก็แปลกใจอย่างที่เห็น องค์พระนั่งดิน นั่งดินจริงๆ ไม่มีฐานชุกชีรองรับเหมือนพระประธานในวัดอื่น ๆ ตามประวัติบอกว่า เคยมีราษฎรสร้างฐานชุกชีและอัญเชิญพระประธานขึ้นประดิษฐาน แต่ปรากฏว่าพยายามอย่างไรก็ยกไม่ขึ้นจึงเรียกสืบต่อกันว่า พระเจ้านั่งดิน สันนิษฐานว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ หรือมีอายุกว่า 2,500 ปี ในการสร้างใช้เวลา 1 เดือน 7 วัน จึงแล้วเสร็จ









#วัดพระนั่งดิน

วัดนันตาราม



ไปกันต่อเลย ... วัดนันตาราม สร้างขึ้นโดยชาวไทใหญ่ แต่เดิมเรียก วัดจองคา เพราะมุงด้วยหญ้าคา มีฐานะเป็นพระอารามหรือสำนักสงฆ์สำหรับปฏิบัติศาสนกิจ ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกว่า วัดจองเหนือ เพราะตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเชียงคำ และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดนันตาราม ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของผู้สร้าง





ท่านเจ้าอาวาส เล่าถึงที่มาของวัดว่า “ที่นี่สร้าง เมื่อปี พ.ศ.2468  โดยพ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์ คหบดีผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดจองคา โดยได้สร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลังแทนวิหารที่มุงด้วยหญ้าคา แล้วจึงว่าจ้างนายช่างชาวพม่ามาออกแบบและทำการก่อสร้างวิหาร





พ่อเฒ่านันตาให้ชาวบ้านอัญเชิญพระประธานมาจาก วัดจองเหม่ถ่า ซึ่งเป็นวัดร้างในชุมชนไทใหญ่เดิมที่อำเภอปง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ลงลักปิดทอง ตามรูปแบบศิลปะมันดาเลย์ ที่นิยมในพุทธศตวรรษที่ 24”









ถึงว่าซี ... ดูจากสถาปัตยกรรมและองค์พระภายในวัดแล้ว บ่งบอกความเป็นไทใหญ่ชัดเจน

วิหารสร้างจากไม้สักทั้งหลัง หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงด้วยแป้นเกร็ด เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรสวยงามไม้ซ้ำกัน เสาทั้ง 68 ต้น ลงรักปิดทอง งดงามวิจิตรจริงๆ



“เราจะร่วมกันทำบุญบริจาคให้กับทางวัดแล้วแต่ศรัทธานะคะ” ประธานฯ แอ๊ว - วรางคณา ช.ส.ท. กล่าวกับคณะ ไม่กี่วินาทีปัจจัยก็ทยอยลงบนพาน นับรวมก็ราวหมื่นกว่าบาท ขออนุโมทนากับทางวัดซึ่งหลังจากนี้ก็จะนำไปบูรณะวัดต่อไป พลังวัยเก๋าคะ





#วัดนันตาราม

Day 3 

ธุมะสิกขีศรีจอมทอง (ลานพญานาคกว๊านพะเยา)







เช้านี้...คณะผู้จัดกำชับให้ตื่นกันแต่เช้าเพื่อไปตักบาตรกันที่กว๊านพะเยา บรรยากาศยามนี้จึงคึกคักตั้งแต่พระอาทิตย์เพิ่งโผล่ขึ้นขอบฟ้า สีเหลืองทองจากดวงอาทิตย์กลมโตสาดแสงรำไรด้านหลังอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง และพาดผ่านไปยัง ธุมะสิกขีศรีจอมทอง (ลานพญานาคกว๊านพะเยา) ประติมากรรมพญานาคสีขาว 2 ตน หัวหน้าเข้าหากัน มีองค์พระธาตุสีทองอยู่ตรงกลาง ริมฝั่งน้ำในกว๊านพะเยา ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ









โต๊ะขนาดย่อมวางเรียงยาวสำหรับจัดอาหารชุดสังฑทานที่ทางโรงแรมฯ เตรียมไว้ให้ตามความประสงค์ของผู้ร่วมทำบุญที่บริเวณลานพญานาค จำหน่ายชุดละ 100 บาท ไม่นานนักท่านเจ้าอาวาสและพระภิกษุสงฆ์จากวัดใกล้เคียงก็มาถึง สังเกตเช้านี้คณะวัยเก๋าสดชื่นเป็นพิเศษ บางคนใส่ชุดอาหารเรียบร้อย ยังร่วมถวายปัจจัยเพิ่มเติม







หลังจากรับพร อิ่มบุญกันถ้วนหน้า คณะของเราก็เดินทางกันต่อ คราวนี้จะไปบุกชุมชนเก่าแก่ของพะเยากัน



#ลานพญานาคกว๊านพะเยา

วัดถ้ำเทพนิมิต 

 “ ขึ้นรถคะ ขึ้นรถ เดี๋ยวเราไปดูนกยูงกันต่อคะ” เสียงตะโกนดังมาแต่ไกลจาก”พี่หญิงหนุ่ย”  คณะทำงานที่แข็งขันอีกคนที่คอยเช็คความพร้อมของจำนวนสมาชิกก่อนออกเดินทาง



อาจมีคำถามว่า ทำไมต้องดูนกยูง และทำไมต้องนกยูงที่วัดแห่งนี้



เพราะวัดถ้ำเทพนิมิต แห่งบ้านห้วยต้นตุ้ม ที่นี่ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวก็ว่าได้ เพราะทั่วทั้งบริเวณมีพระสองรูปแต่มีนกยูงหลายพันตัวกระจายถ้วนทั่ว ( ขึ้นอยู่กับความโชคดีและความเงียบสงบจึงจะได้เห็น พระท่านบอกมา )

รถตู้ 9 คันต้องรีบดับเครื่อง เมื่อเข้าสู่อาณาบริเวณวัด เนื่องจากพระอาจารย์ศรีไพร เขมาภิรโต เจ้าวาสวัดถ้ำเทพนิมิต ที่มายืนรอต้อนรับ ทำสัญลักษณ์ให้คณะของเราอยู่ในความเงียบที่สุด เพราะนกยูงค่อนข้างจะตื่นกับเสียงต่างๆ ได้ง่าย เมื่อใดก็ตามที่ได้ยินเสียงคนและเสียงรถ จะหนีหายกลับเข้าป่ากันไป ทำให้การจะมาชื่นชมนกยูงก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลย





วันนี้เราก็โชคดีอยู่บ้างที่ได้เห็นประปรายในช่วงรถมุ่งหน้าเข้าสู่วัดถ้ำ แม้จะไม่มากมายนัก แต่พระอาจารย์บอกว่า ทั้งสถานที่ของป่ามีประมาณ 4,000 ตัว

“ที่เราทำกรงนี้เพื่อดูแลบริบาลนกยูง เพราะนกยูงเป็นสัตว์อนุรักษ์ รวมถึงบางตัวที่ออกไข่มา ทางเราก็จะเอาไข่นั้นรีบมาเข้าตู้อบเพื่อให้เขาสามารถฟักตัวออกมาได้ ที่วัดมีตู้อบตู้เดียวสามารถนำไข่มาฟักได้ครั้งละ 10 กว่าฟองเนื่องจากไข่มีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่หรือไข่เป็ด หากไม่นำเข้าตู้อบเกิน 4 ชั่วโมง ไข่จะไม่ฟักตัว”  พระอาจารย์ศรีไพร เล่าให้ฟัง







.... เราลงรถตู้กันอย่างเงียบๆ เพื่อมาถึงจุดที่ทางวัดจัดทำส่วนของกรงขนาดใหญ่เอาไว้ส่วนหนึ่ง เป็นแหล่งอนุบาลนกยูงก่อนปล่อยสู่ป่าตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีล้อมรั้วบางส่วนด้วยผ้าคลุมสีดำ แต่ทำช่องเล็กๆและเขียนป้ายกำกับไว้ว่า “จุดดูนกยูง”

“ติ๊ก ๆ มาดูทางช่องนี้ เร็วๆ นกเต็มเลย” เสียงเรียกแบบกระซิบกระซาบ ชี้ชวนน้องนักข่าวที่ร่วมเดินทางเข้ามาส่องดู



น้องส่องเสร็จ ..เดินยิ้มออกมา

“พี่แคท พี่แคท มาดูทางช่องนี้ เร็วๆ นกเต็มเลย” และอีกหลายคนที่มีโอกาสส่องดูตามช่องดูนกยูง

พี่ส่องเสร็จ ...เดินยิ้มออกมา



... คะ นกบ่มีสักตั๊วเจ๊า 555  โดนหลอกกันถ้วนหน้า นกยูงวิ่งแจ้นหนีขึ้นเขากันไปหมดตั้งกะรถตู้จอดแล้วจร้า

จะเหลือก็แต่ที่โชว์โฉมหน้ากรงสามตัวที่พระอาจารย์ปล่อยออกมาเมื่อสักครู่นี่แหล่ะ

และเพื่อไม่ให้เสียชื่อคณะวัยเก๋า วันนี้ช่วยกันทำบุญซื้ออาหารนกยูงถวายแด่พระอาจารย์ได้ไปเกือบหมื่นบาท สาธุ สาธุ



#วัดถ้ำเทพนิมิต

โบราณสถานเวียงลอ 

ก็อิ่มบุญกับการทำทาน แล้วเรามุ่งหน้ากันต่อไปยัง โบราณสถานเวียงลอ ที่นี่บอกเลยว่าสุดอะเมซิ่งมาก ด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ กิจกรรมนั่งรถซาเล้งชมเมืองโบราณเวียงลอ และกิจกรรมต้อนรับของชาวชุมชน







ตามประวัติบอกไว้ว่า “ โบราณสถานเวียงลอเมืองโบราณในเขตล้านนาตั้งอยู่ในเขตตำบลลอ และตำบลหงส์หิน อำเภอจุน มีแม่น้ำอิงไหลผ่านกลางเมือง ทำให้เวียงลอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือฝั่งเหนือของแม่น้ำอิง อยู่ในเขตตำบลหงส์หิน และฝั่งใต้อยู่ในเขตตำบลลอ

 



จากคำเล่าผู้เฒ่าผู้แก่และตามหลักฐานต่างๆ เชื่อว่าเวียงลอเป็นเมืองเดียวในเขตล้านนาที่ปรากฏหลักฐานแนวคันดินกั้นลำน้ำ แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญา ในการทำระบบชลประทานขนาดใหญ่ที่มีประโยชน์ด้านควบคุมน้ำ เพื่อใช้ในด้านการเกษตร และเพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่เกษตร รวมทั้งศาสนสถานต่างๆ และที่ตั้งบ้านเรือนของชุมชน



 













 

ภายในเขตกำแพงเมืองพบวัดร้างมากกว่า 50 วัด ตามวัดร้างจะพบพระพุทธรูปหินทรายและพระพุทธรูปทองสำริดจำนวนมากแต่ถูกทำลายไปเกือบหมด พบเศษภาชนะดินเผาทั้งวัฒนธรรมหริภุญไชยตอนปลาย และภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาล้านนา นำมาเก็บไว้ให้นุ่นหลังศึกษาต่อไปที่พิพิธภัณฑ์เวียงลอ วัดศรีปิงเมือง

วัดศรีปิงเมือง นอกจากวัดนี้เป็นที่น่าดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาศึกษาเกี่ยวกับอดีต โบราณสถานแล้ว วัดศรีปิงเมืองจัดเป็นวัดสำคัญและเป็นศูนย์รวมของชุมชนชาวบ้านลอในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่  มีโบราณสถานสำคัญได้แก่เจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนา - สุโขทัย  มีสถานที่ใช้ประประกอบศาสนพิธีเป็นวิหารใหม่ที่สร้างครอบทับซากวิหารหลังเดิม

หลังจากเข้ารับฟังการบรรยายและให้ความรู้จากนักโบราณคดีที่วันนี้พิเศษตรงที่นำของใช้สมัยโบราณมาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด และเปิดโอกาสให้คณะได้เยี่ยมชมอย่างเป็นอิสระ

จากการสังเกต จะเห็นว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ค่อนข้างเก่าและทรุดโทรมพอสมควร ข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ถูกนำเก็บไว้ในตู้ขนาดเล็ก พระพุทธรูปที่นำมาจัดแสดง ส่วนใหญ่เศียรขาด เหลือเพียงท่อนลำตัววางโชว์เรียงรายจำนวนมาก ดูแล้วสลดหดหู่ใจสำหรับชาวพุทธอย่างเราจริงๆ





“เคยของบประมาณเพื่อมาบูรณะสถานที่แห่งนี้ แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล ตอนนี้ของเก่าในอดีต กรมศิลปากรนำส่งไปยังจังหวัดอื่นใกล้เคียงเพื่อเก็บไว้ แต่ทางจังหวัดพะเยาโดยเฉพาะที่นี่ชุมชนนี้ พร้อมจะดูแลและพัฒนาไปพร้อมๆกับชุมชน แต่ก็รอการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐมาหลายปีแล้ว” เจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

เสียงสะท้อนจากชาวชุมชน ที่รักและหวงแหนสมบัติครั้งในอดีตของพวกเขา ยังคงเป็นเพียงลมพัดผ่านไปอีกหรือไม่ คงต้องรอฟังคำตอบกันต่อ

ถัดมาเป็นการเที่ยวชมโบราณสถานด้วยรถซาเล้งพ่วงข้าง ที่บริหารจัดการโดยชาวชุมชนหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณรัชกานต์ ไข่ทา ประธานศูนย์ข้อมูล โบราณสถานเวียงลอ คุณ สุเวช ไข่ทา ผู้ใหญ่บ้านเวียงลอ ม.11, คุณวิวรรณ แสงจันทร์ นักโบราณคดี , คุณมนัส เวียงลอ ประธานชุมชนบ้านเวียงลอ ,  คุณประสงค์ โพธิ์แก้ว ประธานสภาเทศบาล ต. เวียงลอ , คุณผดุง วงค์กา นายกเทศมนตรี ต.เวียงลอ ซึ่งทุกคนมารอต้อนรับ ให้ข้อมูลและร่วมเดินทางไปกับซาเล้ง เพื่อบอกเล่าความสำคัญของสถานที่อย่างขะมักเขม้น แข็งขัน และภาคภูมิ



เส้นทางการเที่ยวชมโบราณสถานโดยรถซาเล้งพ่วงข้างนี้ น่าสนใจมากๆ ให้บริการคันละ 200-300 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนคน เขาจะพาไปเยี่ยมชมโบราณสถาน 16 วัด จากวัดแรกวัดศรีปิงเมืองข้ามสะพานแขวนไปแอ่วเวียงเก่าต่าง ๆ คุ้มค่าจริง ๆ นอกจากจะได้สัมผัสกับโบราณสถานที่น่าสนใจแล้ว ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศของท้องทุ่งเขียวขจีที่แลเห็นทิวเขาลิบ ๆให้ได้ชื่นใจกันอีกด้วย



งานนี้ คุณวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการสำนักงานททท.เชียงราย (พะเยา) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และนายอำเภอจุน นำคณะสื่อมวลชนและสมาชิกวัยเก๋า เกือบ 100 ชีวิต ตุเลงตุเลงกันข้ามแม่น้ำเข้าไปเยี่ยมชมกันอย่างใกล้ชิด บอกเลยว่าคุ้มค่าเป็นอย่างมาก เรียกว่า หากมาเยือนที่เวียงโบราณแห่งนี้ กิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือ การนั่งซาเล้งพ่วงข้างเยี่ยมชมเวียง











 















จะมีแอดเวนเจอร์บ้างก็ตอนที่ช่วงขากลับ จะขึ้นสะพานแขวนกลับมา รถซาเล้งพ่วงข้างบางคันรับน้ำหนักคนนั่งไม่ไหว คันต่อๆ มาก็ช่วยกันลุ้น หน้าซาเล้งค่อยๆ ลอย เล่นเอาลุ้นตัวโก่งทั้งโชเฟอร์และคนนั่ง

แต่โชเฟอร์สามารถแก้ปัญหาได้ทันที

“พี่คัพ รบกวนลงเดินแป๊บนึง” โชเฟอร์ทำตาปริบๆ บอกเสียงอ่อย

.. 555 ให้รถซาเล้งขึ้นสะพานแขวนได้ก่อน ค่อยโดดขึ้นกันต่อคะ



...ไม่เพียงเท่านั้น ทางผู้ใหญ่ยังจัดอาหารกลางวันและการแสดงฟ้องรำโดยชุมชน ให้กับทางคณะผู้มาเยือนอีกด้วย งานนี้หลังทานอาหารพื้นถิ่นกันเสร็จ แม้หน้าตาอาหารจะไม่คุ้นชินเอาซะเลยสำหรับเรา แต่รสชาติถูกปากมากกก













และเพื่อไม่ให้เสียชื่อคณะผู้มาเยือนอย่างเหล่าคุณแม่ คุณป้า คุณอา คุณตา คุณยายของคณะวัยเก๋า หลังอิ่มอาหารกลางวันแล้ว ก็ถึงเวลาช็อปคะ... ช็อปปิ้งกัน ตั้งแต่ผลไม้  กระเป๋า ผลิตภัณฑ์จักสาน ยันปลาแห้ง เรียกว่าลืมการชั่งน้ำหนักตอนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพ ฯ กันชั่วขณะ มาได้สติก็ตอนเริ่มหนักกับส้มโอหลายลูกในถุงที่อุดหนุนมา... อิอิ





แต่ขอบอก... ไม่ต้องห่วง คณะสื่อมวลชนวัยที่ยังไม่เก๋าที่ร่วมเดินทางมาทุกคนวิ่งไปช่วยไปคอยดูแลแบบไม่ห่างกายเจ้าคะ

เอ้า... ไปแอ่วเวียงลอ ไปผ่อเวียงเก่ากันจร้า ไปตามรอยกันเยอะๆ นะคะ แล้วคุณจะอิ่มเอมกลับไปอย่างที่เราได้รับมา

#โบราณสถานเวียงลอ


วัดศรีโดมคำ 

เรากลับออกมาจากโบราณสถานเวียงลอ ด้วยสภาพหนังท้องตึงหนังตาหย่อน สลบใสลกันไปบนขบวนพาหนะ มาตื่นอีกทีก็ได้ยินเสียงปลุก คราวนี้คณะของเรามากันที่ทำการ ททท.ริมกว๊านพะเยา เพื่อนั่งรถไฟฟ้านำเที่ยวเทศบาลเมืองพะเยา



 “วัดศรีโคมคำ” หรือที่ชาวพะเยาเรียกขานกันว่า “วัดพระเจ้าตนหลวง” ตั้งอยู่ที่ ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ริมกว๊านพะเยา เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวจังหวัดพะเยา





วัดศรีโคมคำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวง โดยสร้างขึ้นในระหว่างปีพุทธศักราช 2034 – 2067 พระเจ้าตนหลวง เป็นพระประธานเก่าแก่ในพระวิหารหลวง เป็นศิลปะเชียงแสนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในล้านนา มิใช่เป็นแต่เพียงพระพุทธรูปคู่เมืองพะเยาเท่านั้น แต่ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอาณาจักรล้านนาไทยด้วย มีขนาดหน้าตักกว้าง 14 เมตร สูง 16 เมตร สร้างจากอิฐมอญผสมปูนขาว ชาวพะเยาถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เดือนหกของทุกปีจะมีงานนมัสการพระเจ้าตนหลวง จะเห็นว่า ตราประจำจังหวัด  จะเป็น รูปพระเจ้าตนหลวงวัดศรีโคมคำ





รถไฟฟ้านำเที่ยวเทศบาลเมืองพะเยา ทยอยพาคณะเที่ยวชมรอบเมืองและแวะตามวัดต่างๆ ส่วนคันเราเจ้าหน้าที่พามาบ้านกาละแม เป็นบ้านที่ผลิตกาละแมมาหลายสิบปี รสชาติอร่อย ไม่หวานจนเกินไปเป็นที่ถูกอกถูกใจหลายคน ซื้อหาติดไม้ติดมือกันไปหลายต่อหลายห่อ ส่วนอีกกลุ่มไปขึ้นสกายวอล์ค 



 







#วัดศรีโคมคำ

วัดติโลกอาราม 

... หลังจากบ้านกาละแม เรามาถึงอีกจุดไฮไลท์ของการเที่ยวพะเยา วัดติโลกอาราม หรือวัดกลางน้ำที่มีชื่อเสียง  โดยหากจะเข้าไปสักการะต้องนั่งเรือที่ท่าเรือริมกว๊านพะเยา





วัดเก่าแก่กลางกว๊านพะเยาแห่งนี้มีอายุราว 500 กว่าปี เป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่มีมาก่อนกว๊านพะเยา ซึ่งจมอยู่ใต้กว๊านพะเยายาวนานกว่า 68 ปี ปัจจุบันตัววัดยังจมอยู่ใต้กว๊านพะเยามีเพียงยอดเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐดินเผา เท่านั้นที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา





 





ประเพณีที่สำคัญของวัดคือ การเวียนเทียน แตกต่างจากที่อื่นคือเป็นการเวียนเทียนกลางน้ำ ผู้ที่มาเวียนเทียน จะนั่งอยู่บนเรือเพื่อทำการเวียนเทียนรอบลานอิฐดินเผาและพระธาตุที่โผล่พ้นผิวน้ำ ในแต่ละปีจะมีการเวียนเทียน 3 ครั้ง คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา การเวียนเทียนกลางน้ำนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นั่นไง ... กิจกรรมนี้จึงโด่งดังไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ





... สำหรับการขึ้นไปสักการะวัดเก่าแก่แห่งนี้ เรือที่ใช้ยังคงเป็นเรือพายเท่านั้น คุณลุงผู้พายวัยเจ็ดสิบยังแข็งแรงและพายเรือมานานแล้ว ช่วงที่เราลงเรือเป็นช่วงเย็น อาทิตย์ใกล้ลับเหลี่ยมฟ้า เหลี่ยมน้ำสีเหลืองทองสวยงามมาก หากได้แวะมาเที่ยวที่จังหวัดพะเยา ไม่ควรพลาดที่จะนั่งเรือไปไหว้พระขอพรที่วัดติโลกอารามเช่นกัน และหากมีโอกาสลองสัมผัสกับบรรยากาศในการเวียนเทียนกลางน้ำที่มีแห่งเดียวในโลกซึ่งเป็น Unseen Thailand ด้วย









ปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เรือนำข้ามฟากไปยังวัดกลางน้ำเท่านั้น เรายังเห็นหลายคนพายเรือคายัคเที่ยวบริเวณริมกว๊าน นอกจากนี้ยังมีร้านรวงให้นั่งมากมาย แล้วแต่จะเลือกได้เลย





และแล้ว การท่องเที่ยวพะเยาวันนี้ก็สิ้นสุดลงที่ร้านอาหารริมกว๊านพะเยา ก่อนจะเดินทางกลับไปที่โรงแรมเพื่อพักผ่อนและเก็บของเตรียมตัวเดินทางกลับกรุงเทพฯกัน







#วัดติโลกอาราม

Day 4

วัดอนาลโยทิพยาราม ( ดอยบุษราคัม ) 

เช้านี้เริ่มทริปกันต่อที่วัดอนาลโยทิพยาราม ( ดอยบุษราคัม )

... เมื่อรถตู้เข้าจอด ณ ลานด้านหน้าวัดอนาลโยฯ  ก็ต้องร้อง ว้าว !! สวยมาก เราเห็นถึงความสวยงามอลังการของสถานที่แล้วรู้สึกเลยว่า พลาดไปได้อย่างไร มาเยือนจังหวัดพะเยาก็หลายหน แต่ไม่เคยได้มาสัมผัสกับความมหัศจรรย์ของที่นี่เลย



วัดแห่งนี้ สร้างขึ้นบนดอยบุษราคัม ณ บ้านสันป่าม่วง อำเภอเมืองพะเยา โดย พระปัญญาพิศาลเถร (ไพบูลย์ สุมังคโล ) สร้างขึ้นเพื่อเป็นอุทยานพระพุทธศาสน ตามประวัติบอกว่า หลวงปู่ไพบูลย์ หรือที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “พระปัญญาพิศาลเถร” จำวัดอยู่ที่วัดรัตนวนาราม อ.เมือง จ.พะเยา ท่านได้นิมิตเห็น ทรายทองไหลลงมาสู่วัดเป็นสาย รังสี แสงของทรายทองที่ไหลพรั่งพรูราวกับสายน้ำนั้นอาบวัดทั้งวัด จนแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ หลวงปู่ไพบูลย์ท่านมองตามลำแสงสีทองไปก็เห็นเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยา ซึ่งก็คือ “ดอยบุษราคัม





ที่มาของชื่อ “ดอยบุษราคัม” มีเรื่องเล่าขานกันว่า ในอดีตชาวบ้านมักจะเห็นแสงสว่างเป็นดวงกลม ล่องลอยไปมาอยู่บนดอยแห่งนี้ แสงสว่างที่เห็นนั้นดูเรืองรอง บางทีก็สว่างจ้าเป็นสีเหลืองทองอาบทั้งดอย ดูราวกับดอยทองคำ โดยเหตุการณ์เหล่านี้มักจะปรากฏในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันพระ 8 หรือ 15 ค่ำ







หลวงปู่ไพบูลย์ ผู้สร้างวัดแห่งนี้ เป็นพระกัมมัฏฐานในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่เคร่งครัดต่อการฝึกฝนวิปัสสนากรรมฐาน มีวัตรปฏิบัติที่เรียบ นอกจากจะเป็นเจ้าอาวาส “วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม” อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในช่วงก่อนละสังขารแล้ว สร้างวัดอนาลโยฯ แห่งนี้จากการพัฒนาป่าเขารกร้างบนยอดดอยให้กลายเป็นแดนธรรมมะ











จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเข้าสู่ภายในบริเวณวัด จะสัมผัสได้ถึงความงามสงบ อีกทั้งที่นี่เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยองค์ใหญ่และพระพุทธรูปางต่างๆ วิหารพระหมื่นปี มีองค์รัตนเจดีย์ที่สร้างตามศิลปะอินเดีย พุทธคยา (จำลอง) พระพุทธรูปางนาคปรก หอพระแก้วมรกตจำลองที่ทำด้วยทองคำ เรียกว่า หากจะให้ถึงซึ่งวัดแห่งนี้ก็คงต้องใช้เวลาเป็นวันกันทีเดียว



ก่อนเดินทางกลับออกมาจากวัดอนาลโย ฯ ทาง คุณวรางคณา ประธานชมรมฯ ได้เข้ากราบนมัสการเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ก่อนจะเล่าให้ฟังว่า “พระอาจารย์บอกว่า กำลังพยายามทำจุดชมวิวเหมือนกับสกายวอล์คยื่นออกไป เพราะมองออกไปแล้วจะสามารถมองเห็นกว๊านพะเยาได้ สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของท่าน คือ ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จที่นี่ แล้วเมื่อถึงเวลาเสวยพระกระยาหารเย็นพระองค์ท่านไม่เสด็จกลับ ท่านตรัสว่าจะกินข้าว จะอยู่ดูพระจันทร์ที่นี่ว่าจะสวยกว่าที่ภูพิงค์หรือไม่ เมื่อเห็นพระจันทร์ขึ้น ปรากฏว่าพระองค์ท่านรับสั่งว่า พระจันทร์ที่นี่สวยกว่าที่ภูพิงค์และมีพระจันทร์สองดวงคือมองได้ทั้งด้านบนและในน้ำในกว๊านพะเยา



ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ในอนาคต เราคงจะได้เห็นสกายวอล์ค เพื่อได้ชื่นชมกว๊านพะเยาและพระจันทร์สองดวงขึ้นที่นี่ ที่วัดอนาลโย ฯ แห่งนี้“



ถือเป็นวัดที่ดูเข้มขลัง น่าเลื่อมใส และงดงามเป็นอย่างมากวัดหนึ่งที่ไม่ควรพลาดทีเดียว

#วัดอนาลโยพิทยาราม

ไร่ภูกลองฮิลล์ 

หลังจากอิ่มบุญกันเรียบร้อย ก็เดินทางกันต่อไปยัง”ไร่ภูกลองฮิลล์” สถานที่ท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ ที่เดิมเคยเป็นเพียงสวนยางพาราธรรมดา แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนพัฒนาจนเป็นสวนดอกไม้ สวนสัตว์ สวนน้ำ ที่สวยงาม ท่ามกลางธรรมชาติที่มีบริการทั้งห้องพักและร้านอาหาร เรียกว่าครบวงจร











จากข้อมูล ภูกลองฮิลล์เดิมเป็นสวนยางพาราบนพื้นที่กว่า 700 ไร่ มีการจัดแบ่งพื้นที่ทำเป็นแปลงองุ่นและเมล่อนปลอดสารพิษจำนวน 10 ไร่ ซึ่งได้รับการตอบรรับอย่างดีตั้งแต่เริ่มให้ผลผลิตเมื่อปี 2559







ต่อมาทางผู้บริหารได้มีนโยบายให้เพิ่มการลงทุนเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแหล่งใหญ่ อีกทั้งเป็นสวนเกษตรปลอดสารพิษเพื่อสุขภาพโดยเน้นรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่มีการตัดทำลายต้นไม้ ล่าสุดในปี 2560 ได้มีการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 20 ล้านบาท ในการทำที่พัก สวนน้ำและศูนย์อาหารเพื่อรองรับและให้บริการแก่ชาวพะเยาและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ



โดยเฉพาะสวนดอกไม้ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ที่จัดมุมเช็คอินเอาไว้ให้บริการมากมาย

สามารถติดตามข่าวสารของภูกลองฮิลล์ได้ทั้งจาก Facebook ภูกลองฮิลล์ หรือทางโทร 08-61174788

#ไร่ภูกลองฮิลล์


วัดพระธาตุดอยพระฌาน 

นอกจากจะเตร็ดเตร่กันที่พะเยา เราแยกย้ายกับคณะวัยเก๋าซึ่งขึ้นเครื่องบินกลับจากกทม.ในช่วงหัวค่ำ

ส่วนเรา คณะสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ เดินทางกันต่อไปยังสถานีรถไฟจังหวัดลำปาง เพื่อนั่งรถไฟตู้นอนกลับกรุงเทพฯ ในช่วงหัวค่ำ

... แต่ระหว่างการรอเวลา เรามีโอกาสได้เข้าไปที่วัดแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง ที่ “วัดพระธาตุดอยพระฌาน” เพื่อขึ้นไปนมัสการพระใหญ่ไดบุทสึ วัดแห่งนี้ถือว่าเป็นวัดสวยบนยอดเขา เรียกว่ามาแล้วต้องเช็คอินกัน



เมื่อขับรถขึ้นไปถึงประตูเข้าวัดต้องนำรถจอดที่ลานจอด แล้วขึ้นรถสองแถวของทางวัดที่จัดเอาไว้ให้โดยซื้อตั๋วโดยสารขาขึ้นไป 20 บาท เมื่อได้ตั๋วแล้วก็ขึ้นนั่งบนรถสองแถวได้เลย และเมื่อจะลงมาก็ต้องเข้าไปซื้อตั๋วโดยสารอีก 20 ที่บริเวณจุดจำหน่ายตั๋วด้านบน



เมื่อไปถึงก็ต้องร้องว้าว !! (อีกแล้ว) ประหลาดใจกับความอลังการเหมือนกับหลุดไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว





เริ่มตั้งแต่มีบ่อน้ำที่มีกระบวยไม้วางไว้ในศาลเจ้า หรือที่เรียกว่า โชสุยะ สำหรับคนญี่ปุ่นใช้ในการชำระล้างร่างกายและจิตใจก่อนเข้าสักการะเทพเจ้า ถัดขึ้นไปจะเห็นซุ้มประตูโทริอิ เมื่อเดินลอดขึ้นไปจะพบกลองขนาดใหญ่



เดินอีกนิด ...จะมีทางลอดใต้ฐานองค์พระใหญ่หรือพระพุทธรูปไดบุทสึที่จำลองมาจากพระไดบุทสึแห่งวัดโคโตะกุอิน เมืองคามาคุระ ด้านใต้ฐานนี้จะมีรูปภาพบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของการสร้างองค์พระใหญ่ ภาพท่านเจ้าอาวาส “พระอาจารย์พรชัย อัคควังโส” เมื่อเดินถัดขึ้นไปบนบันไดอีกไม่กี่ขั้นจะพบกับป้ายขอพร (เอมะ) และโคมไฟแขวน



 





ซึ่งจริงๆ แล้ว บางคนก็จะขึ้นองค์พระใหญ่จากบันไดด้านหน้าติดกับสำนักงาน ซึ่งก็จะมีป้ายขอพรจำหน่ายให้นำไปติดไว้ได้ องค์พระพุทธรูปไดบุทสึ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ ห่มจีวรคลุมแบบเปิดพระอุระ พระพักตร์ดูอบอุ่นงดงามมาก





 









และเมื่อเดินข้ามฟากไปอีกฝั่งหนึ่งจะพบกับพระธาตุสีขาว ถัดไปจะเห็นตัววิหารสีทองอร่ามมีภาพปูนปั้นนูนต่ำลายต้นโพธิ์สีทองบนพื้นหลังสีดำ  ด้านหน้าวิหารออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมศิลปะแบบล้านนาผสมผสาน ประดับด้วยงานแกะสลักปิดทองลวดลายประณีตงดงามอ่อนช้อย โดยเฉพาะองค์พระประธานสวยงามมาก









หรือแม้แต่ซุ้มบันไดพญานาคสีทองด้านหน้าวิหาร ก็ดูน่าเกรมขามนัก ด้วยความที่วัดอยู่บนยอดเขาทำให้มองเห็นวิวทิวทัศน์ของโค้งน้ำและทุ่งนาอำเภอแม่ทะ อำเภอเกาะคาและอำเภอเมืองได้รอบทิศทีเดียว ข้อดีของการมาตอนเย็นก็คือได้เห็นแสงอาทิตย์สวยๆ แต่ก็จะถูกเตือนเรื่องเวลาจากเสียงตามสายตลอด





ใครมีโอกาสแวะมาเที่ยวเมืองลำปาง หากมีเวลาเหลือพอลองแวะมาเที่ยววัดพระธาตุดอยพระฌาน และเดินเยี่ยมชมให้ครบทุกจุดทุกเส้นทางท่องเที่ยว ได้แก่ 1 เจดีย์พระจุฬามณีศรีโพธิญาณ 2 พระวิสุทธิเทพ 3ศาลาธัมมวิโมกข์ 4 พระใหญ่ไดบุทสึ(พระอมิตาภพุทธะ) 5 ร้านดอยพระรีเฟรช กาแฟสด 6 ศาลาพระ 5 พระองค์ 7 พระธาตุดอยพระฌาน 8 วิหารสมเด็จองค์ปฐม 9 จุดชมวิว - บันไดนาค









ที่นี่ไม่อนุญาตให้ขับรถส่วนตัวขึ้นดอยในวันเสาร์ - อาทิตย์ ให้ใช้บริการรถโดยสารเท่านั้น เพราะด้านบนดอยสถานที่จอดรถน้อย เกรงว่าจะเกิดอันตราย

วัดเปิดเวลา 6.00- 17.00 น. มีเสียงตามสายคอยบอกเตือนให้ผู้ที่มาที่วัดได้ทราบตลอดเวลาใกล้ปิด เรียกว่า ประมาณ 16.45 น. ก็ให้เตรียมตัวกลับออกมาจากวัดกันแล้ว

#วัดพระธาตุดอยพระฌาน

.. กลับกันลงมาจากวัดพระธาตุดอยพระฌานตามเวลาที่กำหนด ยังไม่ได้เดินในอีกหลายจุดที่น่าสนใจ นั่นทำให้เราแอบหมายมั่นปั้นมือว่า .. วันหนึ่งจะกลับขึ้นมาที่วัดแห่งนี้อีกอย่างแน่นอน

----------

.. การเดินทางท่องเที่ยวสู่จังหวัดพะเยาทริป 5 วัน 4 คืน จบลงท่ามกลางเสียงเคลื่อนขบวนของรถไฟตู้นอนตลอดคืน ต่างคนต่างโบกมือแยกย้ายเมื่อรถไฟเทียบชานชาลากลางกรุงฯ ในช่วงเช้าของวันรุ่ง 

... คณะสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ พี่น้องหัวใจใหญ่ คิดถึงนะ ... คิดถึงเพื่อนร่วมทางที่แสนดี ...ทุกคน 

... คิดถึงคุณลุงคุณป้าคุณตาคุณยายคณะวัยเก๋าที่อบอุ่น



... แล้วพบกันใหม่ ภารกิจใหม่ สถานที่เที่ยวใหม่ ส่งความสุขให้กันตลอดไปนะคะ ... “พี่น้องหัวใจใหญ่”    

.......... สุขทันที ที่เที่ยว...”ด้วยกัน”  




นาริฐา จ้อยเอม