นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน “วรวุฒิ กาญจนกูล” โอดโควิด-19 รอบ 3 ทุบตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาส ที่ 2 ของปี ลูกค้าขอเลื่อนทำสัญญาออกไปก่อน อีกทั้งยังเผชิญภาวะแคลนแรงงาน และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของวัสดุก่อสร้างประเภทเหล็กเส้น ชี้หากไม่มีการระบาดรอบที่ 4 เกิดขึ้นทางสมาคมมองว่าครึ่งปีหลังตลาดรับสร้างบ้านน่าจะกลับมาปกติ พร้อมเร่งสร้างโอกาสช่วยเหลือบริษัทสมาชิกด้วยการปรับปรุงช่องทางการโปรโมทเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับจัดทำโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพและยกระดับบริษัทรับสร้างบ้านให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ผ่านโครงการอบรมทั้งแบบoff lineและแบบ on line เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงการอบรมได้ โดยง่ายแบบ new normal โดยความร่วมมือกับ Builk Group และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (Home Builder Association : HBA) เปิดเผยว่า สถานะการณ์ของรับสร้างบ้านในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 มีแววที่จะกลับมาสดใสอีกครั้ง โดยดูจากยอดจองสร้างบ้านในงาน “รับสร้างบ้าน FOCUS 2021” เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาที่มียอดจองเข้ามามากจนเป็นที่น่าพอใจ โดยตลอด 5 วันที่จัดงาน (ระหว่างวันที่ 10-14 มีนาคม 2564) มีคนลงทะเบียนและเข้าชมงานทั้งสิ้นประมาณ 12,000 ราย มียอดจองปลูกสร้างบ้านบนที่ดินรวมทั้งสิ้น 2,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดจองที่มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้อยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท
“ภาพธุรกิจที่เกิดในช่วงไตรมาสแรกเรามั่นใจว่าตลาดเริ่มที่จะฟื้นกลับมาทุกอย่างกำลังไปได้สวยหลายบริษัทโต กว่าเป้า จนกระทั่งมีการระบาดของโควิด19ในรอบที่3 เกิดขึ้นทำให้เกิดการชะลอตัวของกำลังซื้ออย่างชัดเจน หลายบริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯนั้นมีลูกค้าขอเลื่อนการเซ็นต์สัญญาออกไปก่อน ส่วนงานที่ทำสัญญาแล้ว ลูกค้าก็ขอให้ขยับการก่อสร้างออกไป ขณะที่ลูกค้าที่กำลังศึกษาข้อมูลก็ต้องชะงัก” นายวรวุฒิ กล่าว
พร้อมกันนี้ นายวรวุฒิกล่าว ยังสะท้อนถึงภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 ที่ระบาดรอบที่ 3 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปีที่การระบาดอย่างหนักรอบนี้มีคนเสียชีวิตเยอะ ความเชื่อมั่นใน การบริโภคลดลงคาดว่าตลาดน่าจะชะลอตัวอย่างชัดเจน ซึ่งกว่ารอบนี้จะสงบก็ต่อเมื่อมีการกระจายฉีดวัคซีนที่ทั่วถึง ซึ่งจะเริ่มที่ไตรมาสที่ 3 และหากไม่มีการระบาดรอบที่4เกิดขึ้นทางสมาคมมองว่าครึ่งปีหลังตลาดรับสร้างบ้านน่าจะ กลับมาเกือบเป็นปกติ ซึ่งต้องรอดูสถานะการณ์ว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดได้ดีเพียงไร
“ต้นทุนเหล็กเพิ่ม—ขาดแคลนแรงงาน”ซ้ำเติมปัญหา
นอกจากความเชื่อมั่นในการบริโภคลดลงหรือชะลอตัวอย่างชัดเจนแล้วบริษัทรับสร้างบ้านประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้มีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือ
1.การเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณเนื่องจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี2563ที่ผ่านมาและไม่มีทีท่าว่าจะลงมาอยู่ในราคาเดิมที่เคยเป็นอยู่
2.การขาดแคลนแรงงานเนื่องจากภาวะโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 แรงงานต่างด้าวที่กลับไปประเทศไม่สามารถกลับมาทำงานได้อีก ซึ่งจะสามารถแก้ได้ด้วยการที่รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถเดินทางเข้ามาได้ อย่างถูกกฎหมายเมื่อสถานะการณ์โควิดดีขึ้น ส่วนแรงงานคนไทยเองที่กลับต่างจังหวัด (ตจว.) เมื่อช่วงสงกรานต์ก็ไม่เดินทางกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯเนื่องจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูกยกระดับเป็นสีแดงเข้ม
“ราคาบ้านในช่วงนี้บริษัทรับสร้างบ้านในสมาคมฯส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้น เพราะยังต้องการตรึงราคาให้กับผู้บริโภคโดยบริษัทรับสร้างบ้านเป็นผู้รับภาระดังกล่าวไว้แต่จะตรึงได้นานแค่ไหนคงต้องพิจารณากันอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาส 2 นี้” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านกล่าว
สำหรับนโยบายที่รัฐบาลต้องการให้คนที่มีเงินนำเงินมาใช้เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งธุรกิจรับสร้างบ้านเป็น ธุรกิจที่จะสามารถสนองนโยบายนี้ได้อย่างชัดเจนเพราะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ผู้ที่มีเงินจะนำเงินออมมาสร้างบ้านใหม่ หรือปรับปรุงบ้านเก่าเนื่องจากมีความคุ้มค่าทั้งทางด้านราคาและยังมีเวลาที่จะดูบ้าน เนื่องจากการที่บริษัทต่างๆ องค์กรต่างๆ เลือกให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้านหรือนอกสถานที่ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (Work from Home :WFH) ในขณะนี้
ด้วยภาวะที่ภาคธุรกิจรับสร้างบ้านรวมถึงผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆอยู่อย่างหนักหน่วงนี้ สิ่งที่สมาคมธุรกิจนับสร้างบ้านทำให้บริษัทสมาชิกของสมาคมฯในช่วงที่เจอกับพิษโควิด-19 ผ่าน 3 แนวทางหลักๆ คือ
แนวทางที่ 1. ปรับปรุงช่องทางการเข้าถึงระหว่างสมาชิกกับผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซต์สมาคมรับสร้างบ้าน คือ www.hba-th.org เพื่อให้เว็บไซต์ของสมาคมฯเป็นศูนย์กลางให้กับผู้ที่สนใจจะสร้างบ้านได้เข้ามาหาข้อมูล และเข้าถึงแบบบ้านต่างๆพร้อมโปรโมชั่นของสมาชิกของสมาคมได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น อีกทั้งมีการโปรโมทเว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและผู้บริโภค
แนวทางที่ 2. ทำโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพและยกระดับบริษัทรับสร้างบ้านให้ได้มาตรฐานมากขึ้น โดย เตรียมโครงการอบรมทั้งแบบ Off lineและแบบ On line เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงการอบรมได้โดยง่าย แบบ New Normal โดยความร่วมมือกับ Builk Group และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนี้ ได้มีการดำเนินการกันในระดับหนึ่งแล้ว
และแนวทางที่ 3. โดยในไตรมาสที่3 ซึ่งช่วงนั้นคนไทยน่าจะได้รับวัคซีนกันไปมากแล้วสมาคมฯ ได้เตรียมจัด งานรับสร้างบ้านเป็นใหญ่ประจำปีที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ นั่นคือ “รับสร้างบ้านและวัสดุ Home Builder & Materials Expo 2021” ซึ่งจะตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการจะสร้างบ้านก่อนสิ้นปี
พร้อมกันนี้ นายวรวุฒิ ยังกล่าวย้ำในตอนท้ายด้วยว่า วัคซีนคือความจำเป็นที่จะทำให้ธุรกิจของประเทศรวมถึงธุรกิจ รับสร้างบ้านจะเดินต่อไปได้ เพื่อให้ถึงเป้า GDP ที่รัฐบาลวางเอาไว้
Post Views: 31