ShowTimeUpdate Newsท่องเที่ยว B Tripสกู๊ปพิเศษแหล่งเที่ยวไลฟ์สไตล์

“หรอยแรง แหล่งใต้” วันฟ้าฉ่ำฝน  Media FAM Trip to Trang – Krabi – Phuket

การเดินทางสู่ ตรัง กระบี่ ภูเก็ต เริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยบินไปกับนกเหล็กที่ชื่อ นกแอร์ ภายใต้สโลแกน ทั่วไทยอุ่นใจ บินไปกับนกแอร์ ที่พาเราทยานขึ้นฟ้า ใช้เวลาเพียง 1 ชม.เศษ ก็มาแลนดิ้งกันที่สนามบินตรัง เร็วได้ใจจริงๆ ครั้งนี้ได้รับความไว้วางใจจาก คุณสมชาย ชมภูน้อย ผอ.ททท.ภูมิภาคภาคใต้  ให้ลงพื้นที่ ร่วมสัมผัสกับดินแดน “หรอยแรง แหล่งใต้” กันแบบจุกๆ




...มาเริ่มที่แรกของทริปกันเลย มาทำความรู้จักเมืองผ่านอาหารท้องถิ่นแสนอร่อยกับร้านอาหารกลางเมืองตรัง ที่ชื่อ ริชชี่ เพื่อทานอาหารเช้ากัน ที่นี่ดูจะเป็นร้านรับแขกบ้านแขกเมืองพอดูด้วยเพราะสไตล์การตกแต่งและอาหารที่นำมาเสริฟ นอกจากนี้ยังเห็นภาพที่ห้อยแขวนไว้ตามฝาผนังร้าน รวมทั้งการรีวิวที่การันตีความอร่อยจากสื่อหลายสำนัก











 


“ร้านนี้อยู่คู่เมืองตรังมากกว่า 30 ปี อยู่กลางเมืองบนถนนรัษฎา ห่างจากสนามบินตรังเพียง 7 นาที” เรียกว่าเป็นร้านอาหารยุคแรกๆของเมืองก็ว่าได้ ก่อกำเนิดโดย คุณสธีรา ภูพิชญ์พงษ์ ด้วยความรักในรสชาติอาหารท้องถิ่นของเมืองตรัง และความชื่นชอบพวกขนมนมเนย จึงนำสิ่งที่เรียนด้านเบเกอรี่และอาหารนานาชาติมาที่นี่

เรียกว่า หากต้องการทานอาหารให้ได้สัมผัสถึงกลิ่นอายของเมืองปักษ์ใต้เพียบ ไม่ว่าจะเป็น เส้นหมี่แกงปูใบชะพลู  หมูทอดกะปิ หมูสามชั้นชิ้นใหญ่ทอดรสชาติ สะตอผัดกุ้งสด และอีกหลากหลายเมนูแสนอร่อยก็มีให้เลือกสรร แต่หากจะอยากชิมอาหารอื่นๆ ก็มีให้เลือกชิม

 

เสร็จสรรพก็เริ่มทริปกันเลย

Day 1 

ชุมชนล่องแก่งบ้านเขาหลัก 

ตามแพลนแล้ว เราจะเข้าไปล่องแก่งพายเรือคายัคกันบ้านเขาหลัก ซึ่งตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำผุด อำเภอเมืองตรัง แต่ด้วยสภาพอากาศที่ฝนตกหนัก หนักมากจนไม่สามารถไปล่องแก่งกันได้ ผู้ใหญ่ สวัสดิ์ ขุนนุ้ย เลยจัดเมนู ไก่ดำ มาเสริฟปลอบใจ อาจจะงงๆ ว่าทำไม ต้องเป็นไก่ดำ





ผู้ใหญ่ สวัสดิ์ ไขข้อข้องใจว่า “เมื่อหลายสิบปีก่อนเดิมทีเป็นพื้นที่สีแดง ไม่มีคนเข้ามาในบ้านเขาหลักเลย เพราะเป็นพื้นที่รอยต่อสามจังหวัดระหว่าง ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช จะมีค่ายคอมมิวนิสต์ค่ายใหญ่อยู่ข้างบน คนที่หลงผิดสมัยก่อนอยู่ข้างบน ทางรัฐบาลต้องการปราบปราม จึงให้คนในเขาหลักต้องอพยพออกและเริ่มปราบปราม

หลังจากนั้นเมื่อชาวบ้านกลับเข้ามาในหมู่บ้านก็จะเหลือแค่ซากปรักหักพัง จึงเข้ามาพัฒนาเรียกว่าเริ่มหนึ่งใหม่หมด เป็นการนับหนึ่งของบ้านเขาหลักและเริ่มพัฒนามาเรื่อย ๆ จนมาถึงยุคของผมที่เข้ามา ผมก็มองว่าทำอย่างไรอยากให้คนเข้ามาเที่ยว

ผมเสนอในที่ประชุมหมู่บ้าน ผมเป็นผู้ใหญ่มา 14 ปี มีการประชุมทุกเดือน เพื่อชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ เราอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแต่อยู่หมู่บ้านสุดท้ายของเมือง จึงต้องประชุมกันตลอดเพื่อให้ชาวบ้านรู้เท่าทันคนอื่น”



หลังจากนั้น ผู้ใหญ่บ้านได้ร่วมกับทางชุมชน จัดกิจกรรมนำเที่ยว ลักษณะแอดเวนเจอร์ โดยการพายเรือคายัค ไปตามสายน้ำที่สวยงาม ส่วนของไก่ดำก็เป็นส่วนที่ต้องการหารายได้ให้กับชุมชน โดยนำพันธ์เข้ามาแจกจ่ายกับชุมชนและรับซื้อเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้และความภาคภูมิใจสู่ชุมชน









ว่าแล้ว ...ผู้ใหญ่ฯ ก็นำไก่ดำ หอยจ๊อไก่ดำ และ... เมนูที่ทำจากไก่ดำซึ่งทางชุมชนได้จัดทำขึ้นสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวมาให้ชิมกัน อร่อยจนหลายคนซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านกันหลายแพ็ค เพราะนอกจากผลิตภัณฑ์จากไก่ดำแล้วยังมีผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่น่าสนใจอีกด้วย



ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี 

ฝนเริ่มเทลงมาหนักหน่วง แทบจะเป็นพายุ นั่นทำให้กิจกรรมพายเรือคายัคต้องยกเลิกเนื่องเพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายระหว่างเดินทาง เราจึงหันพวงมาลัยไปที่ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีกัน ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน

 







ด้านหน้าเปิดเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทออยู่ในอาคารส่วนหน้า และในส่วนด้านหลัง มีอาคารเรือนไม้สองชั้น สำหรับผู้ที่ต้องการรับรู้ถึงที่มาของผ้าทอนาหมื่นศรี

“พี่นุ๊ย” บอกว่า “ที่นี่ได้รับการปรับปรุงจัดสร้างเรือนไม้ที่เก่าจนแทบจะพังจากเครือเซ็นทรัล ที่มาสร้างให้ใหม่ เป็นเรือนไม้สองชั้น ด้านล่างเป็นสถานที่ทอผ้า ด้านบนเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม แสดงถึงที่มาของชุมชนผ้าทอหมื่นศรี 

ภายในพิพิธภัณฑ์ มีรายชื่อบุคคลรุ่นแรกที่ทอผ้าหมื่นศรีขึ้นมา ส่วนผ้าลายโบราณทั้งหมดที่อยู่ภายในตู้พิพิธภัณฑ์ทำขึ้นมาใหม่แต่เป็นลายโบราณ เพื่อแสดงลายผ้าที่น่าสนใจของนาหมื่นศรี”













ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งชุมชนที่ต้องมาเยือน เพราะนอกจากจะมีพี่นุ๊ย คอยให้ข้อมูลแล้ว ยังมีคุณป้า - อารอบ เรืองสังข์ เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนผ้านาหมื่นศรี ที่คอยแนะนำผู้มาเยือนแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย







ปัจจุบัน ผ้าทอนาหมื่นศรี นอกจากจะจำหน่ายเป็นชิ้นแล้วยังมีการตัดสำเร็จสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อไปสวมใส่ได้เลย นอกจากนี้ยังมีการดีไซน์ออกมาเป็น หมวก ผ้าพันคอ พวงกุญแจ กระเป๋า เรียกว่าอยากได้อะไรต้องลองมาเยี่ยมชมกันคะ

 

 

งานพราว PROUD OF TRANG ภูมิใจตรัง ภูมิใจเรา 

หลังจากอุดหนุนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เรียบร้อย ก็ได้เวลาเดินทางกันต่อเพื่อไปร่วมงาน พราว PROUD OF TRANG ภูมิใจตรัง ภูมิใจเรา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา เป็นกิจกรรมเชิญชวนให้มาเที่ยวฉ่ำ อิ่มจุก กับสินค้าชุมชน เขา ป่า นา เล เมือง พร้อมกับนิทรรศการและการแสดง โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ กลุ่ม Trang KIDS และพันธมิตร งานจัดหน้า OCCUR COFFEE



งานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่สินค้าในแต่ละชนิด การออกแบบบูธแต่ละบูธที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กิจกรรมขายเส้นทางการท่องเที่ยว กิจกรรม Work Shop สร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีการประกวดภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยว Unseen Trang การประกวดสร้างสรรค์ประติมากรรม นิทรรศการภาพถ่าย แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดตรัง

การออกบูธของชุมชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว พร้อมกิจกรรมสาธิต การจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และกิจกรรมขายเส้นทางการท่องเที่ยว













ซึ่งงานจัดได้อย่างน่ารัก น่ามองจริงๆ งานนี้มีแม่งานหลัก อย่าง นายสมศักดิ์ เสือบุญทอง ประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตรัง พร้อมด้วย นางสาวลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผอ.ททท.ตรัง นางสาวพันธุจีรา มุลเมฆ ตัวแทนพราวชุมชนและนายมงคล คงบัน ประธานกลุ่มตรังคิด เพียงแต่เจอสภาพฟ้าฝน ที่เทกระหน่ำลงมา จนทำให้ต้องเปิดงานกันภายใต้บรรยากาศชุ่มฉ่ำตามคอนเซ็ปต์ ทั้งที่เริ่มมีนักท่องเที่ยว ขาช้อปและผู้มาเยือนทยอยขับรถเลี้ยวเข้าสู่งานกันแบบไม่ขาดสาย













ค่ำคืนแรกในอำเภอนาโยง จังหวัดตรังของเรา จึงถูกต้อนรับด้วยบรรยากาศที่ชุ่มฉ่ำ บังเอิญว่าเราเป็นคนที่ชอบบรรยากาศแบบนี้ไม่ร้อนมากก็ตาม แต่ก็แอบเห็นใจผู้จัดงานและอยากบอกว่า หากมีการจัดในครั้งถัดไปและเรามีโอกาส ก็อยากมาร่วมงานให้กำลังใจกันอีกครั้ง

 Day 2 

เข้าสู่เช้าวันใหม่ วันนี้หลายคนปลื้มปริ่มยิ้มแก้มปริ เพราะมีโอกาสลองลิ้มชิมรสเมนูเลื่องชื่อของเมืองตรัง นั่นคือ หมูย่างตรัง ติ่มซำ ปาท่องโก๋แห่งร้าน “เขียวโอชา”









... หะแรก ที่บอกว่าจะพาไปทานอาหารเช้า ยังคิดอยู่ว่า เช้าๆ ทานอะไรได้น้อย ส่วนใหญ่จะหนักไปทางกาแฟซะมากกว่า แต่...

“ เอาเข่งนี้ และนี่.. นี่... นี่... คะ “  ใช่เลยคร้า หลังจากได้ชิมเมนูแสนอร่อยที่ คุณแอน.. พี่อ้อย.. และทีมงานททท.ตรัง สั่งมาให้ชิมและเอ่ยปากบอกกับเราว่าสามารถเดินสั่งเพิ่มเติมที่ด้านหน้าได้เลยคะ





...นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของความอร่อยแบบจุกๆ ก็แหม ... เข่งติ่มซำที่ตั้งอยู่ด้านหน้าเรียงรายนับร้อย ๆ เข่งให้เลือก หน้าตาแต่ละเมนู...ป๊าด !!! มันอดใจไม่ไหวจริงๆ

มื้อเช้า มื้อแรก กลางเมืองตรัง จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความอร่อยจริงๆ

ศาลเจ้าท่ามกงเยี้ย

หลังจากนั้นก็เดินทางกันต่อแบบจุกๆ เพื่อไปยังศาลเจ้าท่ามกงเยี้ย ศาลเจ้าท่ามกงเยี้ย มีความผูกพันกับชาวตรังเชื้อสายจีนมาอย่างยาวนาน ซึ่งเริ่มต้นจากชายชาวจีนจากอำเภอหุ้ยจิว มณฑลกวางตุ้ง ได้อัญเชิญขี้เถ้าในกระถางธูปที่บูชาองค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ย พร้อมยันต์ศักดิ์สิทธิจากวัดเก้ามังกร ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิธิรำลึกแด่องค์เทพท่ามกงเยี้ยติดตัวไว้คุ้มครองขณะเดินทงล่องเรือจากประเทศจีน จนกระทั่งได้มาขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยและได้มาตั้งรกรากอยู่เมืองตรัง โดยได้สร้าที่อยูอาศัยเป็นกระท่อมเล็กๆ อยู่บริเวณที่เป็นศาลเจ้าในปัจจุบัน



“ชาวตรังส่วนใหญ่มาขอบารมีขององค์ท่านให้ขจีดปัดเป่าทุกข์ละพึ่งพาได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะด้านประทานบุตร องค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ย ซึ่งเมื่อได้บุตรสมใจก็จะมักยกเด็กผู้นั้นเป็นลูกขององค์ยุวเทพท่ามกงเยี้ยเพื่อความเป็นสิริมงคลและจะตั้งชื่อภาษาจีนให้มีคำขึ้นต้นว่า “ท่าม” แล้วตามหลังด้วยชื่อตน



 

 

 

และสำหรับคนตรังมักเชื่อว่า สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย และมักจะมาบนบานกันด้วยหมูย่างทั้งตัวหรือขนาดย่อมลงมาตามศรัทธา” น้องเต้ย ททท.ตรังสายมู (อันนี้ผู้เขียนเรียกเองเพราะให้ข้อมูลแบบละเอียดยิบเกี่ยวกับศาลเจ้าแห่งนี้ อิอิ)  

หลังจากนั้นแวะไปยังร้าน ขนมเปี๊ยะ ซอย 9 การันตีของดีเมืองตรัง และหากจะทานหมูย่างให้อร่อย สิ่งสำคัญคือน้ำซอสปรุงรส ก็ยังไปโรงงานผลิตซีอิ๊วขาว ตราแกะ ที่มีการผลิตภายในพื้นที่มาอย่างยาวนาน



















วังเทพทาโร 

วังเทพทาโร หรือ วังมังกร 88 ตัว  แหล่งรวบรวมมังกรที่ทำจากไม้เทพทาโร ผลงานรังสรรค์จากปราชญ์ท้องถิ่นที่ชื่ออาจารย์จรูญ แก้วละเอียด อดีตครูภาษาอังกฤษ รร.ห้วยยอด

วังเทพทาโรเป็นที่แสดงงานศิลปะจากเศษไม้และรากไม้เทพทาโร อันหมายถึง ท่อนไม้แห่งเทวดา ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาอย่างสวยงามโดยฝีมืออาจารย์ ที่ค่อยๆ สร้างขึ้นจากความรักในบ้านเกิดและต้องการอนุรักษ์ไม้ชนิดนี้ที่ถือว่าเป็นไม้ที่อัศจรรย์ชนิดหนึ่ง

ต้นเทพทาโรหรือต้นจวงหอม สายพันธ์ต่างๆ ได้รับการอนุรักษ์จากอาจารย์ฯ หลังจากพบว่า ต้นเทพทาโรถูกชาวบ้านตัดโค่นเพื่อทำสวนยางพารา ทั้งที่สมัยก่อนมีนับแสนไร่  



อาจารย์จรูญ จึงทุ่มทุนและทุ่มเทสร้างวังเทพาโรแห่งนี้ขึ้นมาบนเนื้อที่กว่า 25 ไร่ ปัจจุบันต้นไม้ที่มีกลิ่นหอมชนิดนี้ได้ถูกนำมาปลูกแซมแทรกในทุกอณูพื้นที่ของที่นี่ สรรสร้างท่ามกลางสวนสวย และไม้แกะสลักรูปมังกรที่อาจารย์ลองนำท่อนไม้ เศษไม้และรากของต้นเทพทาโรมาต่อเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นรูปมังกรเพราะความเชื่อที่ว่ามังกรเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ 

 











“ลองดมดูครับ” อาจารย์ จรูญ คว้าใบต้นเทพทาโรข้างทางเดิน นำมาขยี้แล้วส่งมาให้ดม ความอะเมซิ่งของไม้หอมแบบนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นเทพทาโรพันธ์ไหน จะมีกลิ่นหอมที่แตกต่างกัน ซึ่งถือว่าเป็นไม้เนื้อหอมที่เมื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย แล้วมีสรรพคุณทางยามากมาย

เราเดินตามอาจารย์จรูญเข้าสู่ส่วนของ พญามังกรเก้ามงคล ซึ่งเป็นมังกรไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีการออกแบบให้สามารถลอดท้องมังกร 9 ช่องเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยอาจารย์เล่าว่าตั้งใจจะสร้างมังกรให้ครบ 89 ตัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มังกรตัวนี้ บ่งบอกถึงพลังอำนาจของแผ่นดิน



ฝั่งตรงข้ามวังเทพทาโร เป็นบ้านพักและแหล่งจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้เทพทาโร ที่โชว์งานศิลปะจากงานไม้ และของที่ระลึกต่างๆ







“โลกอยู่ได้มนุษย์อยู่ได้ ... ก็ที่จุด “พอเพียง” หนึ่งในหลากประโยคที่อาจารย์จรูญเขียนเอาไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งชีวิตของใครหลายคน และสำหรับเราเช่นกัน

เรากลับออกมาพร้อมกับความอิ่มเอมในความรักองค์พ่อหลวง รักแผ่นดินเกิด ที่อาจารย์ทำทุกสิ่งออกมาจากหัวใจ ตั้งใจมอบทุกสิ่งให้แก่อนุชนรุ่นหลังจากหัวอกหัวใจของชายผู้สูงวัยท่านนี้ “อาจารย์จรูญ แก้วละเอียด” ขอปรบมือดัง ๆ

AMATAYA WELLNESS ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพอมตยา  กระบี่ 

เสร็จสิ้นการเยือนตรัง เราเดินทางกันต่อไปยังอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ที่นี่เป็นที่ตั้งของ ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพอมตยา ศูนย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวมอมตยา ศูนย์กายภาพบำบัดด้วยน้ำพุร้อนเค็ม และบ้านพักผู้พักฟื้น



ด้วยความมหัศจรรย์ของทรัพย์ใต้ดิน ที่ทำให้เกิดน้ำพุร้อนเค็มธรรมชาติ ที่ถูกล่าวขานมากว่าร้อยปีถึงคุณสมบัติของแร่ธาตุและอุณหภูมิอันเหมาะสมหนึ่งเดียวในโลก จากความเชื่อสู่ผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ พร้อมกับประสบการณ์การดูแลเหนือระดับ ทั้งในด้านการฟื้นฟูร่างกายจากโรคต่างๆ การปรับสมดุลของร่างกายพร้อมช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในระยะยาว ค้นพบแนวทางในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง



จากเอกสารที่บอกถึง AMATAYA WELLNESS หลังจากดื่มเวลคัม ดริ๊งค์ ขั้นตอนต่างๆ ของการนวดและการแช่น้ำพุร้อนเค็มก็เริ่มขึ้น ณ บริเวณล็อบบี้ โดยต้องผ่านการวัดความดัน การสอบถามด้านสุขภาพ การเข้าพบกับแพทย์ของสถานที่ เพื่อให้คำแนะนำ





หลังจากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่บ่อน้ำพุร้อนเค็ม ซึ่งที่นี่มี 3 บ่อ บ่อน้ำพุร้อน 40 องศา น้ำพุเย็น 20 องศา และบ่อสุดท้าย หลังจากสลับแช่สองบ่อนั้นแล้ว ก็จะต้องมาลงที่บ่อน้ำพุร้อน 42 องศา เป็นการปิดจ๊อบ



โดยบ่อน้ำแยกฝั่งชายหญิง หลังเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับลงแช่น้ำแล้ว บริเวณนี้จะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละคนจะรองรับสภาพอุณหภูมิของน้ำได้ไม่เท่ากัน การลุกขึ้นจากน้ำที่เร็วเกินไป การแช่น้ำที่นานเกินไป ก็ถือเป็นผลต่างที่ทำให้แต่ละร่างกายได้รับ

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะจัดผลไม้เอาไว้ให้บริการ และให้นั่งพักผ่อนก่อน สำหรับครั้งนี้หลังจากแช่น้ำแล้ว เราก็เข้าไปนวดกันต่อ

ต้องบอกว่า ที่นี่สวยงาม ทั้งสถานที่ซึ่งดูสะอาดตา มีล็อคเกอร์จัดเก็บของใช้ส่วนตัว  มีห้องแต่งตัวที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน อีกทั้งบ่อน้ำที่สะอาดสะอ้าน อีกด้วย ถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ยกนิ้วให้



... และอะแฮ่ม ตบท้ายวันกันด้วย โรตีหน้าโวค แม้จะเป็นเพียงร้านริมถนนไม่ใหญ่เท่ากับที่ตรัง แต่ถือเป็นร้านที่ต่างชาตินิยมกันมาก อาจเนื่องมาจากมีเพียงร้านเดียวริมถนน ที่อยู่ไม่ไกลจากถนนคนเดินกลางเมืองกระบี่ และตั้งอยู่ด้านหน้าร้านขายยมานะชัยเภสัชที่มีภาษาจีนและภาษาอังกฤษเขียนเอาไว้ ที่นี่จึงส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมารับประทานกัน รวมถึงเมนูที่เกี่ยวกับโรตีที่หลากหลาย ลองแวะมาชิมกันได้เลย











ค่ำนี้เราจึงกลับที่พัก ที่ KRABI SEABASS Hotel ... ราตรีสวัสดิ์




 



DAY 3 

อีกครั้งกับ “คลองหรูด” 

“คลองหรูด” แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เรียกว่าถูกใจสายกรีนกันเต็มๆ ถือเป็นหนึ่งในอันซีนของจังหวัดกระบี่ ที่บอกว่าอีกครั้ง กับคลองหรูด เพราะไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้เข้ามาสัมผัส



เมื่อราวสิบปีก่อน ได้มีการสร้างฝายน้ำล้นที่บริเวณกลางลำคอลง เพื่อชะลอน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ทำให้ด้านบนของฝายเป็นลำคลองเล็กๆ และป่าพรุ กลายเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ความลึกประมาณ 5 เมตร กว้างประมาณ 200 เมตร ชาวบ้านพูดติดปากว่า คลองหนองทะเล











“เมื่อก่อนเป็นแค่ลำธารที่ชาวบ้านลงหาปลา น้ำกว้างขึ้นมาตอนเขาทำฝายเก็บน้ำ เด็กๆ มาเล่นน้ำกัน อบต.จึงคิดว่าน่าจะทำเป็นที่พายเรือคายัคต้อนรับนักท่องเที่ยว ก็ประมาณสิบปีมาแล้ว คนที่พายเรือบริการก็เป็นคนในชุมชน” บังเจ้าของกิจการเรือพายคายัค เล่าให้ฟัง

หากถามว่าทำไมถึงต้อง คลองหรูด เขามีที่มา คำว่าหรูดเป็นภาษาใต้ แปลว่า ลื่น ไถล ก็มาจากการที่น้ำในคลองไหลมารวมกันออกไปเป็นคลอง มีฝายทดน้ำที่เด็กๆ หรือชาวบ้านขอบมาเล่นสไลเดอร์กัน ชาวบ้านจึงเรียกว่า หรูด นี่แหล่ะ

ที่นี่ถือเป็นแหล่งที่เราอะเมซิ่งอย่างมาก ถือเป็น Green Activity ที่ไม่ควรพลาด บริเวณโดยรอบมีร้านรวงที่เปิดให้บริการเรือคายัค มีร้านกาแฟ มีห้องน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า

ซึ่งแต่เดิมเรายังเห็นร้านให้บริการไม่กี่เจ้า แต่เดี๋ยวนี้เริ่มมีนักธุรกิจเข้ามาเปิดบริการมากขึ้น แต่เราใช้บริการเป็นของชุมชนโดยบังรุจ เป็นเจ้าแรกที่นำชาวบ้านมาพายเรือ บ้างก็นำเด็กๆ เยาวชนมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เพื่อหารายได้เข้าสู่ชุมชน









... และด้วยคราวก่อนที่เราเลือกจะพายคายัคด้วยตนเองออกแรงไปพร้อมกับเพื่อนคู่ใจ ก็ทำเอาสะบักสะบอมพอสมควร ไหนจะต้องถ่ายภาพ ไหนจะต้องพยุงคายัคไม่ให้ชนกับต้นไม้และตอผุดใต้น้ำที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไหนจะนานๆ พายก็คัดซ้ายที.. คัดขวาที... ขึ้นไปอยู่บนตอมั่ง มุดเข้ารกเข้าพงมั่ง ครั้งนี้รู้ชะตากรรมเลยต้องขอเจ้าหน้าที่ช่วยพายให้หน่อยเหอะ ก็ต้องขอบคุณหนุ่มน้อยนักเรียนจากโรงแรมแถวๆ นี้มาพายเรือให้ .. สบายไป

การพายเรือคายัค มีค่าบริการการเช่าเรือลำละ 300 บาทนั่งได้ 1-3 คนและเริ่มต้นจากคลองหรูดถึงบ่อน้ำผุด ใช้เวลาประมาณ 40 ถึง 1 ชั่วโมง









ด้วยการเข้าไปสัมผัสความงดงามท่ามกลางธรรมชาติในช่วงหน้าฝน แม้สำหรับช่างภาพแล้วสีสันของท้องฟ้าอาจไม่แจ่มไม่ครามตามต้องการ แต่ผืนน้ำใสแซมแทรกสีเขียวของแมกไม้ตลอดทาง ใบบัวใต้น้ำเผยอโผล่อวดโฉม นอกจากนี้เมื่อเข้าไปยังสุดปลายทางน้ำ เขาเรียกว่าบ่อผุด เพียงแค่เราปรบมือหรือใช้มือเคาะให้เกิดเสียง ฟองอากาศจากใต้น้ำก็จะผุดแทรกดอกบัวน้อยๆ ขึ้นมาเป็นระยะๆ

... ได้เลย ว่าแล้วเราก็เริ่มต้นเคาะๆ เพื่อนร่วมทางจากลำอื่นๆ ก็เริ่มเคาะกาบเรือคายัคเสียงดัง ปั้ก ปั้ก ปั้ก บ้างก็ปรบมือชี้ชวนกันดูฟองน้ำผุดจากชั้นใต้ดินกันอย่างตื่นตาตื่นใจ











นอกจากกิจกรรมพายเรือคายัคแล้ว ที่นี่ยังสามารถลงเล่นน้ำได้อีกด้วย นักเที่ยวที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศ แช่น้ำเย็น ๆ และใกล้ชิดกับธรรมชาติ สามารถเตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนเพื่อลงเล่นน้ำได้



ร้านกาแฟโกปิออ 

 











วัดมหาธาตุวชิรมงคล (วัดบางโทง)

คราวนี้มาถึง วัดมหาธาตุวชิรมงคล วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่บ้านบางโทง ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2483 ในที่ดินบริจาคของนายเปล้า ทองศิริ นายมั่น เพ่งกิจ และนายน่วม ดำพันธ์ 







เดิมวัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกขานว่า “วัดบางโทง” ตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้ง วัดบางโทงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2496 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 70 เมตร ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2519  ในปี พ.ศ. 2545





เมื่อประชาชนและหน่วยงานจากหลากหลายภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการสร้างพุทธสถานและพระมหาธาตุเจดีย์ เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ” ขึ้นที่วัดแห่งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดบางโทงให้ใหม่ เป็น “วัดมหาธาตุวชิรมงคล” พร้อมทั้งให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ ขณะที่พระพุทธปฏิมาประจำพระชนมวารฯ ให้ใช้พระนามว่า “พระพุทธทักษิณชัยมงคล” 

พระมหาธาตุเจดีย์ ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ตั้งตระหง่านสูงโดดเด่นอยู่กลางวัด กับความสูง 95 เมตร ซึ่งถือเป็นเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในภาคใต้ บริเวณโดยรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์มีทางเดินหรือ “ระเบียงราย” เป็นทางเดินล้อมรอบองค์เจดีย์ทั้ง 4 ด้าน







โดยมีพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่เป็นจำนวน มากตามแนวทางเดิน เพื่อให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชา ภายในพระมหาธาตุเจดีย์จะมีพระพุทธรูปเป็นพระประธานองค์ใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ที่ต่างเดินทางแวะเวียนชมพุทธสถานแห่งนี้ และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และตกแต่งด้วยลายกนกลายไทยอ่อนช้อยอย่างวิจิตรตระการตา



บ้านบางพัฒน์  

ก่อนจะปิดทริปด้วยเมนูซีฟู้ดที่ บ้านบางพัฒน์  หมู่บ้านชาวประมงเชิงอนุรักษ์ติดทะเล มีป่าโกงกางที่ยังคงสภาพสมบูรณ์เกือบ 100% เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว และมีโฮมสเตย์พร้อมกับกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับต้อนรับผู้ที่เดินทางมา เช่น การพาไปเที่ยวชมเขาตะปู ถ้ำลอด ชมความงามตอนพระอาทิตย์ตกน้ำ พายเรือแคนู และร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตกับชุมชนในหมู่บ้าน วิถีชีวิตชุมชน เป็นไปด้วยความเรียบง่ายเป็นกันเอง ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ทั้งหมดจะเป็นพี่น้องชาวมุสลิม 100%



ชุมชนบ้านบางพัฒน์เป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นเกาะในอ่าวพังงา ตั้งบ้านเรือนนอกฝั่ง โดยมีสะพานเป็นทางเดินทอดไป สภาพพื้นที่เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ไม่มีพื้นดินในการเพาะปลูก ชาวบ้านส่วนใหญ่อาชีพประมงชายฝั่งและค้าขาย

“เมื่อก่อนนี้เขาเรียกว่า บ้านบางลิง เพราะมีลิงเยอะแยะ แต่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น บ้านบางพัฒน์ เดี๋ยวเราเดินข้ามสะพานไปก็จะพบกับชุมชนวิถีที่มีเสน่ห์ของที่นี่”















เจ้าหน้าที่ททท. ยังเล่าให้ฟังต่อว่า เสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้คือ ความใจดี ความโอบอ้อมอารีมีน้ำใจของชาวชุมชน รวมถึงสภาพธรรมชาติโดยรวบที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารทะเล จะเห็นว่า นอกจากจะมีร้านรวงจำหน่ายของที่ระลึก และสินค้าจากทะเลแล้ว ร้านอาหารทะเลสดยังเปิดบริการให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย รวมถึงมีโฮมสเตย์สำหรับคนที่ชื่นชอบและอยากจะเข้าไปดื่มด่ำกับความงามแบบวิถีชุมชนประมงเก่า

... ว่าแล้วก็เริ่มหรอยแรงกันเลย  

“พี่ๆ ขอที่คีบก้ามปูหน่อยคะ” ใครบางคนตะโกนขออุปกรณ์เอาชนะเจ้าก้ามปูแข็งหนาตรงหน้า

... พนักงานเสริฟทยอยนำเมนูขึ้นชื่อมาเสริฟ ไม่ว่าจะเป็น ปลาหมึกผัดน้ำหมึกดำ , กุ้งเผา , ปลาทอดราดน้ำปลา ส้มตำ หอยนางรม ยำสามกรอบ และปิดท้ายด้วยข้าวผัดปูจานเขื่อง ...  สรุปเห็นด้วยกับความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของอาหารจริงๆ

ถือเป็นการปิดทริปกันแบบจุกๆ กับ Media FAM Trip to Trang – Krabi – Phuket ครั้งหน้ามีทริปอะไรที่น่าสนใจทีมงาน B Tripnews จะนำมาฝากกันอีก

แต่หากยังไม่มีหมุดหมายในใจ...

.... 365 วันไปไหนดี....อย่าปล่อยให้ใจว้าวุ่น ... ... นี่เลย  ...  ร่วม “หรอยแรง แหล่งใต้” กัน







ขอขอบคุณ 

คุณสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการททท. ภูมิภาคภาคใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย



คณะเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ททท. ตรัง 

#AmazingThailand #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย #หรอยแรงแหล่งใต้

#ตรัง#proudoftrang #กระบี่ #krabi 
#คลองหรูด