“หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ-มูลนิธิพิทักษ์คชสาร” นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จ.กาญจนบุรี ติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร -สัตว์ป่า /แหล่งอาหารสัตว์ป่า
หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ และมูลนิธิพิทักษ์คชสาร นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามงานในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร -สัตว์ป่า และการฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าประชาร่วมใจ ถวายในหลวง ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและสัตว์ป่าที่มีปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะช้างป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพื้นป่าโดยไม่ระมัดระวัง ประกอบกับพื้นที่ป่าถูกบุกรุก กลายเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้สัตว์ป่าไม่มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่เพียงพอกับความต้องการ จึงได้มีโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการและฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคของทั้งคนและสัตว์ป่า รวมถึงเพื่อสร้างแหล่งอาหารของสัตว์ป่าและช้างป่าให้มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติอย่างพอเพียงในพื้นที่ที่ปลอดภัย จากนั้น ออกเดินทางไปดูงานที่โรงผลิตน้ำดื่มสะอาด ฝายกึ่งสระซอยซีเมนต์ โรงเรือนเกษตรพอเพียงในโรงเรียนเพื่ออาหารกลางวันและบ่อบาดาลชุมชน ซึ่งการดำเนินการโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร -สัตว์ป่า และการฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าประชาร่วมใจ ถวายในหลวง นี้ ได้กำหนดเป็น 4 ระยะ ในเวลา 4 ปี ครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล คือ ตำบลห้วยเขย่ง, ตำบลท่าขนุน, ตำบลหินดาด, ตำบลลิ่นถิ่น ซึ่งจะสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ฝายกึ่งสระซอยซีเมนต์ ฝายชะลอความชุ่มชื้น บาดาลน้ำตื้นเพื่อการอุปโภคบริโภค โรงผลิตน้ำดื่มชุมชน การปลูกป่าพืชพรรณอาหารสัตว์ การฟื้นฟูสภาพป่า ตลอดจนการส่งเสริมอาชีพราษฎร ตามแนวทางศาสตร์พระราชา เพื่อบริหารจัดการและฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำ ให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคของทั้งคนและสัตว์ป่า รวมถึงเพื่อสร้างแหล่งอาหารของสัตว์ป่าและช้างป่าให้มีแหล่งอาหารตามธรรมชาติอย่างพอเพียงในพื้นที่ที่ปลอดภัย ต่อมา หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ ได้นำคณะสื่อมวลชน เดินทางติดตามดูงานโครงการในพื้นที่ต่อเนื่องและตามรอยด่านช้างของโขลงช้างป่าทองผาภูมิ นอกจากนี้ หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ ยังได้บรรยายพิเศษเรื่อง ‘งานที่ลงมือทำเพื่อช้างคู่แผ่นดินคู่ศาสนา ’ ที่สอดคล้องกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร -สัตว์ป่า และการฟื้นฟูแหล่งอาหารสัตว์ป่าประชาร่วมใจ ถวายในหลวงด้วย โดยหลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ กล่าวว่า เกษตรกรในประเทศไทย มักจะประสบปัญหามีแต่หนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายพื้นที่เกษตรกรรมกลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า จึงได้ดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นมา เนื่องจากปัจจัยหลักในการทำการเกษตรคือ น้ำที่เป็นต้นทุนสำคัญ โดยได้มีการทดลองหาแหล่งน้ำธรรมชาติ และคิดค้น รวมถึงลงมือทำงานกันมา ตั้งแต่ปี 2541 และได้ริเริ่มทำบ่อน้ำ สระน้ำและฝายกึ่งสระซอยซีเมนต์ “ไม่มีน้ำ เราอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นปัจจัยที่มีความสำคัญของมนุษย์ รวมถึงสัตว์ ก็คือน้ำ โดยที่น้ำจะต้องไม่มีสารพิษปลอมปน และสามารถนำน้ำไปทำการเกษตรเพื่อการบริโภคได้ จึงได้ปรารภว่า คนทำการเกษตร ควรได้ทำงานปีละ 300 วัน แต่ปีนี้ทำงานกันเพียงแค่คนละ 2-3 เดือน ก็ทำให้ไม่พอกิน ต้องกู้หนี้ยืมสิน นอกจากนี้ เราคือคนตั้งเป้าหมายว่าจะทำงานให้ช้าง เพราะช้างไม่มีปากกา ช้างพูดภาษาคนไม่ได้ ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนพันธุกรรมของคนใหม่ เพื่อให้มีศีลธรรม” หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ กล่าว