อธิบดีสค.เดินสายพบปะสื่อฯ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เดินสายเยี่ยมสื่อมวลชน เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัว เพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระแสสังคม ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด “He For She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” และขอบคุณสื่อมวลชนที่ร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านสตรีและครอบครัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด พร้อมมอบชุดความรู้ด้านครอบครัว และเข็มกลัดริบบิ้นสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่มีความหมายถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบ โดยช่วงเช้าของวันนี้ได้เยี่ยมสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี, Now26 และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ,คมชัดลึก และสำนักข่าวเว็ปไซต์บางกอกทูเดย์ โดยมีบรรณาธิการข่าวให้การต้อนรับ และในช่วงบ่ายได้เข้าเยี่ยม สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 เอชดี หนังสือพิมพ์มติชน ไทยรัฐทีวี หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และเว็ปไซต์ไทยรัฐออนไลน์ นายเลิศปัญญา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” พม. โดย สค. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ตลอดจนสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการรณรงค์สร้างกระแสสังคมในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติคนในสังคม และให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิของตนเองในการใช้กฎหมาย และการเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือ สำหรับปีนี้ การรณรงค์เน้นให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเจตคติของคนในสังคม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม โดยใช้แนวคิด “He For She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง” ซึ่งอยากให้สังคมได้เห็นว่าผู้ชายก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในการไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีหรือคนในครอบครัวทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือจิตใจ โดยไม่ได้มุ่งเป้าว่าผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง ถึงแม้ข้อมูลในปี 2561 จะพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย (ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.violence.in.th) ซึ่งก็มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่เป็นสุภาพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสังคมในการช่วยแก้ปัญหาความรุนแรง สำหรับกิจกรรมในเดือนพฤศจิกายนนี้ สค. กำหนดจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มีกิจกรรมสำคัญและต่อเนื่องกัน คือ ในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 08.30 – 11.30 น. ท่านรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) เป็นประธานในพิธีเปิด และ “ประกาศเจตนารมณ์ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และในวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-18.30 ขบวนเดินรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ แบ่งออกเป็น 4 ขบวน โดยขบวนหลัก นำโดย พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เดินจาก ลานพระประชาบดี กระทรวง พม. ถึง ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และขบวนจาก UN ถึงลานคนเมือง โดยทีมสหภาพแรงงาน ขบวนจากถนนข้าวสารถึงลานคนเมือง โดยทีมผู้หลากหลายทางเพศ/สมาคมฟ้าสีรุ้ง และ ขบวนจากโรงแรมรัตนโกสินทร์ ถึงลานคนเมือง โดยทีมจากเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ภาคกลาง จ.นนทบุรี กลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย นักเรียนนายร้อยตำรวจ ทหารจากกองบัญชาการทหารบก กองบัญชาการทหารเรือ กองบัญชาการทหารอากาศ นักศึกษา และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ กว่า 1,000 คน การออกมาเยี่ยมสื่อในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการดำเนินงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ โดยตระหนักว่าสื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญในการประชาสัมพันธ์และสร้างกระแสให้สังคมเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการยุติความรุนแรงฯ จึงมีความตั้งใจในการเดินสายเพื่อเยี่ยมสื่อมวลชนทุกแขนงเป็นระยะๆ ตามโอกาสที่เหมาะสม และขอเชิญชวนพี่น้องสื่อมวลชนร่วมทำข่าวในวันที่ 23 และ 25 พฤศจิกายน 2561 (ในปีนี้ มุ่งเน้นประชาสัมพันธ์และสื่อให้เห็นถึงปัญหาของความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว สามารถขยายไปถึงความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ ในสังคม เช่น ความรุนแรงผ่านทางสื่อ social ความรุนแรงในที่ทำงาน ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงจากวาจาและท่าทางที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรงในสังคม ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในชุมชน และสังคมในที่สุด) และขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้แสดงพลังในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ด้วยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ” และขอให้ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ดี ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ได้กำหนดเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่เป็นผู้พบเห็นความรุนแรงหรือถูกกระทำความรุนแรง ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปลัดอำเภอ หรือกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งผ่านช่องทางระบบ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 ซึ่งสามารถโทรได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 24 ชั่วโมง นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย