อิมเมจิน ไทยแลนด์ฯ ชวนศิลปิน และ ผู้ก่อการดีเจ็ดเสมียนรุกใช้ศิลปะทุกแขนง สร้างพื้นที่สุขภาวะให้เยาวชน
“กลัวเด็กจะเสียคน เพราะติดโซเซียลมีเดีย ห้ามก็ไม่ฟัง เชื่อเพื่อนในโซเซียล แล้วถ้าไม่ให้เด็กเล่นมือถือ จะมีอะไรสร้างสรรค์ให้พวกเขาทำไหม..?? ” เหล่านี้คือสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ รวมถึง ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่ง “มานพ มีจำรัส” หรือ “ครูนาย” ศิลปินเต้นร่วมสมัย รางวัลศิลปาธร กระทรวงวัฒนธรรม (ศิษย์เอกของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน) ซึ่งมีโอกาสร่วมกับ ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้นำการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ Imagine Thailand Movement โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำลังชวนคนชุมชนเจ็ดเสมียน มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้พลังความร่วมมือของเหล่าผู้ก่อการดี ร่วมกันป้องกันปัจจัยเสี่ยงทุกรูปแบบ ไม่ให้กระทบ เยาวชน และคนในชุมชน ขณะเดียวกันก็คิดริเริ่มสร้างพื้นที่สุขภาวะให้เยาวชน คนต่างวัย ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดร.อุดม หงส์ชาติกุล เล่าว่า จากการเปิดใจพูดคุยกับปราชญ์ คนในชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ทั้งผู้ใหญ่บ้าน อบต. อสม. ผู้ประกอบการ รวมถึงครูนาย และศิลปิน อีกหลายคน มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ทุกคนล้วนรักและปรารถนาดีกับชุมชน อยากเห็นพื้นที่สุขภาวะในชุมชนเจ็ดเสมียน และยินดีเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สุขภาวะ โดยใช้ต้นทุนที่มีอยู่ ทั้งความรู้ ประสบการณ์ เครือข่ายความร่วมมือ และพื้นที่ โดยเฉพาะที่สวนศิลป์บ้านดิน (บ้านของครูนาย) รวมถึงบริเวณลานอเนกประสงค์ ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน ที่วันนี้มีลานสเก็ต ให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะ และอดีตมีชื่อเสียงเรื่องการแสดงศิลปวัฒนธรรม โดยคุณครูเล็ก และครูนาย ได้ชวนศิลปินมืออาชีพชั้นครู ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาเปิดการแสดง ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของชุมชน แต่ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สวนศิลป์บ้านดินที่เคยเป็นแหล่งรวมศิลปินรุ่นใหม่ๆ ที่มาเรียนรู้ศิลปะการแสดงต้องเงียบเหงาเพราะ “ครูนาย” ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดกิจกรรม ต้องล้มป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองตีบฉับพลัน ถึงขั้นเดินไม่ได้ ช่วงนั้นครูนายเกิดอาการท้อแท้กับชีวิต มีความคิดที่จะปิดตัวสถานที่แห่งนี้ แต่ฉุกคิดว่าชีวิตต้องเดินต่อ ต้องเปลี่ยนสวนศิลป์บ้านดินฯ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นพื้นที่กลางของชุมชน และเปิดกว้างให้คนภายนอกเข้ามาเสพศิลป์กับงานศิลปะ และให้คนในชุมชนได้มาพบปะ นำสินค้า ของดี มาแลกเปลี่ยนเวียนขาย ให้มีเวิร์กชอปสร้างสรรค์งานศิลปะทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเชื่อมโยงสวนศิลป์บ้านดิน กับ ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ดร.อุดม หงส์ชาติกุล และ “ครูนาย” ซึ่งได้รับการยอมรับจากชาวเจ็ดเสมียน ว่าเป็นศิลปินที่รักและปรารถนาดี กับถิ่นเกิดมากที่สุดคนหนึ่ง ได้ชวนอดีตผู้นำชุมชน และผู้นำชุมชน เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายกอบต.) อำเภอโพธาราม ปราชญ์ เจ้าของกิจการไชโป้ว เจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียน อสม. ผู้สูงอายุ รวมถึงภาคการศึกษา ทั้ง ม.ราชภัฎนครปฐม ม.ราชภัฎจอมบึง มาร่วมคิดร่วมออกแบบพื้นที่สุขภาวะ ให้เยาวชน คนต่างวัย ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสร้างเศรษฐกิจด้วย จนตกผลึกและนำมาสู่งาน “สุขสร้างสรรค์ สืบสานศิลป์” ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการคิกออฟกิจกรรมพื้นที่สุขภาวะ เริ่มจากสิ่งที่มี อย่างเป็นทางการ เพื่อเติมรอยยิ้มให้กับทั้งสองพื้นที่ โดยใช้ศิลปะการแสดงเป็นเครื่องมือ ภายใต้ความร่วมมือ ร่วมแรง ของเหล่าผู้ก่อการดีเจ็ดเสมียน “มานพ มีจำรัส” หรือ “ครูนาย” กล่าวในวันเปิดงานสุขสร้างสรรค์ฯ ว่า ตั้งใจให้สวนศิลป์บ้านดิน และบริเวณลานสเก็ตตลาดเจ็ดเสมียน เป็นพื้นที่สุขภาวะที่สะท้อนถึงความร่วมมือ คือทุกคนมีส่วนร่วมและให้ทุกคนได้ประโยชน์ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือสามารถป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง ให้พวกเขาได้ซึมซับงานศิลปะที่ช่วยจรรโลงและพัฒนาจิตใจ อีกทั้งเชื่อมร้อยให้คนต่างวัยได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่คนในชุมชนได้มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้พื้นที่นี้มีคุณค่า มีประโยชน์สำหรับทุกคน นายสุธี เล้าสุบินประเสริฐ นายอำเภอโพธาราม กล่าวว่า พื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนนั้นหายาก ขณะที่ปัญหาทุกวันนี้ เด็กและเยาวชน เสพแต่สื่อที่ไม่มีประโยชน์ การขัดเกลาทางสังคมจากคนรุ่นเก่าจะดึงให้เขาห่างไกลจากเทคโนโลยี การที่ชุมชน และ Imagine Thailand Movement ได้ร่วมกันคิดริเริ่มพัฒนาพื้นที่สุขภาวะขึ้น จึงเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพื่อให้คนที่เจ็ดเสมียน โพธาราม และคนราชบุรี ต้องมามีส่วนร่วมด้วยกัน เพราะเรื่องของเยาวชน สังคม คนสูงวัย มันเชื่อมโยงถึงกันหมด ซึ่งเป็นเรื่องดีที่มีกระตุ้นให้ทุกคนหันมาร่วมกัน ทำงาน เพื่อประโยชน์กับทุกคน “ขนบวิถีของคนไทยเป็นสังคมแห่งความเอื้อเฟือ แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลง วันนี้ทุกคนต้องมองไปข้างหน้าดังเช่นที่เจ็ดเสมียน ที่ครูนายและชุมชน ได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ ให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาวะดี ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง สำหรับชุมชนที่อยากจะเริ่ม ผมยินดีที่จะนำกระบวนการทางสังคมที่เรียกว่า Social Lab ไปถ่ายทอดเพื่อให้ทุกคนสามารถชวนกันลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับชุมชน เหมือนดังที่เจ็ดเสมียนได้เริ่มทำเป็นตัวอย่างแล้ว” ดร.อุดม กล่าว สำหรับความพิเศษ ของงาน “สุขสร้างสรรค์ สืบสานศิลป์” ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี ที่ผ่านมา คือ เป็นการรวมตัวของผู้ก่อการดี ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมจัดกิจกรรม มีเวิร์คชอปที่ได้รับความสนใจอย่างมากมาย เช่น สอนวิธีลับมีดและโชว์ผลงานการตีมีดด้วยมือ สอนพับผ้าขาวม้าเป็นดอกไม้ สอนปักมุมผ้าเช็ดหน้าลายดอกไม้ สอนทำดอกมะลิจากกระดาษทิชชู สอนการร้อยลูกปัด ส่วนเรื่องอาหารการกิน มีขนมเปี๊ยะคุณยาย น้ำพริก หัวไช้โป้ว ของดีเมืองราชบุรี และอื่นๆ อีกมากมาย ตกเย็นเมื่อแดดร่มลมตก มีการเปิดการแสดง ทั้ง “โอเปร่า” จากศิลปิน “ใบหม่อน” ศิโยน ดาวรัตนหงส์ การแสดงรำเจ็ดเสมียน โดยเหล่าผู้สูงอายุเจ็ดเสมียน ดนตรีจากศิลปินโฮมสคูล ที่ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียนติดริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อีกแห่งของเจ็ดเสมียน และเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟ ปัจจุบันสถานที่ริมน้ำได้รับการปรับภูมิทัศน์ให้มีลานเก็ตของกลุ่มเด็กเยาวชน และลานออกกำลังกายของผู้ใหญ่ และ วันเดียวกันได้มีการประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็นลานสร้างสรรค์ ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้ และมีส่วนร่วมกับเหล่าผู้ก่อการการดีพื้นที่สุขภาวะเจ็ดเสมียน ที่มีการจัดกิจกรรมสืบสานงานศิลป์ทุกเสาร์-อาทิตย์ หรือ ลานสร้างสรรค์ ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน ที่มีลานสเก็ต ให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะ มีกิจกรรมแอโรบิคยามเย็น สามารถสอบถามข้อมูลที่เพจ : สวนศิลป์บ้านดิน art and market บ้านนี้มีปราชญ์ https://bit.ly/3uYvAUN ส่วนความเคลื่อนไหวการขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ติดตามที่เพจ: Imagine Thailand Movement https://bit.ly/3jHVhlY