“อีสาน ออนซอน จุรินทร์” ติดตามการประกันรายได้สินค้าเกษตร ปี 2 พร้อมช่วยฟื้นฟูอาชีพต่อเนื่อง
วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.45 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่า การกระทรวงศึกษาธิการ นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการ บริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร นายสุทัศน์ เงินหมื่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรปี2 และมอบเช็คชําระหนี้และมอบโฉนดที่ดินของกองทุนฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้แก่เกษตรกรจังหวัดอํานาจเจริญและยโสธร ณ ศูนย์เรียนรู้ผักอินทรีย์ธรรมเกษตรไร่ภูตะวันออร์แกนิคฟาร์ม จังหวัดอํานาจเจริญ นายจุรินทร์ กล่าวต่อเกษตรกรว่า โครงการประกันรายได้เป็นนโยบายสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์และถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ที่ประชาธิปัตย์ต้องการทำเพื่อเกษตรกร วันนี้ประกันรายได้เกษตรกร “ทำได้ไวทำได้จริง”ของประชาธิปัตย์จึงเป็นนโยบายของรัฐบาลและได้ดำเนินการมาถึง 2 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 โดยเราจะประกันรายได้ของเกษตรกรในพืช 5 ชนิด 1.ข้าว 2.ยางพารา3.ปาล์มน้ำมัน4.มันสำปะหลังและ5.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวหอมมะลิประกันรายได้ที่เกวียนละ 15,000 บาท ทำให้พี่น้องมีหลักประกันเมื่อราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกันจะมีเงินส่วนต่างโอนเข้าบัญชีของพี่น้องเกษตรกรโดยตรงผ่าน ธ.ก.ส. และมันสำปะหลังประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท " โดย 2 ปีนี้สามารถช่วยเกษตรกรได้ถึง 8 ล้านราย ช่วยให้เม็ดเงินกระจายสู่กระเป๋าเกษตรกรเกือบ 100,000 ล้านบาท ในยามที่เราประสบวิกฤติโควิดปัญหาและเศรษฐกิจ เป็นเหตุผลที่ทำไมหลายอาชีพเดือดร้อนอย่างยิ่งแต่อาชีพหนึ่งเดือดร้อนน้อยกว่าหรือพอยังชีพอยู่ได้ เพราะนโยบายประกันรายได้เกษตรกร มาจุนเจือช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศคู่กับการส่งออกที่ตนรับผิดชอบ จนวันนี้การส่งออกขยายตัวมหาศาล เดือนพฤษภาคมตัวเลขส่งออกเป็นบวกถึง 41.59% เม็ดเงินเข้าประเทศ 3.5 ล้านล้านบาท รายได้จากการส่งออกส่วนหนึ่งจะแปลงมาเป็นนโยบายจัดสรรคืนให้เกษตรกรต่อไป ยิ่งการส่งออกมีมูลค่ามาก รัฐบาลก็จะยิ่งมีเม็ดเงินช่วยเกษตรกรมากเท่านั้นในบรรดาสินค้าที่เป็นพระเอกด้านการส่งออก คือ พืชผลทางการเกษตร ตราบเท่าที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลนโยบายนี้จะทำต่อไปและจะทำปีที่ 3 ต่อไป ซึ่งจะเริ่มเดือนตุลาคมปีนี้" นายจุรินทร์ กล่าว นอกจากนี้หลายคนที่เป็นหนี้และเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนนี้เป็นนโยบายหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปัตย์ทำให้เกิดกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลในปี 2540 ที่ท่านชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 โดยในที่ประชุมรัฐมนตรีนั้นตนได้ร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีและมีส่วนในการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ 1.ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร ที่เป็นหนี้สถาบันการเงินเข้าไปซื้อหนี้มาอยู่กับกองทุน โอนมาเป็นของกองทุน โดยวันนี้ไม่มีดอกเบี้ย 2.หากชำระไม่ได้ตามเงื่อนเวลา เราจะผ่อนปรนได้บ้างเท่าที่จำเป็น แต่จะไม่ยึดที่ดินทำกิน เพราะต้องการให้ที่ดินทำกินยังเป็นของเกษตรกรไม่ตกเป็นของนายทุน หากผ่อนครบก็จะคืนโฉนดกลับไป โดยวันนี้จะมาคืนโฉนดให้กับพี่น้องเกษตรกร 30 รายขอแสดงความชื่นชมกับผู้ที่สามารถผ่อนหนี้จนครบและได้โฉนดคืนและกองทุนยังมีนโยบายฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรวันนี้มีเงินจัดให้ 1,380 ล้านบาท เพื่อเป็นโครงการฟื้นฟูให้กับพี่น้องเกษตรกร ที่อำนาจเจริญกับยโสธรตนได้เตรียมโครงการมามอบ 14 โครงการ เป็นเงิน 8,800,000 บาท นอกจากนี้ได้แก้กฎหมายเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่เป็นหนี้รายย่อยที่บุคคลค้ำ วันนี้เราสามารถช่วยซื้อหนี้จากหนี้บุคคลค้ำได้แล้ว ซึ่งมี 2แสนถึง 3 แสนรายทั่วประเทศ และตอนนี้มีคณะอนุกรรมการจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว และในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ตนได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์จับมือกับสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเพื่อทำให้ครบวงจรภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพานิชย์ตลาด” โดยกองทุนฟื้นฟูเป็นเกษตรกรผลิตและพาณิชย์จะเข้ามาช่วยเรื่องการตลาด ทุกจังหวัดพาณิชย์จังหวัดจะมาร่วมกันกับอนุกรรมการจังหวัดช่วยพัฒนาให้เกษตรกรมีรายได้และส่วนที่เหลือเอามาใช้หนี้ได้ พวกเราทุกคนต้องจับมือกันทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ พี่น้องประชาชน ในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกฝ่ายขอให้ช่วยกันร่วมมือกันและปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด เพื่อช่วยให้เราฝันฝ่าอุปสรรคให้รอดพ้นไปได้เร็วที่สุด เพื่อประเทศของเราและเพื่อพวกเราทุกคน รายงานจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ระบุว่า 20 ปีที่ผ่านมา กฟก.อนุมัติเงินฟื้นฟู 881.81 ล้าน เป็นเงินกู้ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและปี 64 เป็นงบ 400 ล้านในยุคนายจุรินทร์นั้นอนุมัติกู้ยืมให้แล้ว 325.44 ล้านบาท เป็นเกือบเท่ากับ 20 ปีที่ผ่านมาของการทำงาน กฟก.เลยทีเดียว และจะอนุมัติให้ครบถ้วนตามเงินที่มี 340 ล้านด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรพอใจและสำนักงานกองทุนรวมทั้งประธานหนี้ในแต่ละจังหวัดประทับใจอย่างยิ่ง ในภาระกิจครั้งนี้มีผู้บริหารระดับสูง นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เข้าร่วมด้วย