เชียงใหม่ (3) พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)
เชียงใหม่ (3) พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)
ตามรอยเส้นทางท่องเที่ยว โครงการพระราชดำริ “ก้าวแรกสู่ ๙ ที่ยิ่งใหญ่”
หลังจากการเยี่ยมชมสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คณะของเราก็แวะทานอาหารกลางวันที่ร้านอาหารบ้านดินเล่าจาง สุกี้ยูนนาน รสชาดดั้งเดิมที่อยากแนะนำ
….วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายของการร่วมทริปตามรอยเส้นทางท่องเที่ยว โครงการพระราชดำริ “ก้าวแรกสู่ ๙ ที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งจัดขึ้นโดยททท.ร่วมกับพันธมิตรหลายภาคส่วน
กัปตันวรเนติ หล้าพระบาง วรเนติ หล้าพระบาง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด หนึ่งในพันธมิตรที่จะนำกิจกรรมดีๆนี้ให้กับประชาชนได้มีโอกาสเดินตามรอยพระบาทบอกว่า “สมัยเมื่อ 20-30 กว่าปีก่อนที่ทรงเสด็จมาในที่ต่างๆ ถนนหนทางไม่ดีเท่านี้ ลองหลับตานึกภาพว่า ตอนที่ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาลำบากแค่ไหน วันนี้พวกเราได้มาเห็นความสวยงามของโครงการหลวงซึ่งผ่านการพัฒนามานับสิบๆ ปี ก็อยากให้คนไทยรวมทั้งคนรุ่นใหม่ซึ่งไม่ทันได้เห็นพระราชกรณียกิจในตอนที่พระองค์ท่านเสด็จใหม่ๆ ได้หวนระลึกถึงพระคุณของพระองค์ที่ได้บุกบั่นฝ่าฟัน พัฒนาพื้นที่ต่างๆ จนกระทั่งเป็นโครงการหลวงและเป็นสถานที่ยอดนิยมในวันนี้
หลายคนอาจเคยไปเที่ยวโครงการหลวงในที่อื่นๆ มาหลายรอบแล้ว ครั้งนี้จึงอยากจะแนะนำสถานที่ใหม่ๆ เปิดประตูสู่การพัฒนาท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้กับประเทศไทยด้วย แต่นอกเหนือไปจากนั้นสำหรับโครงการนี้คือ เราหวังว่าโครงการนี้จะสามารถจุดประกาย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ๆ จะได้รำลึกถึงพระราชกรณียกิจและน้อมนำแนวคิดของพระองค์ท่านมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไป”
และก็มาถึงสถานที่สุดท้ายที่คณะของเราจะเดินทางไปบันทึกภาพกันคือ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)
การเข้าชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งนี้หากมาเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ในการบรรยายได้เพียงแต่ติดต่อก่อนล่วงหน้า เริ่มขึ้น โดยครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลตั้งแต่ประตูทางเข้าจนจบ
ภายในที่จัดแสดงนิทรรศการแบ่งเป็น 3 โซนหลักคือ โครงการหลวง โรงงานหลวงอาหาร สำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) และบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด โดยนำเสนอผ่าน คำบรรยาย ภาพถ่ายสื่อวิดีทัศน์ วัตถุจัดแสดง รวมทั้งการจำลองบรรยากาศภายใต้กรอบแนวคิดในการออกแบบ 3 ประการคือ ความพอเพียงเรียบง่าย เอกลักษณ์ของท้องถิ่น และกลิ่นอายหรือบรรยากาศของโรงงานหลวงฯ ถัดมาเป็นลานอเนกประสงค์ ส่วนกำเนิดโครงการหลวง ส่วนกำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป และบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด
ภายในพิพิธภัณฑ์ เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังเมื่อก้าวเข้าสู่ภายในอาคาร “สถาปัตยกรรมการสร้างโรงงานหลังใหม่เป็นสร้างให้กลมกลืนกับวิถีวัฒนธรรมของคนจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ที่นี่ เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างอยู่ใจกลางหมู่บ้านคนจีนยูนนาน ศิลปวัฒนธรรมการออกแบบจึงให้สอดคล้อง เช่นผนังจะฉาบไม่ให้เรียบเพราะคนจีนที่อพยพมาที่นี่ ทำบ้านสองแบบ อย่างแรกคือไม้ไผ่ สองคือทำด้วยดิน จึงจำลองให้เหมือนผนังบ้านดิน หลังคาเป็นเหมือนบ้านคนจีน และมีลานกลางบ้านสำหรับการจัดกิจกรรมสำคัญ เช่นวันไหว้พระจันทร์ ตรุษจีนที่มีญาติมารวมกัน”
เดินเข้าสู่ภายใน จัดแบ่งไว้ทั้งส่วนแสดงของเครื่องใช้ในอดีต และการฉายวีดิทัศน์เจ้าหน้าที่ เล่าต่อว่า “การแสดงเครื่องใช้ในอดีตเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าผู้ที่อยู่แถวนี้เมื่อก่อนมีหลายเชื้อชาติ คนจีน ไทย ไทยใหญ่ มูเซอที่อาศัยดอยอ่างขาง ชาวบ้านขอบด้งกับนอแล เห็นความสำคัญที่เราสร้างพิพิธภัณฑ์หลังนี้ขึ้นมาจึงนำสิ่งของเก่าๆ มามอบไว้ที่นี่ เช่นอานม้า อานฬ่อที่ใช้บรรทุกผลไม้จากดอยอ่างขางลงมา
กระทะทองเหลืองเป็นกระทะของคนจีนอพยพใช้ในการเคี่ยวสมุนไพรและฝิ่น กาน้ำเป็นของคนจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม จะนำใส่น้ำที่บริสุทธิ์และชำระล้างร่างกายก่อนเข้าพิธีละหมาด มีอุปกรณ์ถนอมอาหารของคนจีน จุกสูบฝิ่นสมัยก่อน เมื่อปี 2515 มีโรงสูบฝิ่น 2 แห่ง ซึ่งที่ตรงนี้มีโรงสูบฝิ่นสองที่สมัยปี 2515 หลักๆ จะรวบรวมมาเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดูว่าชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร”
ส่วนของวีดิทัศน์ แสดงให้เห็นถึงอดีตของอ่างขางเมื่อสี่สิบปีที่แล้วในปี 2513 เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น ค้ายาที่อพยพหนีเข้ามาในประเทศไทยมาทำการเกษตรแบบผิดวิธี คือปลูกแล้วย้ายที่ไปเรื่อย ๆ ผู้ชายชนเผ่ามูเซอดำอายุ 30 ปีขึ้นไปจะติดฝิ่น และเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของเด็กๆ บนดอย ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้อาหารครบห้าหมู่
จนเมื่อในหลวงแปรพระราชฐานที่เชียงใหม่ก็เสด็จประพาสและเห็นการปลูกฝิ่น ทำไร่ฝิ่น ตัดไม้ทำลายป่า ด้านคุณภาพชีวิต พระองค์จึงเข้ามาแก้ไขปัญหา
และที่สำคัญในส่วนนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงวิธีการแก้ไขปัญหาของพระองค์ท่าน การเข้าถึงประชาชนของพระองค์ท่าน มีการเสวยกับประชาชน ขึ้นไปบนบ้านของมูเซอดำ ดูความเป็นอยู่ของชาวบ้าน อาหารการกิน รูปที่มูเซอดำถวายเหล้าข้าวโพด เป็นอีกอย่างหนึ่งคือ พระองค์กล้าที่จะดื่มเหล้าข้าวโพด ทำให้ชาวเขาคลายความกังวลและกล้าเล่าปัญหาที่แท้จริง เป็นการเข้าถึงและเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง
เจ้าหน้าที่ยังคงเดินบรรยายนำชมต่อว่า “หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การพัฒนา เมื่อก่อนพระองค์ท่านเดินสำรวจไร่ฝิ่นจะเห็นต้นท้อป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติลูกเล็กไม่สามารถเก็บไปขายได้ จึงให้คำมั่นสัญญากับชาวเขาว่าพระองค์จะกลับมาใหม่พร้อมกับพันธ์ท้อที่เก็บขายได้เลย เป็นการทดแทนการปลูกฝิ่นให้มีรายได้ใกล้เคียงกัน
มีการบ้านให้เก็บไปคิดว่า จะทำอย่างไรให้ปลูกพืชแทนการปลูกฝิ่นได้ จึงเริ่มก้าวเข้าสู่การปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น สมัยนั้นเริ่มมีรัฐบาลของประเทศไต้หวันและกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการเกษตร พระองค์ท่านทำการทดลองเรื่อยมาจนประสบผลสำเร็จคือ ใช้การต่อกิ่ง ใช้ลำต้นเดิมของท้อป่าที่มีอยู่ใช้ลูกพีซมาเสียบกิ่งหลังจากนั้นประสบความสำเร็จ สามารถออกมาลูกโตเก็บขายได้เลย และปลูกข้างบนเวลาไปขายในเมืองร้อนจะได้ราคาสูง รายได้พอกับการปลูกฝิ่น จึงแนะนำชาวบ้านว่าการปลูกฝิ่นเหมือนกับการค้ายาเสพติด ปลูกพืชเมืองหนาว เมื่อจำหน่ายแล้วสามารถซื้อยามารักษาตัวเองได้โดยไม่ต้องสูบฝิ่นและไม่ต้องหลบหนี
และช่วยพัฒนาอีกอย่างหนึ่งคือ แก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย และเมื่อปลูกท้อปลูกพืชเมืองหนาวไม่ต้องถางไร่เลื่อนลอย ผู้คนก็อยู่รวมกันทำการเกษตรใกล้ๆกันได้ จึงเกิดการรวมกันเป็นหมู่บ้าน เมื่อเป็นหมู่บ้านพระองค์ก็นำหลายๆ อย่างเข้ามาให้
เมื่อพระราชทานคำแนะนำในการปลูกพืช ก็พระราชทานสัตว์เลี้ยง และส่วนแสดงที่มาของ หมูผี
ในนี้จะจัดแสดง การพระราชทานสัตว์เลี้ยง ที่ผ่านมาจะเห็นหมูมูเซอตัวดำเล็กๆ คุณค่าทางอาหารจะสู้หมูของเราไม่ได้ พระองค์ท่านจึงนำหมูมาพระราชทานให้ ที่นำมานำเสนอเพราะอยากสื่อให้เห็นว่า พระองค์ท่านก็ไม่ได้ทำอะไรสำเร็จหมดทุกอย่าง ในยุคแรกหมูที่พระราชทานไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะเขาเลี้ยงแบบผิดวิธี ไม่ให้หมูกินอิ่ม จึงไปกัดกินพืชผักสวนครัวและไปกัดกินไก่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านมูเซอดำเขาบูชาเรื่องผี
จึงคิดว่าหมูที่พระราชทานมาเป็นหมูผี ชาวบ้านจึงฆ่าทิ้งหมด พระองค์ท่านก็ไม่ย่อท้อ เอาหมูมาพระราชทานใหม่ พร้อมผู้เชี่ยวชาญมาสั่งสอน ให้หาอาหารมาให้หมูกินให้อิ่ม ก็จะไม่ไปกัดกินพืชหรือสัตว์ของชาวบ้าน และก็มีคุณค่าทางอาหาร อีกอย่างไปเสริมสร้างเรื่องวัฒนธรรมประเพณี สมัยก่อนผู้ชายจะแต่งงานก็จะใช้หมูในการขอสาว ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมประเพณีอีกด้วย
ด้านสุดท้าย คือด้านคุณภาพชีวิต หมอที่ตามเสด็จขึ้นไป จะมีคุณหมอ ถุงยังชีพขึ้นไป เมื่อก่อนปี 2517 ลูกจะคลอดจึงให้แพทย์ประจำพระองค์ไปรักษา ซึ่งบ้านอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
เมื่อทำทั้งหมดแล้วจึงเกิดขึ้นเป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทยที่ดอยอ่างขาง หม่อมเจ้าภีศเดช สรุปมาเป็น 3 คำ คือ ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก
ผู้บรรยาย ขยายความต่อในมุมนี้ว่า “ หลายคนข้องใจว่าทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงเสด็จในที่กันดารและที่ที่ไม่ใช่คนไทย หนึ่งเพราะพระองค์คิดว่าการไปช่วยชาวเขาเพราะชาวเขาอยู่กับป่า เขาจะดูแลป่า ดูแลต้นน้ำ เมื่อมีความเป็นอยู่ที่ดีก็จะดูแลป่าและน้ำให้เรา คนที่อยู่ข้างล่างก็มีกินมีใช้ เชื่อมโยงไปยังชาวโลก คือช่วยลดอุณหภูมิโลกร้อน ช่วยชาวโลกด้วย จึงออกมาเป็น 3 คำข้างต้น
ถือเป็นหนึ่งในหลักการทรงงานคือ คิดใหญ่ ทำเล็ก
แล้วก็มาถึง ส่วนจัดแสดงการก่อกำเนิด….. โรงงานหลวงแห่งแรก “ช่วงเวลา 2512 เดิมใช้ชื่อ โครงการพระบรมราชานุเคราะห์ชาวไทยภูเขา ปี 2515 จึงสร้างโรงงานหลวงแห่งแรก ปี 2518 ใช้ตราสัญลักษณ์ดอยคำและผลิตภัณฑ์ของโรงงาน หลังจากนั้นจึงสู่ยุคของการเปิดตัวสู่สาธารณะ แบรนด์ดอยคำ วางขายตามท้องตลาด ยุคนี้ไม่ค่อยมีการโฆษณาสักเท่าไหร่
ปัจจุบัน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปมีการดำเนินกิจการรวม 3 แห่ง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” โดยปี 2537 มีการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารงานในนาม บริษัท ดอยคำ ผลิตภัณ์อาหาร จำกัด โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับมูลนิธิโครงการหบวง ซึ่งยังคงวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานในการส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำมาผลิตและจัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ปลอดภัยจากสารแต่งเติมทางเคมี
การผลิต 3 โรงงานจะแตกต่างกันออกไป โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑(ฝาง) เน้นผลไม้แปรรูป อบแห้ง สตรอเบอร์รี่อบแห้ง แยม น้ำผลไม้เข้มข้น น้ำบ๊วย ส่วนโรงงานที่ 2 ที่เชียงรายจะผลิตน้ำเป็นหลัก ใส่กล่องพร้อมดื่ม เป็นน้ำสตรอเบอร์รี่ เสาวรส โรงงานที่ 3 ที่สกลนครเป็นมะเขือเทศเป็นหลัก ทั้งน้ำมะเขือเทศและมะเขือเทศเข้มข้น
เดินผ่านมาอีกมุมหนึ่งของส่วนจัดนิทรรศการ จะเห็นห้องจัดแสดงหนังเงาจำลอง เพื่อให้เห็นว่าสมัยก่อนคนทำงานกันอย่างไร พร้อมทั้งประวัติโดยย่อของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ที่ชาวเขาเรียกว่า เป็นหม่อมเจ้าของชาวดอย ในห้องจัดแสดงหนังเงาจำลอง มีการจัดมุมการทำท้อลอยแก้ว ผลิตภัณฑ์กระป๋องยุคแรกๆ ทำงานกับมือหมดเลย มีเครื่องหนึ่งเครื่อง คือเครื่องปิดฝากระป๋อง
ส่วนรถยนต์คันนี้เป็นรถโครงการหลวงยุคแรกๆ ที่ใช้ในโครงการ จะมีเครื่องอยู่ข้างหลัง ข้างหน้าใช้ขนของลงมาจากเขา เป็นโฟล์คสวาเก้นที่ใช้ในโครงการเมื่อก่อน เลขทะเบียน 1 ด และมาที่ส่วนของการแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่ชุมชนจีนยูนนานบ้านยาง เมื่อก่อนเป็นชนเผ่าปะกากะญออาศัยอยู่ที่นี่มาก่อน จนคนจีนที่หนีภัยสงครามอพยพเข้ามากองพล 93 จึงเข้ามาอยู่ที่นี่ คนยางจึงอพยพออกไป และเหลือเป็นคนจีนยูนนาน เมื่อก่อนเข้ามาไม่มีงานทำ รับจ้างขนฝิ่นไปขาย เมื่อพระองค์เลิกให้คนบนดอยปลูกฝิ่น จึงสร้างโรงงานนี้ขึ้นมา
และจะเริ่มเห็นส่วนของโภชนาการเด็ก ๆ เริ่มมาพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาให้เด็กที่พ่อแม่อยู่โรงงาน มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และให้ผู้ใหญ่คนจีนอพยพที่อยากรู้ภาษาไทยก็เข้ามาเรียนที่นี่ได้ ส่วนนี้เป็นสถานีอนามัย สร้างขึ้นมาเพราะ คนจีนไม่มีบัตรประชาชนเมื่อก่อนเป็นคนต่างด้าว หลักๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ในการบำบัดผู้ที่ติดฝิ่น”
โรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของบ้านยาง ผลิตกระแสไฟฟ้าปล่อยให้กับโรงงาน และเหลือยังไปให้หมู่บ้านใกล้เคียง
ผลิตภัณฑ์ของโรงงานในยุคแรก เป็นนมถั่วเหลือง พีช ข้าวโพดอ่อน ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นผง เพื่อใช้ชง แบบเดิมไม่มีแล้ว ส่วนพีชลอยแก้วก็นำไปใส่ขวดแก้ว ข้าวโพดอ่อนเลิกผลิตไปแล้ว สามยุคของโรงงาน ยุคแรก ยุคกลาง ยุคก่อนน้ำป่าพัดถล่ม
นอกจากนี้ยังมีรูปของคนงานให้เห็นว่า คนงานทำงานที่นี่ ไม่ต้องจากบ้านไปไหน นั่นคือที่มาซึ่งทำไมโรงงานของพระองค์ท่านจึงอยู่ในหุบเขาหรือที่ห่างไกล
ช่องทางตรงนี้เป็นความหลากหลายทางชาติพันธ์ ปอยส่างลอง กะเหรี่ยง คนจีน เราทำเป็นช่องทางให้ผู้คนมาต้อนรับสู่หมู่บ้านของพวกเขา และจุดเปลี่ยนที่สำคัญของโรงงานแห่งนี้คือ ช่วงหลังจากถูกน้ำป่าถล่มในยุคปี 2549
“น้ำได้พัดมาจากหลังโรงงาน ช่วงกลางวันฝนตั้งเค้า สี่โมงเย็นฝนตก สิบแปดนาฬิกากว่าๆ น้ำเริ่มเข้ามา….
ใจหาย ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าสงสารโรงงาน เสียหายพังไปห้าหลัง อุปกรณ์ข้างในไปหมดเครื่องกลึงอุปกรณ์ช่างหายหมด….” วีดิทัศน์สัมภาษณ์ แสดงภาพความรุนแรงจากภัยพิบัติในครั้งนั้น นอกจากคร่าชีวิตผู้คนแล้ว ยังทำลายทุกอย่างของโรงงานจนไม่เหลือ
“จนกระทั่งปี 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เข้ามาดูความเสียหายและมีรับสั่งให้สร้างโรงงานขึ้นใหม่ และสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นฝั่งตรงข้ามโรงงาน เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ท่านทำอะไรในที่นี้บ้าง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้”
ณ ปัจจุบัน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ถือเป็นได้ถูกแนะนำให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมในเส้นทางศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรมบ้านยาง อย่างเป็นระบบ
เพื่อให้ผู้มาเข้ามาเยือน ได้สัมผัสกับพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่รายล้อมไปด้วย แหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงนิเวศน์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมประเพณี บ้านเรือนชุมชนเดิม น้ำตกบ้านยาง โรงหมอหรือสถานีอนามัย โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยาง แปลงสาธิต โรงเรียนสอนภาษาจีน ศาลเจ้าแม่กวนอิม บ้านดิน มัสยิด ศาลเจ้าบ้าน โบสถ์คริสต์ ตลาดสด ถือเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติและวัฒนธรรมอันสำคัญที่ผู้มาเยือนจักได้เรียนรู้และเรียนรับในพระอัจฉริยภาพและความเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันหาที่สุดมิได้
จะเห็นว่า ผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราว เรื่องเล่าจากเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด ในทุกมุมของพิพิธภัณฑ์ ก็เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ซึมซับและเข้าถึงความคิดของพระองค์ท่าน พระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน และอีกหลายอย่างที่เราคนไทยจักได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณไปตราบนานเท่านาน
ติดตามตอนจบของทริปในตอนต่อไปค่ะ
______________________________________________________________
การเดินทาง จากเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่อำเภอฝาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 107 ระยะทาง 150 กิโลเมตร ถึงแยกอ่างขางแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกเพียง 9 กิโลเมตร พิพิธภัณฑ์เปิดตั้งแต่เวลา 8.30 .- 16.30 น. ปิดวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) วันหยุดประจำปี 15-30 กันยายน เวลาในการเปิดร้านขายของที่ระลึก เปิดตั้งแต่ 8.00 – 17.00 น. ปิดวันจันทร์ (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ที่อยู่พิพิธภัณฑ์ 72 หมู่ 12 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โทร 053 051 021 , www.firstroyalfactory.org
__________________________________________________________________
ร้านบ้านดินเล่าจาง
ร้านสุกี้ยูนนาน
สุกี้หม้อขนาดยักษ์ เป็นร้านที่อยากแนะนำให้ลองไปชิมกัน ไม่ใช่แค่อร่อย ยังอะเมซิ่งในอาหารที่ถูกจัดเรียงทับซ้อนกันสิบชั้นอยู่ในหม้อ วิธีทานคือ ต้องทานทีละชั้น เพื่อมีพื้นที่ในการนำผักต่างๆ ลงไป มีหม้อขนาดกลางและขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถทานได้หม้อละ 6 คนและ หม้อละ 10 คน ผ่านการการันตีมาแล้วจากแม่ช้อย นางรำ ส่วนด้านหลังมีรีสอร์ทเล็กๆ ที่มีความเป็นส่วนตัวและธรรมชาติไว้บริการอีกด้วย
ติดต่อสอบถามได้ที่ 087 124 8060 , 094 636 2824 facebook บ้านดินเล่าจางรีสอร์ท