“เปอร์สเปกทิฟ” ชวนพบกับ“รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์” ภายใต้อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่เพื่อเพื่อนมนุษย์กับรพ.ศิริราช
รายการ “เปอร์สเปกทิฟ” สัปดาห์นี้จะพาแฟนรายการเดินทางไปที่ สถาบันทางการแพทย์แห่งแรกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย “โรงพยาบาลศิริราช” ตลอดระยะเวลา 133 ปี มีบุคลาการทางการแพทย์มากกว่า 15,000 คน ซึ่งทุกคนมีหัวใจอันเดียวกัน นั่นคือการดูแลผู้ป่วย มากไปกว่านั้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันทางการแพทย์แห่งนี้ได้พัฒนาไปมากยิ่งขึ้น อย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บุคลากรต้องทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งแนวทางการรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นอย่างไร รวมทั้งทีมบุคลากรต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ในสภาวะวิกฤตแบบนี้! โดย “เปอร์ - สุวิกรม” จะพาไปพูดคุยกับ “รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ผู้มีอุดมการณ์ในวัยเด็ก ก้าวสู่อาชีพที่สร้างคุณค่าให้แก่ตนเอง และสังคม เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ห้ามพลาดชม ในรายการ “เปอร์สเปกทิฟ” คืนวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2564 เวลา 22.00 น. ทางช่อง 9 MCOT HD และFacebook Premiere #PerspectiveTV โดย “รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เปิดใจถึงการทำงาน และแนวทางต่าง ๆ “จากความรับผิดชอบ และเจตนารมณ์ที่แนวแน่ ในจรรยาบรรณวิชาชีพ พาให้เดินทางมาอยู่ในจุดของการรับผิดชอบงานด้านการบริหาร ที่ยังคงเกี่ยวเนื่องกับการดูแลผู้ป่วยต่าง ๆ จากเดิมค่อนข้างหนาแน่นอยู่แล้ว ยิ่งหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น ตามแนวคิดของคนศิริราช ที่ทำเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ก่อนสิ่งอื่นใดเสมอ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันการรับมือกับผู้ป่วยโควิด จนทำให้มีการจัดทำโครงการไอซียูสนามศิริราชร่วมใจ เป็นไอซียูที่สามารถดูแลผู้ป่วยโควิดได้ 20 เตียง ใช้สรรพกำลังของแพทย์และพยาบาล 3 โรงพยาบาล มาร่วมกันดูแล ปรับการรับมือไปตามสถานการณ์เพราะเป็นโรคระบาดใหม่ จากเดิมระลอกที่ 1 เราขาดแคลนความรู้ แต่พอมาระลอกที่ 2 มีองค์ความรู้ แต่ขาดแคลนอุปกรณ์ ผ่านระลอกที่ 2 มาได้เพราะเรามีความเชี่ยวชาญในการรักษาคนไข้ที่หนัก ๆ ก้าวสู่ระลอกที่ 3 ปรากฏว่ามีปัญหาใหญ่คือ บุคลาการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ เพราะคนไข้เยอะมากและบุคลากรที่ทำงานมาอย่างหนัก ป่วยติดเชื้อ หรือกักตัวจนปรับการบริหารจัดการสลับทีม แต่ยังพอรับมือไหว เพราะมีแนวทางตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Antigen Test Kit จะทำให้คนไข้สามารถ รู้เบื้องต้น ตรวจไม่พบเชื้อก็รอดูอาการระวังกันไป แต่หากพบเชื้อต้องมาตรวจซ้ำที่โรงพยาบาล นำผลนั้นไปยืนยัน เพื่อที่จะทำการ Home Isolation และรับยา แม้จะผ่อนแรงไปได้บ้าง แต่ก็ปรับตัวกันทุกวัน เพราะสถานการณ์แต่ละวันต่างกันไป แต่สิ่งที่จำเป็นและขาดแคลนก็ยังมีอยู่เพราะเราต้องรับมือกันทุกวัน และต้องขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน ซึ่งในทุก ๆ ปีประชาชนจะมีส่วนร่วมในการบริจาค เนื่องในวันมหิดล เรียกได้ว่า เรานำไปใช้บรรเทาได้จริง ๆ ประชาชนจะได้เห็นว่าเงินทุนเหล่านั้นเป็นส่วนสำคัญในการขยายห้องไอซียู หรือว่าซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน ทำให้เราค้นพบว่า การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เตรียมพร้อม มีอุปกรณ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้รอบด้าน ก็จะเป็นฐานสำคัญที่ทำให้เราเผชิญกับเหตุการณ์ทั้งหลายได้ไม่น้อย”