Update Newsกระทรวงศึกษาธิการการศึกษาบทความพิเศษไลฟ์สไตล์

เปิดเทอมใหม่ เด็กปลอดภัย ได้ความรู้ โดย ดร.กมล รอดคล้าย

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มีภาพยนตร์วัยรุ่น แนวรัก ตลก (Romantic Comedy) เรื่อง ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น เป็นเรื่องของนักเรียนช่วงปิดเทอมใหญ่ ที่สนุกสนาน มีกิจกรรมหลากหลาย เป็นวัยรุ่นเริ่มมีความรัก ทั้งสมหวัง ผิดหวัง หัวใจก็เลยว้าวุ่น ผ่านมาถึงปีนี้ไม่ใช่ปิดเทอม แต่เป็น เปิดเทอมใหม่ หัวใจว้าวุ่น และเป็นการว้าวุ่นทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและนักเรียน โดยประเด็นของความว้าวุ่นใจหรือกังวลใจก็คือ ลูกหลานไปโรงเรียนจะปลอดภัยจากโควิดหรือไม่ แต่ถ้าไม่ไปโรงเรียนความรู้ที่ควรจะได้รับจากการศึกษาก็ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ 


แนวทางในการจัดการและสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นสำหรับเรื่องนี้ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการต้องทำให้โรงเรียนปลอดภัย โดยถือเป็นนโยบายสำคัญที่สุดของกระทรวง ยิ่งมีสถานการณ์โควิดเข้ามาสมทบยิ่งต้องให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันเด็กก็ควรจะได้รับความรู้โดยการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน(onsite)หรือหากจะต้องเรียนโดยวิธีอื่นก็ต้องให้ความมั่นใจว่าเด็กจะได้รับความรู้ที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่ โดยทุกฝ่ายต้องทำให้กระบวนการจัดการศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด คำว่า “เด็กปลอดภัย และ ได้ความรู้” จึงเป็นคำสำคัญที่โรงเรียนต้องถือเป็นคำมั่นสัญญาว่าจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้จงได้


“เด็กปลอดภัย” หรือโรงเรียนปลอดภัยเป็นนโยบายสำคัญ และเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการทั้งนี้โดยตระหนักว่าโรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของเด็ก ความปลอดภัยของเด็กที่บ้านถือเป็นอันดับหนึ่ง ความปลอดภัยที่โรงเรียนก็ต้องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยทั่วไปเด็กจะบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต หรือไม่ปลอดภัย ด้วยสาเหตุสำคัญหลายประการ เช่นอุบัติเหตุ อุบัติภัย จมน้ำไฟฟ้าช็อต เครื่องเล่นในโรงเรียนชำรุด หรืออุบัติเหตุจากยานพาหนะบางกรณีเป็นภัยจากการใช้ความรุนแรง เช่นการถูกลงโทษเกินกว่าเหตุ การถูก Bully การเเสดงความเห็นต่าง การละเมิดทางเพศ ความรุนเเรงจากการทะเลาะวิวาท ภัยจากยาเสพติด การพนัน เกมส์ ภัยจากโลกไซเบอร์ 

รวมทั้งภัยจากโรคติดต่อ โรคระบาด ต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นภัยทั้งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและโดยน้ำมือมนุษย์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้มีการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนขึ้น เพื่อเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดโรคระบาดCOVID -19 ขึ้น ก็ถือเป็นภัยเฉพาะหน้า ที่ต้องเเก้ปัญหาให้จบสิ้นโดยไม่ละเลยปัญหาอื่นๆที่ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก


ภายใต้นโยบาย “โรงเรียนปลอดภัย “ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีโครงสร้างระบบความปลอดภัยขึ้นในสถานศึกษาทุกระดับ จนถึงในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด และระดับกระทรวง โดยทำหน้าที่ให้บริการรับเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 1579 และมีหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจของสพฐ. อาชีวะ และสังกัดอื่น ลงไปแก้ปัญหาทันทีเมื่อมีเหตุเกิดขึ้น 

นอกจากนั้นยังได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยทุกด้านขึ้น โดยจัดทำคู่มือผู้ปกครอง และนักเรียนนักศึกษา กำหนดแนวทางการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องเมื่อเกิดเหตุรวมทั้งบทลงโทษและวิธีการทางปกครอง กรณีครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง มีการสร้างเครือข่ายสถานศึกษาปลอดภัย ทั้งเครือข่ายนักเรียนนักศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน และพื้นที่ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดและประกาศให้ปี 2564 -2565 เป็นปีแห่งความปลอดภัยในสถานศึกษา จะมีการแต่งตั้ง Mr.& Miss ปลอดภัย ประจำหน่วยงานทุกระดับ มีแผนผังให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุ มีแนวปฏิบัติของผู้บริหาร ครูและบุคลากร 

ทั้งนี้เชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะควบคู่ไปกับ การป้องกันภัยจากโรคติดต่อโควิดซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สังคมได้มั่นใจว่าเด็กจะต้องปลอดภัยที่โรงเรียน และหากมีสถานการณ์หรือกรณีใดเกิดขึ้นกระทรวงศึกษาธิการจะเข้าไปดูแลจัดการเรื่องนี้โดยทันที อย่างจริงจังและเด็ดขาด 


“ได้ความรู้” คือเด็กจะต้องได้รับความรู้จากการเรียนอย่างมีคุณภาพ ในสถานการณ์โควิดการเรียนอาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยแต่ก็ได้มีความพยายามในการปรับตัวโดยจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ online และบูรณาการด้วยวิธีการอื่นๆที่หลากหลาย หากแต่ในการเตรียมการเพื่ออนาคต ได้มีการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นใหม่

 โดยเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีสาระสำคัญว่าด้วยสมรรถนะหลักสำหรับผู้เรียน อาทิ สมรรถนะการจัดการตนเอง การสื่อสาร การรวมพลังการทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มีขอบข่ายการเรียนรู้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้นโดยออกแบบกิจกรรมการเรียนเชิงรุก Active learning 

จากนั้นจะได้พัฒนาเครื่องมือการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ พัฒนาสื่อการเรียนและ Technology Digital ออกเเบบหนังสือเรียนใหม่ รวมทั้งทดลองใช้หลักสูตรนำร่องสำหรับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่สมัครใจ พร้อมทั้งมีการพัฒนาครู ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์และผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ ในโครงการพัฒนาครูเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้สู่ฐานสมรรถนะ โดยครูเเกนนำและขยายผลไปยังครูทุกคนทั่วประเทศ 

นอกจากนี้ได้มีการเตรียมพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายให้เกิดขึ้นในอนาคต อาทิ นวัตกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วิถีใหม่ การสอน coding การสอนเสริมเด็กเรียนอ่อน การพัฒนาสมรรถนะผู้มีความสามารถพิเศษ กิจกรรมค่ายวิชาการ ค่ายเสริมทักษะ การออกแบบภูมิทัศน์ของโรงเรียน อาคารสถานที่ บ้านพักครู การจัดอาหารกลางวันสำหรับเด็ก การวางระบบจัดการฐานข้อมูลในโรงเรียนการเทียบโอนผลการเรียน โดยมีการเก็บหน่วยกิตไว้ในระบบ Credit Bank ฯลฯ แนวคิดในการพัฒนาการศึกษาเหล่านี้กำลังมีการทดลองหารูปแบบที่เหมาะสม และประกาศใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนในอนาคต


ปัญหาการจัดการศึกษาในปัจจุบันมีทั้งเรื่องเดิมที่สะสมกันมาและปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด อย่างไรก็ตามภายใต้กระบวนการจัดการที่มุ่งมั่นของครูและผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษา จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการความรู้ได้ เราจะเริ่มต้นภาคเรียนใหม่ที่เด็กๆมาโรงเรียนแล้วต้องปลอดภัยและต้องได้ความรู้ จากนั้นกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นต่อไป ก็จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้นในอนาคต