Update Newsท่องเที่ยว B Tripแหล่งเที่ยว

เมื่อป่าชายเลนระนอง เตรียมพร้อมขึ้นแท่นสู่มรดกโลก

ไม่นานมานี้ กองบก. Btripnews ร่วมกับคณะสื่อมวลชนได้รับโอกาสให้เดินทางไปเยือน ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่ 3  (ระนอง) เพื่อเยี่ยมชมแหล่งป่าชายเลนธรรมชาติผืนใหญ่ที่สุดและถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งความงดงามทางธรรมชาติและระบบนิเวศน์ที่พร้อมแล้วสำหรับการยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งสำคัญของเมืองไทย แล้วที่มาที่ไปเป็นอย่างไร หนึ่งในผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของการลุยงานเพื่อดันให้สถานที่แห่งนี้ขึ้นเป็นมรดกโลกได้ คือ ผอ.วิจารณ์ มีผล ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุด

 

จุดเด่นของพื้นที่

คุณวิจารณ์ มีผล  นักวิชาการป่าไม้ชำนาญ การพิเศษ  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่3 (ระนอง) เปิดเล่าให้ฟังขณะพาคณะเดินลัดเลาะตามเส้นทางเข้าสู่ป่าชายเลนเพื่อชื่นชมธรรมชาติว่า “...ที่นี่เหมือนเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ของสังคมที่ไม่มีใครเห็นหรือให้ความสนใจ เป็นพื้นที่ที่มีบรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ  กระจายอยู่บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาร์ ด้วยพื้นที่พื้นที่ประมาณ 161,919 ไร่

จุดเด่นของพื้นที่ที่เข้าหลักเกณฑ์มรดกโลกที่มีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากล คือป่าชายเลนผืนใหญ่ ที่กั้นระหว่างไทยกับเมียนมา มีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนทั้งพันธุ์สัตว์และพืช รวม 500 ชนิดให้เรียนรู้ และสัมผัสกับประสบการณ์ที่มีคุณค่าสากลที่โดดเด่น  (Outstanding Universal Value)

นับเป็นป่าชายเลนผืนที่ใหญ่ที่สุดและมีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก  โดยป่าชายเลน ระนอง เข้าหลักเกณฑ์ในการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการส่งให้พิจารณา”



ภารกิจหลักของศูนย์ ฯ 

แต่ก่อนจะไปถึงจุดของการเป็นมรดกโลกได้ ภารกิจหลักของศูนย์ ฯ ทำอะไรบ้าง ผอ. ศูนย์ฯ เล่าถึงภารกิจหลัก ของศูนย์ฯ ว่า  “... ภารกิจหลัก ๆ มีสองประการ คือ งานด้านระบบนิเวศน์ป่าชายเลนด้านงานวิจัยต่าง ๆ  สองคือส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นที่ศึกษาดูงานของหลายหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศ

มีพื้นที่รับผิดชอบ 3 พื้นที่ คือ บริเวณสำนักงาน 66 ไร่  ป่าดิบชื้น มีจุดชมวิวที่จะเห็นป่าชายเลนที่สวยงามกว้างไปจนถึงฝั่งพม่า มีสวนรุกขชาติ เนื้อที่ 150 ไร่  ป่าชายเลนบริเวณคลองตำโหงง  เนื้อที่ 13,500 ไร่

พื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้เป็นพื้นที่ที่สำคัญมาก เนื้อที่กว่า 500 ไร่ มีต้นโกงกางยักษ์ สูง 33 เมตร ขนาด 210 เซนติเมตร ซึ่งนักนิเวศวิทยาจากประเทศอังกฤษได้เข้ามาสำรวจพบว่ามีอายุอยู่ระหว่าง 200 กว่าปี องค์สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จมาเยี่ยมชมเมื่อปี 2535”  

พื้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ มีโครงการความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ทำให้เป็นพื้นที่ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยสายพันธุ์ของพืชและสัตว์ที่หลากหลาย อีกทั้งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการให้ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในเรื่องความสำคัญของป่าชายเลน โดยในแต่ละปีมีผู้เข้ามาทัศนศึกษา ประมาณ 10,000 คน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

ปี 2545 ศูนย์ ฯ  สร้างสะพานเพื่อให้คนเยี่ยมชมป่าชายเลนได้อย่างสะดวกขึ้นถือเป็นแห่งแรกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยูเนสโกแห่งแรกเมื่อปี 2540 เป็นที่คาดหวังขององค์การยูเนสโกที่จะได้รับการขึ้นเป็นมรดกโลก





ผอ.ศูนย์ กล่าวต่อด้วยความภาคภูมิใจว่า “.... ที่นี่ได้รับรางวัลสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ดีเด่น ประจำปี 2547 ล่าสุดปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัล ต้นไม้ทรงคุณค่า ( Tree of Siam) จากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้นไม้ป่าชายเลนต้นแรกที่ได้รับรางวัลนี้”  




ความหวังของการก้าวสู่การเป็นมรดกโลก 

ผอ. กล่าวถึงการขึ้นเป็นมรดกโลกว่า  “ขั้นตอนการประกาศเป็นมรดกโลก  ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก การจัดทำเอกสารเพื่อบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น ( Tentative List)  ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางธรรมชาติและคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก

ประการที่สอง ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจากนั้นจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการมรดกโลกในต่างประเทศพิจารณาหากเห็นชอบแล้ว จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป

จึงได้วางแผนเตรียมความพร้อม ทั้งชุมชน วิถีชีวิต เศรษฐกิจ ลงลึกถึงเยาวชนในสถาบันการศึกษา ที่จะเป็นกำลังสำคัญ รักษาป่าชายเลน เพื่อให้ได้รับการพิจารณาเป็นป่ามรดกโลกแห่งใหม่ ในเร็วๆ นี้”

 



ล่องเรือสู่ต้นโกงกางยักษ์ 

เรือหางยาว เคลื่อนตัวไปอย่างช้า ๆ ผ่านเส้นทางกว้างใหญ่ของสายน้ำ ลัดเลาะเลียบใกล้ป่าชายเลน บริเวณ ต้นโกงกางยักษ์ เจ้าหน้าที่จอดเรืออีกลำรอต้อนรับ





“ .... ป่าชายเลนของระนอง สมบูรณ์มากและใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่สำคัญป่าที่ระนองมีความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ สาเหตุเพราะที่นี่มีปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของป่าชายเลน ฝนแปดแดดสี่คงเคยได้ยินเมืองระนองเป็นแบบนั้น มีฝนแปดเดือนแล้งแค่สี่เดือน เพราะฉะนั้นแปดเดือนมีปริมาณน้ำฝนมากทำให้ป่าชายเลนเจริญเติบโตดี

สองเพราะพื้นที่ชายฝั่งระนองเป็นพื้นที่ราบ น้ำทะเลท่วมตามน้ำขึ้นและน้ำลงแตกต่างกันถึง 4 เมตร การที่น้ำทะเลท่วมถึง 4 เมตรทำให้ป่าชายเลนกระจายไปได้ไกลและเจริญเติบโตได้ดี และมีลำคลองเล็ก ๆ เชื่อมต่อกันออกไปอีกเป็นลักษณะพิเศษกว่าที่อื่น

เรื่องแหล่งประมงก็สำคัญมาก อดีต ในปี 2519 ป่าชายเลนของระนองเป็นป่าสัมปทาน ให้เอกชนมาสัมปทาน ระยะยาว 15 ปี มีการตัดไม้ แต่หลังจากนั้นปี 1996 รัฐบาลปิดป่าชายเลนทั่วประเทศให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ แต่อนุโลมให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้ ที่สำคัญหลังจากที่เราอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้ ตอนนี้ถือเป็นแหล่งประมงที่สมบูรณ์ปัจจุบันจับปูดำได้ถึงสองร้อยตัน เพิ่มขึ้นมาก เพราะป่าสมบูรณ์ขึ้น ทำรายได้ให้กับประชาชนมากขึ้น







และที่ผ่านมา ป่าชายเลนลดความรุนแรงของคลื่นลมจากสึนามิได้ด้วย ด้วยเพราะสังคมของรากไม้โกงกางประสานกันแน่นทำให้เกิดความเสียหายบางส่วนเท่านั้น เราก็บอกชาวบ้านว่า ต้องช่วยกันปลูกป่าชายเลนจะช่วยในเรื่องของการเป็นกำบังคลื่นลมได้

ด้านความสวยงามทางธรรมชาติ ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมป่าชายเลนที่มีระบบนิเวศน์ที่สวยงาม ช่วงน้ำขึ้นเป็นสภาพแบบหนึ่งและน้ำลงก็จะเห็นอีกแบบหนึ่ง สามารถมาเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่ว่าถ้านั่งเรือเยี่ยมชมต้องสอบถามมาล่วงหน้าเพื่อเช็คระดับน้ำ”





 การจัดการด้านการท่องเที่ยวป่าชายเลน 



ผอ. ศูนย์ ฯ กล่าวว่า “นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาติดต่อที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้ โดยทางเราจะประสานกับเรือชาวบ้าน เพื่อนำนักท่องเที่ยว เที่ยวชมป่าชายเลนได้ เป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน

โดยคิดราคาลำละ 2,000 บาท เป็นเรือใหญ่ นั่งได้ 14 คน เป็นการจัดการท่องเที่ยวแบบ One Day Trip ใช้เวลาในการล่องเรือ 2 ชั่วโมง ก็จะพาไปคลองบางโขง ชมป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ไปชมต้นโกงกางยักษ์ ไปแวะชุมชนชาวเลบ้านเกาะเหลา ซึ่งปัจจุบันมีชาวประมงอยู่ราว 200 คน หากสนใจสามารถติดต่อได้

ตอนนี้ต้องยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ มีจำนวนน้อยและต้องเน้นในเรื่องงานวิจัย การจัดการด้านท่องเที่ยว ยังไม่มีงบพัฒนาด้านการท่องเที่ยวลงมา หากมีลงมาการจัดเรือนำเที่ยว คงจะหาเรือให้เล็กลงและมีราคาที่ถูกลงได้”  

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีทรัพยากรป่าชายเลนที่3 (ระนอง)