InterviewUpdate News

เมื่อผู้สูงวัย … ต้องใส่ใจดิจิตอล

เพิ่งผ่านห้วงเวลาของการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติของทางกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ชูแนวคิด “เตรียมพร้อมทุกวัย สู่สังคมผู้สูงอายุยุคใหม่ที่มั่นคง” ซึ่งกรมกิจการผู้สูงอายุถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายในกรดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ วันนี้เราเห็นการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในหลากหลายมิติ ส่วนจะมีอะไรบ้าง ...ตามไปสนทนากับอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ คุณธนาภรณ์ พรมสุวรรณ กันเลย


  

อธิบดี ธนาภรณ์ เล่าให้ฟังถึงการดำเนินมาตรการที่สำคัญของทางกระทรวงพม.ที่ผ่านมาว่า ....ที่ผ่านมามีหลายมาตรการที่ดำเนินการ เช่นการจ้างงานผู้สูงอายุ มาตรการการสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) และ มาตรการการบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ

รวมถึงมีโครงการ “ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมทุกมิติที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ นวัตกรรมการส่งเสริมศักยภาพ ภูมิปัญญา นวัตกรรมทางการเงินเพื่อเตรียมการสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ นวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้สูงอายุ การบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน แฟชั่นของผู้สูงอายุ และการเปิดตัว Gold Application “เมนูสิทธิผู้สูงอายุ”

นโยบายด้านการดูแลผู้สูงวัย


.... ผู้สูงอายุ ณ วันนี้ถือเป็นกำลังของประเทศชาติ เพราะประเทศมีผู้สูงอายุถึง 16.5 % ในปี 2564 จะมีถึง 20 % และในปี 2574 จะมีถึงเกือบ 30 % เพราะฉะนั้น ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ

จากข้อมูลมีผู้สูงอายุติดเตียงประมาณ 1.5 % ก็ประมาณ แสนกว่าคน มีผู้สูงอายุติดบ้าน 19 % ประมาณ 8 แสนคน และจะมีที่ติดสังคมประมาณ 79.5 % ก็ถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ประมาณ 8 ล้านคน

  

อธิบดี ธนาภรณ์ เล่าถึงวิธีการแก้ปัญหาผู้สูงอายุในทุกกลุ่มปัญหาว่า “จากตัวเลขของผู้สูงอายุติดเตียงที่มีอยู่ราว 1.5 % หรือประมาณแสนกว่าคน ก็คิดกันว่า ...ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ติดเตียงและพัฒนาขึ้นให้ทรงไว้หรือดีขึ้น และผู้สูงอายุที่ติดบ้านอยากให้ติดสังคมให้มากขึ้นจะได้มีกิจกรรมและจะทำให้มีการพูดคุย สุขภาพจิตดีขึ้น

ณ วันนี้มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพในระดับตำบล เรียกย่อ ๆ ว่า ศพอส. 878 แห่ง และปีนี้จะมีการตั้งเพิ่มอีก 400 แห่ง จะเป็นสถานที่สำหรับผู้สูงอายุ ในการทำกิจกรรมร่วมกันและต่อยอดการนำกำลังสำคัญของชาติเหล่านี้มาปันภูมิปัญญา ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไรด้วย 

ถ้ามารวมกลุ่มกันและฝึกอาชีพ เรามีกองทุนผู้สูงอายุ สามารถให้กู้เงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท และสามารถใช้โดยไม่มีดอกเบี้ย 3 ปี หรือองค์กรต่าง ๆ ก็สามารถมาทำโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุได้

การเสริมสร้างความเข้าใจให้ลูกหลาน


.... ในการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติที่ผ่านมา  ทางกรมฯ ได้มีการจัดธีมส์งาน “เตรียมความพร้อมทุกวัยเพื่อสู่สังคมผู้สูงอายุยุคใหม่ที่มั่นคง”เพื่อเป็นการตอกย้ำการเตรียมความพร้อมในทุกช่วงวัย โดยอธิบดีกล่าวว่า “ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นผู้สูงอายุ รอวันที่จะมาเป็นผู้สูงอายุแล้วอาจจะมีปัญหา อุปสรรค ไม่มีอาชีพ กำลังวังชาน้อยลง ต้องเตรียมการกันตั้งแต่เริ่ม คือเริ่มเติบโตต้องมีเรื่องของการออม การดูแลสุขภาพ การประกอบอาชีพ

อยากให้ทุกคนประกอบอาชีพและอยู่ในพื้นที่ของตนเอง รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ วันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัวด้วย ในอนาคตข้างหน้าเราพยายามทำสังคมให้เป็นสังคมใหญ่ มีทุกช่วงวัยอยู่ด้วยกันก็จะทำให้ครอบครัวอบอุ่นและจะสามารถดูแลครอบครัวได้ โดยที่เราจะดูแลซึ่งกันและกัน

และวันนี้ก็อยากจะเชิญชวนเด็ก ๆ รุ่นใหม่ คนยุคใหม่ ใส่ใจผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีคุณค่าสำหรับเรา เลี้ยงดูเรามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสงกรานต์ อยากเชิญชวนให้ไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เพราะท่านต้องการความเอาใจใส่ พูดคุยรับฟัง เพราะเรื่องจิตใจสำคัญ ซึ่งนำไปสู่ว่า สุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะดีไปด้วย

 

  

เปิดตัวแอพฯGold Application “เมนูสิทธิผู้สูงอายุ”


อธิบดี เล่าถึงแนวทางในการเข้าไปลดช่องว่างระหว่างวัยเด็กและผู้สูงอายุว่า .... ตอนนี้ต้องสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ตอนนี้เราเปิดตัว Gold Application เป็นแอพสำหรับผู้สูงอายุ ใช้คำว่า Gold แปลว่าทองคำ เปรียบเสมือนผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่มีคุณค่า มีประสบการณ์ชีวิตมายาวนาน สามารถให้คำปรึกษาลูกหลานสำหรับครอบครัวตัวเองและครอบครัวอื่น ๆ ได้ ก็เปรียบเสมือนเป็นทองคำ ตรงนี้จะเป็นช่องทางสื่อสารจากรัฐบาลไปสู่ผู้สูงอายุโดยตรง จะได้รับสิทธิต่าง ๆ จะดูในแอพฯ ได้เลย และถ้าท่านกรอกข้อมูลมาในแอพพลิเคชั่น อนาคตมีข้อมูลสื่อสารใดๆ ก็จะได้รับโดยตรง

และหากมีข้อเดือดร้อนการใช้ชีวิตก็จะมีเงินสงเคราะห์ เมื่อกรอกข้อมูลมาในอนาคตก็สามารถให้นักสังคมสงเคราะห์เข้าไปดูแล เราก็สามารถเชื่อมโยงจ่ายเงินทางออนไลน์ได้เลย และทำให้ตัวแอพพลิเคชั่นไม่ใช่ผู้สูงอายุนำไปใช้เท่านั้น ลูกหลานก็นำไปใช้ได้

....ตอนนี้เราทำ MOU กับทางกรมการแพทย์และกระทรวงดิจิตอล อีกหน่อยเราจะเห็นว่า ผู้สูงอายุไปรักษาพยาบาลที่ไหน เห็นเลยว่าใช้ยาอะไร ยาซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ลูกหลานจะได้แนะนำ หรือแนะนำให้ออกกำลังกาย หรือลูกหลานออกกำลังกายไปด้วยกันเลยก็จะทำให้ทุกช่วงวัยใกล้ชิดกัน ลดช่องว่างลง

  

แบรนด์ Oldie สินค้าจากผู้สูงวัย 

นอกจากนี้ ในอีกด้านหนึ่ง ทางกรมกิจการผู้สูงอายุ ยังมีแนวคิดที่จะทำศูนย์ฝึกอาชีพผู้สูงอายุ และสร้างแบรนด์ของกรมฯเอง อธิบดีเล่าว่า “ในอนาคตอยากทำเป็นศูนย์ฝึกอาชีพผู้สูงอายุ และจะสร้างแบรนด์ คิดไว้คร่าวๆ ว่าจะชื่อ  Oldie  จะได้รู้เลยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้สูงอายุ ใช้ภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในการทำผลิตภัณฑ์

จริง ๆ ก็มีผลิตภัณฑ์อยู่บ้างแล้ว อยากเอาแบรนด์ไปรองรับและนำมาจำหน่าย เช่น ของพม.มีร้านทอฝัน จะนำเข้ามาจำหน่ายในร้านนี้ ตอนนี้กำลังก่อร่างสร้างตัว หลายๆที่ มีวิสาหกิจชุมชนที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าหมายว่า 1 ศูนย์พัฒนาการสวัสดิการผู้สูงอายุ 1 ผลิตภัณฑ์ และมีแบรนด์เป็น Oldie

ณ วันนี้ที่มีขายปกติก็จะเพิ่มช่องทางโดยได้คุยกับทาง CAT Telecom เพื่อจะได้ทำ e market เพื่อนำสินค้าของผู้สูงอายุไปขายด้วย เช่นผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม การจักสาน เราก็จะไปช่วยพัฒนารูปแบบ”

ด้านการท่องเที่ยว 

ทางด้านการท่องเที่ยว เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เห็นการทำจิตอาสาของผู้สูงอายุที่มีความรู้ ความสนใจทางด้านประวัติศาสตร์ ได้เดินแนะนำโบราณสถานแห่งสำคัญ ตามวัดวา อาราม ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจนอกเหนือจากการที่ผู้สูงวัยเกษียณเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ

.... ผู้สูงอายุ เป็นนักท่องเที่ยวได้ จะเห็นได้ว่าวัยหกสิบต้นๆก็จะมีท่องเที่ยวกันมาก มีกำลังในการใช้จ่าย และในผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ก็สามารถเป็นเจ้าบ้านที่ดี และเข้าใจซึ่งกันและกันว่าผู้สูงอายุต้องการอะไร เพราะฉะนั้นทั้งเจ้าบ้านและนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุด้วยกันได้เข้าใจได้พูดได้คุย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้นำภูมิปัญญามาแบ่งปันกัน บริการกันได้

ถ้ามีเด็ก ๆ เข้ามาร่วมด้วย อย่างยุวทูตน้อย ก็จะเป็นการผสมผสานในทุกเพศวัย สอดคล้องกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในเรื่องการท่องเที่ยวเมืองรอง ถ้าเราทำเมืองรองให้เป็นที่เที่ยว ผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ก็จะทำให้สามารถมีอาชีพเพิ่มขึ้นได้”

“.... ปัจจุบัน กรมกิจการผู้สูงอายุ เปิดแฟนเพจเพื่อรับฟังคำแนะนำและทุกความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนและสื่อมวลชน และทุกเพศทุกวัย เพื่อให้ร่วมกันนำเสนอถึงการเตรียมความพร้อมผู้สูงอายุ ว่าเราควรจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ รองรับสังคมผู้สูงอายุต่อไป”  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวท้ายสุด